เครื่องรางคนค้าขาย ๔ – พระสังกัจจายน์

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


“พระมหากัจจายนะ” หรือ “พระสังกัจจายน์” นับเป็นหนึ่งใน “อสีติมหาสาวก” คือพระสาวกองค์สำคัญ ๘๐ รูปครั้งพุทธกาล โดยพระมหากัจจายนะได้รับยกย่องในฐานะ “เอตทัคคะ” (ผู้เป็นเลิศ) ด้านการเทศนาอธิบายขยายความแห่งข้อธรรมที่แสดงไว้โดยย่อ ให้ละเอียดพิสดาร

กล่าวกันว่า พระมหากัจจายนะมีรูปกายงดงามผุดผ่อง เป็นที่ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น จนมีสตรีมากนางมาลุ่มหลง บ้างก็ว่าท่านมีรูปโฉมคล้ายคลึงกับพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง จนเมื่อไปที่ใด ผู้คนก็แตกตื่นมาสักการะบูชา ด้วยสำคัญผิดว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดแล้ว ดังนั้น เมื่อรูปลักษณ์กลายเป็นอุปสรรคแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ท่านจึงอธิษฐาน “ทำลายสังขาร” เสีย ให้มีรูปร่างไม่น่าดู เป็นการแก้ปัญหาแบบ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

นั่นคือคำอธิบายสาเหตุว่าทำไมจึงต้องสร้างรูปพระสังกัจจายน์ให้เป็นพระอ้วนๆ

รูปพระสังกัจจายน์รุ่นเก่าที่เคยเห็นมา มักทำเป็นอย่างภิกษุอ้วนพุงพลุ้ย นั่งขัดสมาธิ ครองจีวรอย่างพระสงฆ์ ศีรษะกลมเกลี้ยง หรือบางทีก็สร้างให้มี “เม็ดพระศก” คล้ายพระพุทธรูป แต่ไม่มีเกตุมาลาและรัศมีเหนือเศียร ส่วนมือสองข้าง วางแนบโอบส่วนท้องที่ยื่นป่องออกมา

ตามทางสันนิษฐาน แต่แรก การสร้างรูปพระสังกัจจายน์ขึ้นคงมุ่งหมายเป็นเครื่องรางเพื่อความรู้และการเล่าเรียนเป็นสำคัญ ด้วยว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ ดังที่ได้รับยกย่องว่าสามารถเทศนาขยายความข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แต่เพียงย่นย่อ ให้พระสาวกรูปอื่นๆ ฟังได้โดยละเอียดแยบคาย แต่อยู่ไปๆ เมื่อมีผู้พบเห็นรูปพระอ้วนๆ จึงนำ “ความอ้วน” ไปเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งร่ำรวย รูปพระสังกัจจายน์จึงกลายเป็นเครื่องรางที่นับถือบูชาของคนค้าขายไปด้วย ในฐานะผู้บันดาลโชคลาภและความมั่งมี

พระสังกัจจายน์ในฐานะเครื่องรางคนค้าขาย คงมีปรากฏมาแล้วอย่างช้าที่สุดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับรูปนางกวัก ในตู้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีรูปพระสังกัจจาย์สมัยอยุธยาองค์เล็กๆ ให้เห็นอยู่

ส่วนที่วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มีวิหารประดิษฐานรูปพระสังกัจจายน์ ที่ชาวนครฯ เรียกกันว่า “พระแอด” (พระอ้วน) นับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องให้ลูก ดังจะเห็นตู้ใส่ภาพหนูเล็กเด็กชายหญิงมากมาย ที่พ่อแม่มา “ขอ” จากท่าน เมื่อได้ลูกสมใจแล้วจึงส่งรูปถ่ายมาถวายไว้ เป็นเหมือนการแก้บนกลายๆ

ว่าที่จริง เรื่องขอลูกนี้ก็ต้องนับเนื่องเป็นเรื่องของ “ความอุดมสมบูรณ์” หรือความเจริญงอกงามอย่างหนึ่งเหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีผู้ตั้งฉายาให้พระสังกัจจายน์เป็นหนึ่งในสาม “ไตรภาคี” แห่งพุทธสาวกที่โดดเด่นในทางให้ลาภผลแก่ผู้สักการะบูชา ร่วมกับพระสีวลี และพระอุปคุต

ดังนั้น เพื่อประกาศแก่คนยุคปัจจุบัน ว่านี่คือรูปปฏิมาที่สมควรบูชาเพื่อความร่ำรวยอย่างแท้จริง รูปพระสังกัจจายน์รุ่นใหม่ๆ เช่นที่สร้างไว้ให้เช่า (จำหน่าย) ย่านเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนปางใหม่ จับมือท่านให้หงายฝ่ามือทั้งสองข้างบนหน้าขา แทนที่จะโอบไว้ข้างพุงเฉยๆ อย่างที่เคยทำกันมา

แรกๆ คงหมายใจเพียงเป็นปาง “รับทรัพย์” แต่ต่อมาเพื่อให้แจ่มแจ้งขึ้นไปอีก ก็เลยทำเป็นถุงเงินถุงทอง (เหมือนถุงเงินในการ์ตูน เวลาโจรปล้นธนาคารมา) วางไว้ให้ในฝ่ามือสองข้าง-เอาให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย

ทำนองเดียวกับรูปนางกวักยุคหลัง ซึ่งก็ต้องถือถุงเงินไว้ในมือข้างที่ไม่ได้ยกขึ้นกวักด้วย


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี