เครื่องรางคนค้าขาย ๓ – นางกวัก
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
หนึ่งในเครื่องรางยอดนิยมของพ่อค้าแม่ขายชาวไทยคือ “นางกวัก”
ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทย การบูชานางกวักยังก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติด้วยซ้ำ เพราะเคยเห็นมีตั้งใส่พานในโรงแรมที่เวียดนาม ขึ้นหิ้งไว้ที่ร้านกาแฟในมาเลเซีย และตั้งหน้าทางเข้าร้านนวดสปาไทยเมืองอินเดีย
คติที่มาของนางกวักยังไม่แน่ชัดนัก บางคนลากไปเชื่อมโยงถึงเรื่องนางสุภาวดีในตำนานสมัยพุทธกาล แต่เนื้อเพลงลูกทุ่ง “นางกวักมหาเสน่ห์” ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ที่ “พี่เป้า” สายัณห์ สัญญา เป็นผู้ขับขาน ร้องบอกกล่าวไว้ว่า
“…โอมปู่เจ้าเขาเขียว
มีลูกสาวคนเดียว
งามเพียบพร้อมบุญหนัก
โสภาอ่าองค์ยิ่งนัก
เธอชื่อว่านางกวัก…”
ว่าตามเนื้อเพลงนี้ นางกวักจึงเป็นธิดาของ “ปู่เจ้าเขาเขียว” ซึ่งฟังดูเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาอย่างไทยๆ ดังนั้นน่าจะหมายความว่าตามความรับรู้ที่แพร่หลาย นางกวักเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์พื้นบ้านพื้นเมือง มากกว่าเรื่องของแขกอินเดีย
ข้อสันนิษฐานนี้ยังสอดคล้องกับรูปร่างหน้าตาของรูปนางกวักรุ่นเก่าที่เคยพบเห็น คือทำเป็นรูปหญิงชาวบ้านอย่างไทยๆ ห่มผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบน นั่งพับเพียบเรียบร้อย และยกมือข้างขวาขึ้น “กวัก” ซึ่งคงเป็นที่มาของนาม
ว่ากันว่า รูปนางกวักเก่าที่สุดเป็นของราวรุ่นกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ของเดิมจึงไว้ทรงผมเป็นผมปีก หรือผมดอกกระทุ่ม ตามแฟชั่นสาวสยามยุคนั้น และแต่เดิมมักทำตัวเล็กๆ เพราะคงเอาไว้ตั้งซุกๆ ตามแผงค้า จะได้ไม่เกะกะ
ทว่าในระยะไม่กี่สิบปีมานี้ รูปนางกวักแบบโบราณอาจดูชืดๆ เพราะเห็นจนชินตาแล้ว ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นอะไร ทางวัดหรือเกจิอาจารย์ผู้สร้างรุ่นใหม่ๆ จึงนิยมทำให้วิจิตรพิสดารยิ่งๆ ขึ้นไป
จากที่เคยเป็นหญิงชาวบ้าน นางกวักเริ่มแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นนางละคร สวมกระบังหน้า ห่มสไบทอง นุ่งผ้าจีบหน้านาง
จากที่เคยนั่งกวักมือเฉยๆ ก็ต้องเน้นให้เห็นชัดๆ กันไปเลยว่า “กวักอะไร” จึงมีการเพิ่มถุงเงินถุงทองเข้ามาเป็นอุปกรณ์เสริม วางไว้บนฝ่ามือข้างซ้ายที่แบอยู่บนตัก เพื่อเน้นย้ำว่า รวย! รวย!! รวย!!!
จากที่เคยกวักด้วยมือขวาข้างเดียว บางสำนักออกแบบใหม่ให้ยกมือขึ้นกวักทั้งสองข้าง ระดมเร่งเร้าลูกค้ากันเต็มที่ แล้วตั้งชื่อเรียกเสียใหม่ ว่านี่ไม่ใช่ “นางกวัก” อย่างแต่ก่อน แต่เป็น “นางโกย”
ยิ่งกว่านั้น ความนิยมล่าสุดคือการเปลี่ยนนางกวักที่เคยเป็นสตรีรูปร่างสมส่วน ให้กลายเป็นหญิงอ้วนเผละผละ (อาจผสมเข้ากับคติพระสังกัจจายน์ ?) เพื่อยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของโภคทรัพย์
นางกวักแบบที่ว่านี้ได้รับความนิยมแพร่หลาย จนกลายเป็นหนึ่งใน “ความเป็นไทยร่วมสมัย” ได้รับเลือกไปจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม (ใกล้วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ) พร้อมกับการขยายร่างใหญ่ขึ้นจนตัวโตคับห้อง
เชื่อแน่ว่าอีกไม่ช้าไม่นานนี้ นางกวักของมิวเซียมสยามอาจกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ ที่มีคนแห่แหนไปกราบไหว้บูชาขอโชคขอลาภกันก็เป็นได้!
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี