ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
ชยานนท์ ไชยศรีษะเกตุ : เรื่อง
ทิวัตถ์ อำนวยปรีชากุล : ภาพ
5 นาฬิกา
ในวัดยานนาวา ความวุ่นวายของใจกลางเมืองหลวง แสงไฟสีขาวจากกุฏิเริ่มมีบทบาทและทำหน้าที่ทีละดวงสองดวง จนกุฏิทุกหลังสว่างจ้า ภิกษุและสามเณรทยอยออกมาเตรียมความพร้อมของตนเพื่อเดินทางไปตามเส้นทางหลายกิโลเมตร ผ่านพุทธศาสนิกชนสองข้างทางที่รอคอยถวายอาหารคาวหวาน
ในวัดญาณเวศกวันย่านพุทธมณฑล ความร่มรื่นและกลิ่นลมหายใจของมวลแมกไม้น้อยใหญ่นานาพรรณสร้างความรู้สึกสดชื่นและสงบขึ้นทันตา แสงนีออนเริ่มสว่างแทรกความมืดจากกุฏิไม้สีน้ำตาล ทะลุความมืดครึ้มของร่มเงาไม้ใหญ่ที่ปลูกประดับมอบความร่มเย็นออกมาให้เห็น ภิกษุบางรูปเริ่มกิจวัตรประจำวัน บางรูปออกมารับความสดชื่นของธรรมชาติด้านนอก
ทางด้านตลาดสด แม้ท้องฟ้ายังคงมืดสนิท แต่บรรยากาศของการซื้อขายอาหารนั้นกลับคึกคักไปด้วยผู้คน ร้านข้าวแกงได้รับความนิยมจากผู้คนแวะเวียนมาฝากท้อง ทั้งแกงเผ็ด แกงจืด น้ำพริก ผักต้ม เนื้อทอด หมูย่าง อวดโฉมเรียงรายให้ลูกค้าได้เลือกสรร หลายคนหาซื้อของสดและแห้งกลับไปปรุงอาหารเช้าทานในครอบครัว บางคนซื้ออาหารปรุงสำเร็จเพื่อประหยัดเวลา บางคนกำลังเฝ้าคอยทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนในเช้าวันใหม่
ภาวะทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุและสามเณรเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของพระสงฆ์อย่างมากในปัจจุบัน
อาหารกึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมจากเหล่าผู้มีจิตศรัทธา รูปแบบการใส่บาตรที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาด้านโภชนาการ
แม้ปริมาณอาหารจะมากมาย แต่ความหลากหลายนั้นมีน้อย ยิ่งจำนวนมากเท่าไรยิ่งส่งผลต่อการเลือกรับประทานของพระภิกษุและสามเณรมากเท่านั้น
6 นาฬิกา
แสงตะวันนวลทองทอประกายอ่อน ผู้คนหลากวัยใส่ความหวัง คำอธิษฐานลงในบาตรสีเงิน พร้อมของคาว หวาน และน้ำดื่ม นั่งพนมมือรับพรจากพระภิกษุ ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสกำลังทำหน้าที่ของตนในบทบาทความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้ออาศัยกัน ชาวพุทธถือกันว่าการใส่บาตรเป็นการสร้างบุญกุศล และเป็นการแผ่ส่วนบุญที่ได้รับมอบให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยมีอาหารเป็นตัวเชื่อมความเชื่อและความศรัทธา
“อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”
แม้บรรยากาศโดยรอบจะวุ่นวายและรีบเร่งเพียงใด แต่บรรยากาศภายในใจของพุทธศาสนิกชนกลับนิ่งสงบและอิ่มเอมกับการทำหน้าที่ของตัวเองในเช้าวันใหม่
เมื่อพระภิกษุสามเณรเกิดอาพาธอาจต้องเดินทางมารักษาเพียงลำพัง
บรรดาผู้มีจิตศรัทธาที่มาทำบุญถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระภิกษุอาพาธในโรงพยาบาลสงฆ์
พระภิกษุที่เป็นผู้ป่วยใน
การเลี้ยงเพลพระภิกษุอาพาธที่โรงพยาบาลสงฆ์
บิณฑบาต : ปัจจัยในการเลี้ยงชีพของพระภิกษุสงฆ์
เสียงร้องเรียกจากไก่ขันรับอรุณปลุกให้ตื่นขึ้นจากนิทรา หมอกควันเลือนรางเคล้าควันจางจากเตาไฟลอยคลุ้ง สายลมเป็นดั่งวาทยกร บรรเลงทิศทางให้ก้อนสีเทาเคลื่อนไหว กลิ่นเครื่องเทศจากครัวพื้นบ้านหอมฉุยเตะจมูกให้ท้องส่งเสียง นั่นเป็นบรรยากาศตามบ้านเรือนต่างจังหวัดที่ผู้คนตื่นแต่ฟ้าสาง ลุกขึ้นมาหุงหาอาหารเพื่อยังชีพตลอดทั้งวัน แต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครไม่ใช่แบบนั้น
ความรีบเร่งเป็นตัวกำหนดบังคับให้คนเมืองกรุงต้องกระตือรือร้นและดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หลายคนต้องพาตัวเองออกจากที่พักมาใช้ชีวิตบนถนนตั้งแต่พระจันทร์ยังไม่ลาลับเพื่อเลี่ยงการจราจรเนืองแน่น ร้านสะดวกซื้อและร้านขายอาหารยามเช้าจึงเป็นที่พึ่งพิงได้มากกว่าครัวที่บ้าน การต่อสู้กับเวลายังเอาชนะการดื่มด่ำอรรถรสของการปรุงอาหารด้วยตัวเองอย่างคนต่างจังหวัด รถเป็นโต๊ะอาหารของคนกรุง ขนมปัง กล้วย และนมกล่องเป็นของรองท้องที่คุ้นเคย ถุงพลาสติกเป็นภาชนะใส่อาหารที่คุ้นชิน ฝีมือแม่ค้าหน้าปากซอยคุ้นปากมากกว่าฝีมือแม่ของตัวเอง ความรีบเร่งทำให้ชีวิตต้องเร่งรีบ
ความมืดเริ่มจางหาย แสงสว่างเข้ามาแทนที่ เมื่อยามเช้ามาถึงภาพคุ้นตาที่เห็นคือพระสงฆ์ออกมาเดินบิณฑบาตโดยมีเหล่าพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานำเครื่องคาวหวานมาใส่ในบาตรสีเงิน
“บิณฑบาตถือว่าเป็นการได้มาซึ่งปัจจัยในการเลี้ยงชีพของพระภิกษุสงฆ์ ไม่ได้เป็นการแสวงหา” พระครูธรรมธร (ครรชิต คุณวโร)พระอุปัชฌาย์ในวัดวัดญาณเวศกวันเอ่ยถึงความสำคัญของการบิณฑบาต
“อาหารบิณฑบาตในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์เพียงแค่ไปยืน ห้ามเอ่ยปากขอ เอ่ยปากบอกโยมให้มาใส่บาตรก็ไม่ได้ อาศัยความประพฤติดีของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นตัวสร้างให้ผู้คนเกิดความศรัทธาและอยากสนับสนุนด้วยการนำภัตตาหารมาถวาย”
แม้จำนวนอาหารจะมีปริมาณมาก แต่ความหลากหลายกลับมีจำนวนน้อย
แกงเผ็ด แกงจืด อาหารแห้ง และนมกล่อง ได้รับความนิยมจากคนหมู่มาก เห็นได้จากรถเข็นแน่นขนัดที่เด็กชายร่างผอมลากจูงเดินรั้งท้ายของขบวน อาหารส่วนใหญ่มาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือร้านขายข้าวแกงที่แม่ครัวกำลังง่วนกับการตักใส่ถุงพลาสติก โดยมีลูกมือมัดหนังยางอยู่ข้างกาย
คนทั่วไปมีแรงจูงใจในการเลือกสรรอาหารมาใส่บาตรกันอย่างไร ฉันสงสัย
ความสงสัยของฉันเป็นคำถามที่โพสต์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก เพื่อนของฉันจำนวนไม่น้อยต่างมาแสดงความคิดเห็น ทำให้เห็นถึงมุมมองของการเลือกอาหารใส่บาตรของคนรุ่นใหม่ คำตอบที่ได้รับล้วนไปในทิศทางเดียวกัน “เลือกตามในสิ่งที่เราอยากกินในอนาคต” และ “เลือกในสิ่งที่เราชอบ” สิ่งที่ฉันค้นพบจากคำตอบของเพื่อนอีกอย่างก็คือ ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของคนกิน
ระหว่างทางจะพบเหล่าผู้มีจิตศรัทธารอใส่บาตร
พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับบิณฑบาตหรือยืนประจำจุดเดิมนานๆ ได้ ดังนั้นการเดินบิณฑบาตจึงเป็นกิจวัตรประจำวันที่พระสงฆ์ต้องทำในทุกเช้า
ข้าวไม่ขัดสีอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมภาวะโภชนาการพระภิกษุและสามเณร และเริ่มได้รับความนิยมจากคนเมืองในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าคนเมืองเริ่มตระหนักถึงสุขภาวะของพระสงฆ์มากขึ้น
หลังจากรับบิณฑบาต พระภิกษุและสามเณรจะนำของใส่บาตรมารวมกันเป็นจุดเดียว
สงฆ์ไทยไกลโรค
หลายหน่วยงานให้ความสนใจและตระหนักถึงปัญหาเรื่องสุขภาวะของพระสงฆ์มากขึ้น ปัจจุบันทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และสิ่งพิมพ์ มีการผลิตสื่อออกมาเพื่อสร้างความตระหนักแก่เหล่าพุทธศาสนิกชนให้รับรู้ถึงปัญหา โดยเราสามารถเริ่มได้จากต้นทางของอาหารการกิน นั่นคือตัวเรา
“พระสงฆ์มีอัตราน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนประมาณ 48% เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะหากเราเปรียบเทียบข้อมูลในชายไทยอาจจะประมาณ 39% แต่ว่าตอนนี้พระสงฆ์ก้าวล้ำเกินไปแล้ว”
รศ.ดร.เภสัชกรหญิงจงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงปัญหาสุขภาวะน่าเป็นห่วงที่บรรพชิตในพุทธศาสนากำลังพบเจอ เธอมีความสงสัยว่าผู้บริโภคอาหารวันละ หนึ่งถึงสองมื้อนั้นพบกับปัญหานี้ได้อย่างไร หากพิจารณาตามเหตุและผลแล้วไม่มีทางเป็นไปได้
“คุณภาพของอาหารที่พระสงฆ์ฉันไม่เหมือนชายไทย” เธอเอ่ยพร้อมสร้างความฉงนขึ้นในใจฉันว่าความต่างกันนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร
“ถ้าเราได้รับอาหารที่ไม่สมดุล ได้รับอาหารที่มีโปรตีนต่ำเกินไป เราจะรู้สึกว่าถมไม่เต็ม และมีความหิวโหยตลอดเวลา” โปรตีนเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทุกชนิดบนโลก ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย สร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย การขาดโปรตีนหรือได้รับมันอย่างไม่เพียงพอร่างกายจะมีความต้องการเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด
“หลังช่วงเวลาฉันเพลท่านจะฉันปานะ เมื่อเราไปลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลพบว่าน้ำปานะที่ท่านฉันเนี่ยเป็นน้ำหวาน แปลว่าหลังเพลเป็นเวลา 10 กว่าชั่วโมง ท่านฉันอาหารที่เป็นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มก็จะดูดซึมเร็ว มันส่งผลต่อร่างกายทำให้สุขภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะไปกระตุ้นฮอร์โมนอินซูลิน” เธอยังอธิบายต่อว่าความแตกต่างระหว่างคนปรกติกับพระสงฆ์นั้น แม้ว่าหลายคนจะชื่นชอบการบริโภคน้ำหวานมากเพียงใดก็ตาม แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นกับเรา เนื่องจากท้องของเราไม่ว่าง ตรงข้ามกับพระสงฆ์ที่ท้องไม่มีอะไรเลยเมื่อตะวันตั้งฉากตรงกับศีรษะ
“ปัญหาที่เราเห็นอยู่นี้มันยังไม่ใช่ปัญหาที่เต็มรูปแบบ มันเป็นปัญหาที่ก้ำกึ่ง เสมือนระเบิดที่รอเวลา หรือแค่หางสึนามิที่ตัวจริงยังมาไม่ถึงฝั่งแค่นั้นเอง”
เมื่อถึงเวลาฉันอาหาร พระภิกษุจะมารวมกันเพื่อฉันอาหารอย่างพร้อมเพรียง
การฉันอาหารแต่พอดีและมีสารอาหารครบถ้วนจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
อีกหนึ่งวิธีในการจัดการกับอาหารที่มีมากเกินไป คือจัดเป็นสำรับให้ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา รับประทานร่วมกัน
โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีการศึกษา ผลิตสื่อเพื่อช่วยให้พระสงฆ์ ฆราวาส และผู้ค้าอาหารใส่บาตรได้ร่วมกันพลิกฟื้นสุขภาวะของสงฆ์ไทย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน เธอได้ทุ่มเทกำลังกายและความตั้งใจผลิตสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค 4.0 เพื่อให้ฆราวาส ผู้ค้า และผู้ปรุงอาหารถวายพระสงฆ์ สามารถจัดโภชนาการอย่างเหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้พระสงฆ์เผชิญและแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งยังมีคู่มือสุขภาพสำหรับพระสงฆ์อีกด้วย
“พวกเราใส่เสื้อเบอร์อะไร เข็มขัดเบอร์อะไร รูไหน เรารู้ตัวเอง พออ้วนขึ้นเราก็รู้ตัวเอง แต่สำหรับพระสงฆ์ จีวรและสบงของท่านในเครื่องนุ่งห่มไม่มีไซซ์ S M L หรือ XL เพราะฉะนั้นท่านจะไม่ทราบความเป็นไปของขนาดตัวของท่านเลย”
แม้ว่าจะมีข่าวเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์มากมายตามข่าวในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรามัวแต่เฝ้ามองว่าศาสนาจะถูกบ่อนทำลายด้วยมิติอื่น ๆ แต่หากเรื่องอาหารที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เรากลับมองข้ามในส่วนนี้ไปซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กำลังทำร้ายศาสนาอยู่ หลายหน่วยงานและสื่อหลากชนิดเริ่มให้ความสนใจ และผลิตสื่อออกมาให้เราได้เรียนรู้ ตระหนักกับปัญหา และปรับตัวเพื่อให้สุขภาวะของพระสงฆ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อเผยแพร่ศาสนาต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ