ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง
ธีรพงษ์ ผลบุญ : ภาพ

“ในระหว่างที่ผมรอข้ามถนนอยู่นั้น หญิงสาวที่ยืนอยู่ข้างๆ ก็ก้าวเดินออกไปโดยไม่ทันได้สังเกตว่ากำลังมีรถแล่นมาด้วยความเร็วสูง ผมรีบดึงตัวเธอเข้ามาขณะเดียวกันรถก็วิ่งผ่านไปพอดี เธอตกใจมากจนใบหน้าซีดเผือด ก่อนจะกล่าวขอบคุณผมอยู่หลายครั้ง”

นี่ไม่ใช่ฉากในละครหรือภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคย แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงผ่านคำบอกเล่าของ เทพพิสุทธ์ แก้วเกาะ หรือโค้ชแชมป์ โค้ชสอนปาร์กัวร์แห่ง The Movement Playground ยิมสอนออกกำลังกายที่มีความหลากหลายแตกต่างจากยิมทั่วไป มีการสอนปาร์กัวร์ สปาร์ตัน นินจา ฯลฯ แห่งเดียวในกรุงเทพฯ โดยโค้ชแชมป์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือ “ปาร์กัวร์”

“การที่ร่างกายมัน react ไปเองผมกล้าพูดเลยว่ามันคือปาร์กัวร์ เพราะว่าถ้าเราไม่ฝึกพวกนี้สติเราจะไม่ไวขนาดนี้ react เราจะไม่ไวขนาดนี้”

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าปาร์กัวร์คืออะไร ผู้เขียนเองเมื่อบอกกับคนรอบตัวว่าจะเขียนงานเกี่ยวกับปาร์กัวร์ ก็มีคำถามกลับมาเสมอ เช่น “เป็นปลาพันธุ์ใหม่เหรอ” หรือบางคนก็พูดติดตลกว่า “อ๋อ ปาร์กัวร์นิวกินี”

แล้วปาร์กัวร์คืออะไร?

ปาร์กัวร์ (parkour) มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “วิ่งทุกที่” และถือกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส คิดค้นโดย เดวิด เบลเลอ (David Belle) เป็นกีฬา extreme ตามท้องถนนหรือ street sport ใช้เมืองทั้งเมืองเป็นสนามฝึกซ้อมในการวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่างๆ เมื่อได้รับความนิยมจึงมีชื่อเรียกแบบสากลว่าฟรีรันนิง (free running) แต่ปัจจุบันปาร์กัวร์กับฟรีรันนิงมีความแตกต่างกัน โดยโค้ชแชมป์เล่าว่า

“ปาร์กัวร์มันมีมา 20 กว่าปีแล้ว แต่พอผ่านไปได้สัก 10 ปี ก็เริ่มแยกออกไปเป็นฟรีรันนิงและปาร์กัวร์ จริงๆ แล้วมันคืออันเดียวกัน แต่ฟรีรันนิงจะใส่ทักษะยิมนาสติกเข้าไป การตีลังกา หมุน กระโดดตัวเกลียว เลยดูเป็นเหมือนกีฬาที่ค่อนข้างอันตรายและหวือหวา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นกีฬาที่เซฟมาก สอนให้คนรู้จักเคลื่อนไหวด้วยความคล่องตัวให้เร็วที่สุดและเซฟตัวเองมากที่สุด”

ปาร์กัวร์ : กีฬาที่มากกว่าการวิ่งข้ามตึก

การ jumping ของโค้ชแชมป์ด้วย Parkour กีฬาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับความนิยมจนเป็นพื้นฐานของ free running  

Julien Vigroux เจ้าของ The Movement Playground

การเคลื่อนไหวและการตัดสินใจที่รวดเร็วโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญของปาร์กัวร์

ปาร์กัวร์ไม่น่ากลัว

ในมุมมองของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อกีฬาชนิดนี้อาจไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไปกระโดดข้ามตึก ทำไมต้องปีนป่ายไปมา แต่สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ที่ชื่นชอบกีฬาผาดโผนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่เท่ ซึ่งจริงๆ แล้วหากไม่เข้าใจและทำตามโดยไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจเกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้ แม้แต่โค้ชแชมป์เองที่มีพื้นฐานทางด้านศิลปะการต่อสู้อย่างมวยไทย เทควันโด มวยจีน ที่ต้องฝึกฝนร่างกายอยู่เป็นประจำ

“ตอนนั้นผมเห็นฟรีรันนิงในยูทูบก็ โห… คนเรามันทำได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ดูแล้วก็พยายามก๊อปท่าเขามา ทีนี้พอเราเล่นด้วย ความที่เราฝึกศิลปะการต่อสู้มามันทำให้พละกำลังเราดี กระโดดได้ไกล แข็งแรง แต่เราไม่รู้จักวิธีการเซฟตัวเอง ผมกระโดดได้ไกลแต่จะเจ็บข้อเท้า เจ็บเข่าประจำ แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเจ็บ เราก็นึกว่าฝึกต่อไปเดี๋ยวก็คงหาย แต่เปล่า คือมันไม่ใช่ มันเป็นการที่เราไม่รู้จักสิ่งที่แท้จริง เราไม่ได้เรียนเบสิกอย่างถูกต้อง เราไม่ได้ฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมาจากเบสิกอย่างถูกต้องเลยทำให้เราบาดเจ็บ”

โค้ชแชมป์ยืนขึ้นบนเก้าอี้ที่เรากำลังนั่งคุยกัน รูปร่างที่ไม่สูงมากนักแต่เต็มไปด้วยมวลกล้ามเนื้อบ่งบอกถึงการฝึกฝนมาอย่างหนักหน่วง เหงื่อที่เคลือบบนผิวกายกระทบกับแสงเผยให้เห็นความมันวาว สายตาเพ่งมองที่ปลายเท้าแลสลับกับพื้นก่อนที่จะสาธิตการกระโดดพร้อมกับอธิบายอย่างละเอียด

“การกระโดดต้องดูลิมิตตัวเองก่อนว่ากระโดดได้ไกลขนาดไหน แล้วก็ต้องรู้เรื่องการ soft landing กระโดดยังไงให้เสียงเบาที่สุด การกระโดดให้เสียงเบาคือการที่เรา activate กล้ามเนื้อ เพื่อใช้กล้ามเนื้อให้รองรับการกระแทก ซึ่งพื้นฐานพวกนี้เราฝึกกันเป็นร้อยเป็นพันครั้ง เหมือนกับการที่เรายกเวตทุกวัน

“จนกระทั่งมาเจอจูเลียน เพื่อนผมที่เป็นเจ้าของที่นี่ เราเจอกันครั้งแรกในอีเวนต์ที่ทุกคนมารวมตัวและแชร์ความรู้กัน จูเลียนเห็นผมก็บอกเฮ้ย คุณเล่นปาร์กัวร์เหรอ? คุณเป็นปาร์กัวร์มาก่อนเหรอ? ผมก็บอกอ๋อ ฝึกบ้างงูๆ ปลาๆ ก็ฝึกเอง ตอนหลังเขาก็บอกมาเรียนด้วยกันไหม ไม่รู้ว่าเขาเห็นอะไรในตัวผมเลยชวนมาเป็นโค้ช แล้วเขาก็มาฝึกให้อยู่ 2 ปี ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 3 ปีจะ 4 ปีได้”

สำหรับโค้ชแชมป์แล้วสิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดก็คือจากที่เคยคิดว่าดูยูทูบแล้วออกไปฝึกข้างนอก ไปฝึกตาม passion ของตัวเองจะพัฒนาได้เร็ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อฝึกเบสิกแล้วตัวเองพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิมในทุกๆ วันที่เล่น เหมือนได้เจออะไรใหม่ๆ ได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น

การสาธิตปีนข้ามกล่องที่ถูกวิธีและเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุด

ฟรี รัน นิง

“เล่นฟรีรันนิงเพราะความเท่มันจะอยู่กันไม่นาน แต่ถ้าเราเล่นแล้วเรารู้สึกว่ามันใช่ อย่างอันนี้ทำทีไรก็รู้สึกสนุก เราก็จะอยู่กับมันได้ยาวๆ”

ปฏิณญา บุญเอก หรือฝา เด็กหนุ่มวัย 19 ปี เอื้อนเอ่ยกับเรา แววตาเป็นประกายสื่อออกมาผ่านใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม บรรยากาศยามเย็นในสวนเบญจกิติคึกคักไปด้วยผู้คนที่ต่างพากันออกมาวิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ หรือนั่งชมธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง

“ผมเป็นเด็กบ้าๆ ห้าวๆ เป็นคนชอบความท้าทายอยู่แล้ว เล่นกีฬาอยู่หลายประเภทแต่ก็ไม่ชอบใจ พอดูหนังเรื่อง District B13 แล้วก็เฮ้ย…เท่จัง ตอนนั้นก็เริ่มจากเลียนแบบก่อน อันไหนทำได้ก็ทำ อันไหนทำไม่ได้ก็ไม่ทำ จนมารู้จัก อนัน อันวา ตอนนั้นเขาไปออกรายการหนึ่ง ก็เลยได้รู้ว่ามันคือฟรีรันนิง ทีนี้ก็เลยตามหาว่าเขาฝึกที่ไหน จนรู้มาว่าเขาฝึกอยู่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง แต่ทีนี้เขาก็เลิกซ้อมตรงนั้นไปเพราะยิมตรงนั้นปิด จนมาเจอรุ่นน้องที่โรงเรียนพาผมไปเจอกับรุ่นพี่กลุ่มนี้ที่เขาไปฝึกอยู่ที่ไทยญี่ปุ่นดินแดง รุ่นพี่ทีมนั้นเขาก็สอนผมมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย ผมก็ฝึกอยู่กับรุ่นพี่ทีมนี้มา 4 ปีแล้วครับ”

ตลอดการฝึกฟรีรันนิงมา 4 ปี ทำให้เขาก้าวไปแข่งในเวทีต่างๆ กวาดเงินรางวัลมามากมาย โดยรางวัลที่เขารู้สึกภูมิใจมากที่สุดก็คือการแข่งขันที่ประเทศลาว ได้รางวัลรองชนะเลิศประเภทการแข่งแบบสไตล์ ในอนาคตเขาก็หวังว่าจะได้ไปแข่งในเวทีใหญ่อย่าง Red Bull Art of Motion แต่ใครจะไปรู้ว่าเบื้องหลังการฝึกซ้อมนั้นเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง บาดเจ็บมาเท่าไร
“ถ้าหนักสุดสำหรับผมจะเป็นข้อเท้าพลิกครับ เคยเป็นอยู่ 2 เดือน ข้างหนึ่งหายข้างหนึ่งพลิก จนต้องทำให้ข้อเท้ามันแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมให้ได้ อุปสรรคอย่างหนึ่งของฟรีรันนิงก็คงจะเป็นค่ารักษาพยาบาล” (หัวเราะ)

หัวเข่าที่เต็มไปด้วยรอยแผลบอกเล่าเรื่องราวและอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมาของเด็กหนุ่มได้เป็นอย่างดี เราจึงเอ่ยขอให้ฝาเล่นฟรีรันนิงให้ดูสักท่า ระหว่างเดินไปยังจุดที่จะเล่นเขาถามเรากลับมาว่า “พี่มีกาวไหม” ขณะนั้นก็ยังงงกับคำถาม จนเขาชี้ไปที่พื้นรองเท้าที่กำลังเปิดอ้า ดูเหมือนจะเป็นรองเท้าคู่ใจที่เขาใส่ฝึกมาตลอด มันทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ เป็นรองเท้าที่เขาใส่ไปแข่งและกวาดรางวัลมานักต่อนัก

พอถึงลานน้ำพุฝาวางกระเป๋าลงข้างๆ เสา ก่อนขึ้นไปยืนบนราวระเบียง เรายืนดูเขาจากด้านล่าง “ปรี๊ด…” เสียงนกหวีดดังมาจากด้านหลัง แน่นอนเป็นเสียงนกหวีดของพี่ รปภ. ที่กำลังรีบเดินมาห้ามปรามด้วยสีหน้าตกใจ แต่พอพี่ รปภ. หันหลังไป ฝาก็กระโดดม้วนตัวให้เราดูก่อนที่จะย้ายสถานที่เล่น

“ในสังคมไทยบางคนก็มองว่าอันตรายเกินไปไม่อยากให้เล่น บางคนก็มองว่าเด็กพวกนี้มีความสามารถ อยากสนับสนุน แต่บางกลุ่มก็จะบอกว่าพวกนี้มันโชว์เท่ ในใจลึกๆ ก็อยากให้เขาสนับสนุนให้มีที่ซ้อมดีๆ เพราะมันอันตราย ในกรุงเทพฯ ที่เล่นมันน้อยด้วย พอไม่มีที่เซฟท่าที่เรายังไม่เคยเล่นเราก็ต้องไปลองเอง ทำเองหมดเลย ก็เลยเกิดอุบัติเหตุ

“ถ้าไม่เจ็บตัวก่อนก็คือจะเล่นจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เพราะว่าเล่นแล้วมันมีความสุขแล้วก็สนุกด้วย”

การ landing แล้วตามด้วย roll เพื่อเซฟร่างกายเวลาลงมาจากที่สูง

การ front flip จากที่สูงลงที่ต่ำโดยนำทักษะจากยิมนาสติกมาใช้

การ safety จากการ landing ด้วยท่า back flip ลงมา

เพราะชีวิตจริงไม่มีเครื่องป้องกัน

ภายในยิมThe Movement Playground ที่รายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นดัมเบล ลูกบอล กรวย รวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับเล่นปาร์กัวร์ อย่างบาร์ที่มีไว้สำหรับโหน กล่องไม้รูปร่างคล้ายกับลำโพงตั้งเรียงรายตามจุดต่างๆ ของยิมมีไว้สำหรับฝึกปีนป่ายข้ามสิ่งกีดขวาง ผนวกกับผนังกำแพงที่เพนต์ลวดลายกราฟฟิตีต่างๆ จึงดูเหมือนกับสนามเด็กเล่นมากกว่าสถานที่ออกกำลังกายสมกับชื่อของยิม

ช่างภาพของเราได้เอ่ยถามถึงการเล่นนอกสถานที่ ทันใดนั้นโค้ชแชมป์ก็ไม่รีรอพาเราเดินออกมานอกยิมไปจนสุดทางของตัวอาคาร พบว่าเป็นลานปูนกว้างๆ มีกำแพงสูงราว 2 เมตร ด้านบนขึงด้วยลวดหนาม จากนั้นโค้ชก็กระโดดขึ้นไปเกาะยังขอบกำแพงและเดินทรงตัวบนนั้น ก่อนจะกระโดดม้วนตัวลงมาราวกับฉากในหนังแอ็กชัน

“จริงๆ แล้วปาร์กัวร์ทุกคนจะออกไปฝึกข้างนอกเป็นเรื่องปรกติ ส่วนใหญ่ผมก็จะไปคนเดียว บางทีเพื่อนว่างก็จะชวนกันไป เพื่อนที่เป็นโค้ชด้วยกัน แต่เราก็ไม่อยากที่จะให้เป็นภาพออกไปมากเท่าไหร่ อยากให้เป็นภาพที่อยู่ในยิมและค่อนข้างปลอดภัย หรือไม่ก็สวนสาธารณะมากกว่า เพราะมันจะมีผลต่อเด็กๆ กับวัยรุ่นที่อยากจะทำตาม

“หลายๆ คนชอบพูดกันว่าปาร์กัวร์หรือฟรีรันนิงเป็นกีฬาที่ต้องใช้ใจไปก่อน ผมบอกเลยว่าไม่ใช่ แต่ก่อนก็เคยคิดอย่างนั้น มันไม่ใช่การที่คุณจะใช้ใจมาก่อน มันเป็นเรื่องของการที่คุณจะต้องมีเบสิกที่โคตรจะแข็งแรงจริงๆ พอคุณมีเบสิกที่แน่นจริงๆ แล้ว คุณถึงจะทำในสิ่งที่คุณต้องการจะทำได้โดยร่างกายจะรู้เองว่าคุณทำได้

“การกระโดด ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกระโดด แต่เพราะว่าร่างกายรู้ว่ากระโดดไปได้แล้วผมก็เลยทำ มันไม่ใช่เรื่องของการใช้ใจนำไปก่อนโดยไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ มันเป็นการที่เรารู้ว่าเราทำได้แล้ว เราค่อยๆ ข้ามลิมิตของตัวเองไปทีละนิดมากกว่า มันไม่มีทางลัด หลายคนจะคิดว่าเราทำทางลัดได้ ลองทำดูสิ จะรู้เลยว่าอาจจะไม่ได้มาเล่นอีกเลยก็ได้”

โค้ชยกตัวอย่างการสอนให้เราฟัง การสอนกระโดดข้ามกล่องจากกล่องหนึ่งไปยังอีกกล่องหนึ่ง พอกระโดดเสร็จโค้ชก็แอบเลื่อนกล่องออกเรื่อยๆ ความรู้สึกมันจะเปลี่ยนไป สิ่งที่หลอกเราไม่ได้คือร่างกาย สัญชาตญาณผู้เล่นจะรู้สึกว่ามันไกลขึ้น แต่โค้ชจะบอกกับผู้เล่นว่ามันเท่าเดิม พอกระโดดเสร็จจึงมาเฉลยในตอนท้าย สิ่งนี้เป็นเหมือนการเรียนรู้ในเรื่องของจิตใจ
ซึ่งกว่าจะเล่นได้อย่างที่เราเห็นกันในยูทูบ แต่ละคนต้องมีพื้นฐานการฝึกซ้อมอย่างหนัก ฝึกเป็นร้อยครั้งซ้ำไปซ้ำมา นอกจากการมีพื้นฐานที่ดี การฝึกฝนนับร้อยนับพันครั้งเพื่อให้เกิดความชำนาญ การมีสมาธิของผู้เล่นก็นับว่ามีส่วน การเล่นปาร์กัวร์ไม่ใช่แค่ฝึกความแข็งแรง ความคล่องตัวของร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้เรียนรู้ถึงวิธีการเอาตัวรอดในชีวิตจริง วิธีการปีนป่าย วิธีการเซฟตัวเอง เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน

“หลายคนไม่เข้าใจมักจะบอกว่าทำไมไม่ใส่เครื่องป้องกัน จริงๆ แล้วปาร์กัวร์เป็นกีฬาอย่างที่ผมบอกมันสอนให้คนเซฟตัวเองโดยไม่ใช้เครื่องป้องกัน แต่ก่อนธรรมชาติเราไม่ได้มีอะไรมาป้องกันเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเซฟตัวเอง กระโดดบ่อยๆ เจ็บแล้วต้องทำอย่างไร ร่างกายก็ต้องปรับตัวให้กระโดดเบาขึ้น เพราะฉะนั้นปาร์กัวร์คือการกำหนดสมาธิให้เคลื่อนไหวให้เซฟที่สุดในแต่ละท่วงท่า จะเคลื่อนไหวเร็วแต่ก็ต้องปลอดภัย”

โค้ชแชมป์มีโอกาสไปสอนยังโรงเรียนต่างๆ ซึ่งทางโรงเรียนอยากให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัย อย่างหมวกกันน็อกหรือสนับเข่า แต่โค้ชกลับมองว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นในชีวิตจริงเราคงหาอุปกรณ์ป้องกันไม่ได้ ดังนั้นปาร์กัวร์คือการเรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง แต่ต้องเลือกให้เข้ากับสถานการณ์และเหตุที่เหมาะสม

ใคร ใคร ก็เล่นได้

การเล่นปาร์กัวร์ไม่มีการแบ่งระดับของผู้เล่น แต่อายุก็ถือว่าสำคัญ จะแบ่งระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เป็นกีฬาที่ไม่ได้จำกัดอายุหรือเพศในการเล่น หากแต่อาศัยใจ ใจในที่นี้ไม่ใช่ความกล้า แต่เป็นใจรักในการเล่น เล่นแล้วสนุกไปกับมัน จะทำให้เราพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้นนอกจากการฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมา

“ตอนนี้มีเล็กสุด 3-5 ขวบ แต่เราไม่ได้เอาความเป็นปาร์กัวร์หรือฟรีรันนิงใส่เข้าไป จริงๆ แล้วปาร์กัวร์มันคือทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นแค่การกระโดดวิ่งข้ามสิ่งกีดขวาง หรือการทำอะไรแบบนินจา แต่มันคือการฝึกสติสัมปชัญญะ การ reaction การรู้เท่าทันตัวเอง การสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฝึกเด็ก 3-5 ขวบเขาจะไม่สามารถมาทำอะไรที่ต้องใช้สมาธิเหมือนผู้ใหญ่ได้ เขาจะรู้สึกเบื่อขึ้นมาทันที เราก็เลยใส่เกมเข้าไป

“อายุ 6-8 ขวบ โตขึ้นมาหน่อยก็จะมีการใส่เทคนิคเข้าไปเล็กน้อย อย่างเช่นการปีนกล่อง ส่วนใหญ่เราไม่รู้ก็จะเอาเข่าขึ้นใช่ไหม การเอาเข่าขึ้นมันเจ็บและมันจะทำให้ร่างกายบาดเจ็บตลอดเวลา เราก็สอนเขาว่าห้ามใช้เข่า ให้ใช้เท้าเหยียบขึ้น อาจจะต้องละทิ้งความขี้เกียจกันหน่อย แต่มันก็จะติดเป็นนิสัย เขาไปข้างนอกเขาก็จะรู้แล้วว่าควรทำยังไง

“แล้วก็จะมี 9-11 ขวบ เริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว พวกนี้ก็จะใส่ความเป็นเทคนิคเข้าไปได้ เขาเริ่มมีแรงบันดาลใจ มีสิ่งที่เขาอยากจะทำ ในแต่ละวันเขาอยากจะทำท่านี้ได้ เขามีความคิดที่เขาอยากจะเป็นแบบนี้ เราก็จะค่อยๆ ผลักดันเขาขึ้นไป”

สิ่งที่โค้ชแชมป์มักจะพูดกับเด็กๆ หรือคนที่มาเรียนด้วยเสมอคือ to be strong to be useful ฝึกให้แข็งแรงเพื่อจะได้ไปช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ในใจก็แอบคิดว่าขนาดนั้นเชียวหรือ

“แต่ก่อนผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะแข็งแรงไปทำไม แต่จริงๆ แล้วการฝึกพวกนี้ช่วยได้เยอะมาก มันไม่ใช่แค่แข็งแรงแค่ตัวเอง ถ้าคุณแข็งแรงแค่ตัวเองแล้วเอาตัวรอดได้คนเดียวคุณก็เป็นคนเห็นแก่ตัวคนหนึ่ง มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าคุณแข็งแรงคุณรู้ว่าสามารถทำอย่างนี้ได้ ถ้าเกิดคุณสามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นต้องเป็นฮีโร่หรอกนะ มันทำให้เราเรียนรู้ตัวเราว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้มากน้อยขนาดไหน แล้วเราก็ไม่รีรอที่จะทำทันที”

“ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับศิลปะการต่อสู้เลย”

“ถ้าให้พูด ปาร์กัวร์มันเป็นวิถีหรือเป็นแนวเดียวกันกับศิลปะการต่อสู้ นอกจากสอนศิลปะการต่อสู้เขาก็สอนคุณธรรมให้เด็กด้วยไม่อย่างนั้นเด็กก็เอาสิ่งพวกนี้ไปทำร้ายคนอื่น หรือไม่ก็เอาไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ปาร์กัวร์ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปกระโดดขึ้นรถ จะทำบ้าบออะไรก็ได้ อยากจะเก่งอยากจะดังอยากจะกระโดดปีนป่ายมันไม่ใช่ เขาก็จะสอนว่าคุณฝึกเพื่ออะไร

“ตอนที่เราเล่นปาร์กัวร์เราได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเราไม่ได้เก่ง เราอาจจะคิดว่ากระโดดข้ามตึกนี้ได้ง่ายๆ แต่พอขึ้นไปอยู่ตรงนั้นแล้วมัน 10 ชั้น แล้วคุณจะรู้เลยว่าคุณก็แค่คนคนหนึ่งที่ตายได้ตลอดเวลาเมื่อคุณกระโดดพลาด หากเรารวบรวมสมาธิจนสุดท้ายเราทำได้จะรู้ว่าความกลัวมันหลอกเราเอง พวกนี้คือเรื่องเดียวกันกับศิลปะการต่อสู้ ผมกล้าพูดเลยว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าไม่ได้สอนให้เราไปสู้กับใครปะทะกับใคร มันคือการใช้ชีวิตรอด”

การกระโดดจากจุด a ไปจุด b ที่ผ่านการฝึกพื้นฐานการทรงตัวมาจากปาร์กัวร์

final step ด้วยการจบด้วยท่า front flip

การวอร์มอัพร่างกายด้วยการฝึกทรงตัวบนราวถือเป็นพื้นฐานสำคัญของปาร์กัวร์

แตกต่างเหมือนกัน

อย่างที่โค้ชแชมป์บอก ปาร์กัวร์เป็นกีฬาที่ไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนเล่นปาร์กัวร์ที่ต้องมีคือรองเท้าคู่ใจดีๆ สักคู่ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะพาคุณไปยังจุดหมายปลายทาง

“ถามว่ารองเท้ามีส่วนช่วยไหม ก็มีส่วน แต่พอมาเล่นจริงๆ แล้วการเล่นแบบแบร์ฟีตคือถอดรองเท้าเล่นกันเลย ซึ่งมันดีมาก ดีมากในการฝึกนะ ไม่ใช่ดีมากในการออกไปเล่นข้างนอก เพราะจะทำให้คุณรู้จัก soft กับเท้าตัวเอง ทำให้เรารู้จักการถ่ายน้ำหนักเป็น รองเท้าที่ใส่แน่นอนต้องไม่ใช่รองเท้าแตะ เพราะคุณมีสะดุดล้มแน่นอน ต้องไม่ใส่ถุงเท้าอย่างเดียวเพราะจะทำให้ลื่น เป็นรองเท้าพละที่มีเชือกผูกก็จะดี”

หากถามว่าปาร์กัวร์และฟรีรันนิงนั้นแตกต่างกันอย่างไร มาถึงตรงนี้คงจะบอกไม่ได้แน่ชัด เพราะการที่จะเลือกเล่นปาร์กัวร์หรือเลือกเล่นฟรีรันนิงมันเป็นสไตล์เฉพาะตัวของแต่ละคน บางคนอาจจะเล่นทั้งฟรีรันนิงทั้งปาร์กัวร์ ฉะนั้นความแตกต่างจึงอยู่ที่ตัวผู้เล่น

“บ่อยครั้งที่คนจะชอบมาบอกให้โค้ชสอนกระโดดตีลังกา ผมก็บอกว่าเราไม่สอนเพราะว่ามันไม่ใช่หัวใจของปาร์กัวร์ มันอยู่ที่คนว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร ถ้าคุณอยากจะเรียนกระโดดตีลังกา คุณไปเรียนยิมนาสติกดีกว่า แต่ถ้าเขาอยากจะมาเรียนวิธีการเอาตัวรอด ผมว่าปาร์กัวร์มันคือตรงนั้น”

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฟรีรันนิงในไทยเป็นที่นิยมมาก อาจเป็นเพราะกระแสจากโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เริ่มจางหายไป ปาร์กัวร์เองก็ไม่ต่างกัน ในประเทศไทยยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไรนัก อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาเหมือนกับที่ฝรั่งเศสตอนเริ่มต้น ที่เป็นเพียงกลุ่มคนห้าคนออกมากระโดดปีนป่ายตามอาคารบ้านเรือน หรืออาจจะเป็นเพราะจำกัดการเล่นเฉพาะคนเมือง โค้ชแชมป์จึงได้แย้งขึ้นมาว่า

“ผมว่ามันใช่นะ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเห็นภาพในเมือง แต่ผมว่า 100 เปอร์เซ็นต์คือเรื่องของการ adaptation มันคือการปรับตัวมากกว่าให้เราเล่นได้กับทุกอย่าง มีแค่รั้วอันนี้เราก็เล่นได้แล้ว แค่เก้าอี้ตัวนี้เราก็เล่นได้แล้ว มันจะมีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลาในการเล่นว่าเราจะทำยังไง เล่นยังไงฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ ส่วนการใช้จริงมันคือเป็นผลพลอยได้ แต่ก็ไม่ได้เล่นได้แค่ในเมือง ในป่าก็เล่นได้ สมมุติเราไปน้ำตกมีก้อนหิน เราก็ฝึกกระโดดได้ จริงๆ คือธรรมชาติมนุษย์เลยดีกว่า ร่างกายเราถูกสร้างมาให้ทำแบบนี้เพราะเราวิวัฒนาการมาจากลิง แต่ก่อนเราไม่ได้ยืนกันอย่างนี้ เราวิ่งหนีสัตว์ป่ามาด้วยซ้ำ บางทีเราต้องล่า แต่ทุกวันนี้เราไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว เราก็เลยไม่มีการเคลื่อนไหวแบบนั้น”

ปาร์กัวร์ในต่างประเทศถือว่าเป็นที่นิยมมาก เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดการแข่งขันในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการแข่งหลายรูปแบบ ทั้งความเร็ว ท่าทาง ในการแข่งความเร็วจะมีจุดต่างๆ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องวิ่งไปแตะตามจุดนั้นๆ จนถึงจุดสุดท้ายให้เร็วที่สุดแล้ววัดเวลา และที่สำคัญต้องเน้นความปลอดภัย ส่วนการแข่งทางลีลาก็จะเป็นการกระโดดไปมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมการจะตัดสินอย่างไร และเกม Chase Tag เป็นการผสมผสานระหว่างปาร์กัวร์กับการวิ่งไล่จับ หากจะถามว่าจริงๆ แล้วหัวใจสำคัญของปาร์กัวร์คืออะไร โค้ชแชมป์คงตอบได้ดีที่สุด

“อย่างที่ผมบอกไป ผมชอบคำนี้มากเลย แล้วก็อยากให้คำนี้อยู่ต่อไป เป็นคำพูดของคนที่ฝึกปาร์กัวร์รุ่นแรกๆ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ to be strong to be useful ที่ว่าเป้าหมายสูงสุดของปาร์กัวร์ก็คือการที่เราแข็งแรงเพื่อจะได้ไปช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ผมว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับผมนะ”

ข้อมูลจาก