ผู้เล่าเรื่อง : พหุผู้เล่า

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ตื่นใจทันทีที่ได้อ่านเรื่องสั้น “ล่วงละเมิด” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และกระจ่างขึ้นในตอนนั้นว่า ในเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้เล่าคนเดียว

ใน “ล่วงละเมิด” มีสองเสียงผลัดกันเล่าคือ เสียงของ ผม-ตัวละครชื่อจำลอง ฝั่งชลจิตร กับเสียงของ ข้าพเจ้า ผู้เขียนเรื่องนี้

ข้าพเจ้า (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง) ลองวิยืมวิธีการนี้ มาใช้ในงานสารคดีบ้าง ก็รู้สึกสนุกดีในแง่ของคนเขียน ซึ่งก็แอบหวังว่าคนอ่านจะสนุกด้วยบ้าง

ผมเขียนฉากแรกเอาไว้แล้ว

ทนงเกริ่นให้ข้าพเจ้าฟัง

ผู้เขียน (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง) เปิดเรื่องสารคดี “ก่อน “สุดปลายปีกฝัน” –ปีกศิลปะของผีเสื้อเสรี ทนง โคตรชมพู” ด้วยการบอกผู้อ่านแต่ต้นว่า มีเสียงเล่าซ้อนกันอยู่ในเรื่องนี้

ให้ผู้อ่านสังเกตว่าที่เล่าโดย ข้าพเจ้า หมายถึงผู้เขียน ส่วนที่มาจาก ผม จะหมายถึงเสียงของทนง

เป็นยามเย็นที่เราสามคน ผม แม่ น้องสาว กำลังเดินกลับบ้าน ตอนนั้นผมยังพอเดินได้อยู่ แต่ไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว ขณะที่เดินตามกันมาบนคันนา ฝนก็ตั้งเค้า ลมพายุพัด ลมแรงนั้นเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับผมซึ่งตอนนั้นขาไม่ค่อยมีแรง เห็นท่าไม่ดีแม่ก็เลยเอาผมใส่ในตะกร้าข้างหนึ่ง เอาน้องสาวใส่อีกข้าง แล้วแม่ก็หาบลูกสองคนหนีฝนกลับเข้าหมู่บ้าน น้องสาวเขาสนุกตามประสาเด็ก ตอนนั้นเขายังไม่เป็นอะไร แต่ผมมองแล้วห่วงแม่มาก คันนาเล็ก ๆ แม่เกือบล้มหลายครั้ง นึกขึ้นมาผมยังจำภาพนั้นได้ติดตา

ช่วงแรกของเรื่อง ผู้เขียนต้องใช้เสียง ข้าพเจ้า ปูพื้นเรื่องให้ผู้อ่านพอรู้จักเขาก่อน

นี่เป็นบางฉากของบทหนังชีวิตตัวเองที่ทนง โคตรชมภู ลูกผู้ชายวัย ๔๐ กว่าๆ เขียนเอาไว้ด้วยปาก

ใช่ ข้าพเจ้าหมายความตามตัวอักษร–เขาเขียนด้วยปาก

ทนงเป็นศิลปินมาแต่เด็ก แต่หลังจากอายุ ๒๕ ปีมาแล้ว งานวาด งานเขียนทุกอย่างของเขาล้วนรังสรรค์ขึ้นด้วยปากทั้งสิ้น

เขียนเพลง บทกวี จนถึงการเขียนบทหนังที่เขาบอกด้วยว่าเป็นการเขียนไว้เล่น ๆ รอการนำไปแปลงเป็นภาพที่เคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาโดยทีมงานของพรรคพวกเพื่อนฝูง รวมทั้งงานเขียนภาพที่ทำมานับพันภาพ ล้วนเป็นผลงานที่ใช้ปากสร้างทำมา

บางฉากที่เป็นการบรรยายหรือฉายฉากเหตุการณ์ ก็โดย “ข้าพเจ้า” (ผู้เขียน) ซึ่งอาจไม่ต้องแสดงตัว แต่บางช่วงก็ออกมาแสดงตัว สนทนากับ “ผม”

“คนขับรถบอกว่าวันนี้ฝนตก เลยมาช้าหน่อย” ข้าพเจ้าบอกเขา คนขับรถทัวร์พูดกับข้าพเจ้ามาอย่างนั้นจริง ๆ ก่อนลงรถเรามีโอกาสได้คุยกัน ๒-๓ คำ โชเฟอร์หนุ่มคนนั้นยังพูดเลยว่า ถ้าข้าพเจ้าบอกเขาได้ว่าบ้านของเพื่อนอยู่ตรงไหน เขาจะจอดให้ลงที่หน้าบ้านเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ชัด จึงขอลงที่หน้าป้อมตำรวจตามที่ทนงแนะนำไว้

“ผมก็เพิ่งกลับมาจากมหา’ลัยขอนแก่นเมื่อคืนนี้เหมือนกัน” ทนงพูดกับข้าพเจ้าหลังชวนให้นั่งลงที่มุมหน้าบ้าน ด้านนอกโอบล้อมด้วยพฤกษา ไม้สวนไม้ประดับนานาพรรณในสวนหย่อม บรรยากาศรอบบ้านศิลปินดูสดชื่นอย่างดีทีเดียว

“ไปทำอะไรที่นั่นครับ”

“ค่ายต้นกล้าวรรณกรรมของครูสลา คุณวุฒิ”

“อ๋อ” ข้าพเจ้าเคยเห็นชื่อของทนง ในหน้าข่าวสารวรรณกรรมตามหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ในฐานะวิทยากรของค่ายกองทุนศิลปินบ้านป่าครูสลา คุณวุฒิ

“อ้าว กลับมาเมื่อไหร่” เพื่อนบ้านคนหนึ่งเดินผ่านมา หยุดแวะทักทายทนง ดูจากการแต่งตัวเธอคนนั้นคงกำลังจะออกไปทำงาน

“เมื่อคืนนี้แหละ” หนุ่มเจ้าของบ้านตอบ

“ตอน ๔ ทุ่ม ยังเห็นในทีวีอยู่เลย” เพื่อนบ้านสาวแซว
“ตัวจริงนั่งดูถ่ายทอดฟุตบอลอยู่ในบ้านเนี่ย”
“ไม่ดูตัวเองออกทีวีหรือ”
“ดูทำไม เห็นอยู่ทุกวัน”
“อืม ในทีวีดูอ้วนนะ”

ว่าแล้วเธอก็เดินจากไปกับเสียงหัวเราะอารมณ์ดี สังเกตดูทะนงออกจะเอียงอายหน่อยๆ

เรื่องราวดำเนินไปผ่านคำเล่าของสองคนนี้ ผมกับข้าพเจ้าผลัดกันเล่าสลับกัน

ทุกวันนี้ ทนง โคตรชมภู ถือเป็นศิลปินเต็มตัว ข้าพเจ้ารู้มาบ้างว่า ภาพที่เขาให้ไปประมูลเพื่อการกุศล บ้างมีราคาถึง ๓-๔ แสนบาทต่อภาพ และเขาบอกเองว่าบางภาพถึงเลข ๗ หลักก็มี

ตัวละครอื่นที่โผล่มา หากเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันคนอ่านก็ย่อมเข้าใจได้เองว่าผ่านสายตาและเสียงเล่าของ ข้าพเจ้า (ผู้ขียน)

“สายแล้ว บ่ชวนกันกินข้าวกินน้ำบ้างบ่” หญิงย่างวัยชรา ร่างเล็ก ผิวเข้ม นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อลายดอก ผมเผ้าเริ่มมีหงอกแซม นางเดินออกมาจากบ้านหลังใหญ่พลางร้องถามคนหนุ่มสองคนที่นั่งคุยกันมาแต่เช้าตรู่จนสาย หญิงสูงวัยคงนึกห่วงปากท้องของลูกชาย และในน้ำเสียงนั้นก็บ่งความห่วงใยถึงแขกของลูกด้วย

ทนงส่ายหัวว่ายังไม่หิว

แม่เดินเลยไปคุยกับเพื่อนบ้านหลังที่อยู่ติดกัน

ทนงหันกลับมาทางข้าพเจ้า เล่าเรื่องของเขาให้ข้าพเจ้าฟังต่อ

ทีแรกพอมือยกไม่ขึ้น ผมก็จมไปกับสิ่งที่สูญเสีย แต่ด้วยความชอบอ่านหนังสือก็ไปพบเรื่องของคนต่างชาติ ว่าเขาวาดรูปด้วยปาก คิดว่าเราน่าจะทำได้ ก็ลองดูว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็เละอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน

ทีแรกผมเอาฟันหน้าคาบ มันก็หล่น มันไม่นิ่ง ก็คิดว่าคงไม่ได้ มาคิดใหม่ ค่อย ๆ คิดว่ามือเราจับพู่กันแน่น ที่ขยับคือข้อมือ พอมาใช้ปากก็ลองใช้ฟันกรามขบ สอดยาวไปตามร่องฟัน กัดให้แน่น ส่วนเคลื่อนไหวคือคอ

หัดใช้ปากครั้งแรกก็เหมือนคนเริ่มเขียน ก ไก่ ใหม่ วาดวงกลม สี่เหลี่ยม รูปร่างคน จนสามารถควบคุมทิศทาง อย่างที่มือผมสู้ไม่ได้ ฟันกรามกัด ขยับคอ ก็เหมือนคนที่ใช้มือ ถ้าผมเปลี่ยนไปใช้กรามข้างซ้ายก็เพี้ยน ๆ ไม่ใช่ว่าฟันปวดด้านขวาไปกัดด้านซ้ายแทน ไม่ได้ พอใช้คล่องแคล่ว มันเร็วมาก ปืด ๆ ๆ ๆ ถ้าเฟรมใหญ่ ๆ ได้พู่กันด้ามยาวก็ยิ่งมัน

ผมบอกได้เลยว่ามันเป็นความสำเร็จในชีวิตมากเลย ผมเขียนอย่างที่ว่า ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว แค่นี้แหละชีวิต ผมทำด้วยความเป็นอิสระ ความรู้สึกตอนนั้นอยากให้เช้าเร็ว ๆ จะได้ตื่นขึ้นมาวาด แล้ววาดลืมวันลืมคืน เมามันมาก

แต่หากเป็นเหตุการณ์ในอดีต เป็นเรื่องซ้อนอยู่ในเรื่องราวชีวิตของทนง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าจาก “ผม”

“ในบทสุดท้ายของหนังสือเขียนว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันเป็นไม่ได้ ไม่เคยเป็น และคงไม่มีโอกาสได้เป็น แต่ขอให้เธอได้เป็นในสิ่งที่เธอปรารถนา ให้ความเจ็บปวดของฉันถมเป็นเส้นทางที่เธอจะเดินไป เธอคนนี้เป็นเหมือนตัวแทนของแม่ในตอนแรก แต่สุดท้ายเธอมีทางที่ดีกว่า เมื่อเป็นหนังตอนนี้คงเศร้ามาก เธอเหมือนคนที่ดึงผมขึ้นจากห้วงเหว ความรู้สึกต่อเธองดงามมาก เป็นปีกนางฟ้าที่พาผมโบยบินสู่ที่สูง แต่ที่สุดเธอก็ปล่อยมือ เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมานี้เอง”

ทนงทิ้งท้ายว่า หนังถูกตั้งชื่อเรื่องไว้แล้วว่า “สุดปลายปีกฝัน” เขาให้คำอธิบายว่า ถ้าชีวิตเขาเป็นเหมือนผีเสื้อหรือนกสักตัว ก็เหลือแต่ปลายสุดของปีกที่ยังขยับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังโบยบินได้

สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือ การสื่อพลังชีวิตไปถึงทุกคน ให้คนที่ท้อแท้ดูแล้วเกิดพลัง ได้พลังจากการเห็นชีวิตของเขาซึ่งด้วยถูกพันธนาการด้วยความพิการ แต่ยังดิ้นรนปลดปล่อยตัวเองไปสู่ความมีเสรีในชีวิต

กระทั่งเขากล้าที่จะเอ่ยคำขอบคุณความป่วยไข้

“ขอบคุณความเจ็บป่วยไข้ที่ทำให้รู้ว่า ความพยายามบากบั่นของชีวิต เป็นสัจจะที่ยิ่งใหญ่ให้เรามีชัยชนะได้ทุกสิ่ง แม้แต่ชะตากรรมของตัวเอง”

ด้วยกลวิธีการเล่าที่ผู้เขียนได้พยายามสร้างสรรค์และใส่ใจขึ้นอีกเล็กๆ น้อยๆ ก็จะทำให้คนอ่านสารคดีได้รสรื่นรมย์เป็นของแถม นอกเหนือจากสาระความรู้ที่ถือเป็นแก่นสารหลักของงานสารคดี

ตอนหน้ามาว่ากันต่อถึงผู้เล่าและวิธีการเล่าที่เก่าแก่โบราณ แต่ก็ยังมีการใช้กันในหมู่นักเขียนรุ่นใหม่อยู่เนืองๆ


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา