เครื่องรางคนค้าขาย ๕ – พระสีวลี
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
พระสีวลีเป็นพระพุทธสาวกรูปหนึ่งในยุคพุทธกาล นับเนื่องเป็น ๑ ใน ๘๐ อสีติมหาสาวก และเป็น “เอตะทัคคะ” คือพระสงฆ์สาวกผู้เป็นเลิศ โดยพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าท่านเป็นผู้มีลาภ
ด้วยเหตุนั้น พระเกจิอาจารย์หลายรูปจึงสร้างพระสิวลีองค์น้อยๆ เป็นเครื่องรางในทางโชคลาภ นิยมกันในหมู่คนค้าขายและคนทั่วไป ดังเห็นอยู่ตามกล่องเก็บสตางค์ ในร้านค้า และแผงตลาดนัดบ่อยๆ
รูปพระสีวลีแบบที่พบเห็นกันทั่วไป ทำเป็นพระภิกษุครองจีวร อยู่ในปางยืน มือขวาถือไม้เท้าและลูกประคำ มือซ้ายแบกกลด สะพายบาตรและย่าม หรือบางองค์ก็ไม่ได้ถือไม้เท้า แต่ยืนหิ้วหม้อน้ำธมกรก หรือกาน้ำ ก็มี
เชื่อว่าการสร้างรูปพระสีวลีในรูปแบบทำนองนี้ เอาเข้าจริงคงเป็นการปรับมาจากรูปพระสีวลีของพม่า ซึ่งดูคล้ายคลึงกันมาก ทั้งปางที่ยืน ไม้เท้า ลูกประคำ และบาตร เพียงแต่พระสีวลีพม่า มือซ้ายท่านถือตาลปัตรแบบพม่าด้ามสั้นๆ ยกขึ้นพาดบ่า ทำท่าเหมือนบังแดดระหว่างเดินธุดงค์
คงด้วยเหตุที่ว่าดูเหมือนท่านกำลังอยู่ระหว่างเดินทาง ในพม่าจึงนับถือพระสีวลี หรือที่เรียกว่า Shin Thivali (ชินะทิวาลี) ในฐานะผู้อำนวยความสวัสดีมีชัยในระหว่างการสัญจร แบบเดียวกับที่คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกนับถือนักบุญคริสโตเฟอร์เป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้เดินทาง ดังที่นิยมทำเป็นองค์เล็กๆ ตั้งไว้ตามหน้าคอนโซลรถ
ส่วนคตินิยมนับถือพระสีวลีของไทยกลับมุ่งเน้นไปทางบูชาเพื่อลาภผลเป็นหลัก จนถึงขนาดไปตั้งฉายาให้ว่าท่านเป็น “เทพเจ้ามหาลาภ” อะไรทำนองนั้น แต่ยังไม่เคยได้ยินว่ามีคนไทยสักการะท่านในฐานะผู้คุ้มครองการสัญจรไปมาให้สะดวกปลอดภัย
เท่าที่เคยผ่านตา ดูเหมือนยังไม่เคยพบรูปพระสีวลีของไทยที่เป็นของรุ่นเก่าเช่นสมัยอยุธยาเลย จึงอยากจะเชื่อว่าพระเกจิอาจารย์ในเมืองไทยเพิ่งริเริ่มสร้างพระสิวลีในช่วงก่อนปี ๒๕๐๐ ไม่นานนัก โดยได้รับต้นแบบจากของพม่าแน่นอน เพราะว่าในรุ่นนั้น ท่านยังถือตาลปัตรใบตาลแผ่นใหญ่แบบพม่าในมือซ้าย ตาลปัตรนี้หมุนได้ถอดได้ เพราะหล่อมาคนละชิ้น ที่เห็นจากในรูป ตาลปัตรของหลายองค์จึงหายไปแล้ว เหลือแค่ด้ามเปล่าๆ
ทว่าตาลปัตรขนาดใหญ่แบบของพระพม่านั้น พระไทยไม่ได้ใช้ คนไทยจึงอาจรู้สึกขัดตา หรือกระทั่งดูไม่รู้ว่าท่านยืนถืออะไรอยู่ เรียกได้ว่าไม่สามารถ “สื่อสาร” กับ “กลุ่มเป้าหมาย” ได้ รูปพระสีวลีรุ่นต่อๆ มาจึงเริ่มคลี่คลาย ดัดแปลงให้ท่านถือตาลปัตรใบเล็กด้ามยาวแบบพระไทยแทน แล้วไปยังไงมายังไงก็ไม่ทราบได้ สุดท้ายจึงไปเอากลดมาให้ท่านแบกอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
ความนิยมนับถือพระสีวลีในระยะหลังมานี้ น่าจะเฟื่องฟูมาก หลายวัดจึงนิยมสร้างหรือประดิษฐานรูปพระสีวลีองค์ใหญ่ๆ ไว้กลางแจ้ง เพื่อเรียกศรัทธาจากญาติโยม หรือบางแห่งก็ประดิษฐานไว้ร่วมกับพระสังกัจจายน์และพระอุปคุต ตามคติ “ไตรภาคีแห่งโชคลาภ” ที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในยุคสมัยของเรา
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี