เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
กอนซาโล มาบุนดา(Gonzalo Mabunda) เกิดในปี ค.ศ.๑๙๗๕ – – ปีเดียวกับที่โมซัมบิก บ้านเกิดของเขาได้รับเอกราชจากโปรตุเกสที่ปกครองดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาแห่งนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖
โมซัมบิก ก็ไม่ต่างกับอดีตอาญานิคมอื่นในยุคสงครามเย็นที่เมื่อได้รับเอกราชก็กลายเป็นเวทีประลองกำลังกันระหว่างสองขั้วอุดมการณ์คือคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย ด้วยขบวนการที่ปลดปล่อยประเทศคือ The Front for the liberation of Mozambique (FRELIMO) ปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว และปราบฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง
เกิดขบวนการต่อต้านคือ Mozambican National Resistance (RENAMO) จับอาวุธทำสงครามต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่ปี ๑๙๗๗ จนถึงปี ๑๙๙๒ จึงมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพและมีกองกำลังขององค์การสหประชาชาติเข้าไปรักษาความสงบ จากนั้นโมซัมบิกก็ใช้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน
ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เด็กชายกอนซาโลเติบโตในกรุงมาปูโต (Maputo) อาวุธชิ้นแรกที่เขารู้จักคือปืนของลุงที่เป็นทหารฝ่ายรัฐบาล (FRELIMO) “ผมจับอาวุธครั้งแรกตอน ๗ ขวบ ลุงลองเอาอาวุธมาให้ถือ แล้วถามว่าอยากเป็นทหารไหม ความรู้สึกผมคือมันหนักมาก แต่ก็ไม่ได้ตกใจเพราะมีสงครามกลางเมืองอยู่ตลอดเวลา ทหารเดินเพ่นพ่าน การเห็นอาวุธเป็นเรื่องปรกติ ผมไปเยี่ยมญาติที่ต่างเมืองไม่ได้ ถ้าไปก็ต้องมีทหารคุ้มกัน คนรู้จักของที่บ้านหลายคนก็เสียชีวิตไปจากสงครามกลางเมือง” กอนซาโลอธิบาย ในขณะที่ขนข้าวของไปมาในเวิร์กชอปชั่วคราว ซึ่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเตรียมไว้ให้เขาใช้เป็นสถานที่ทำงาน ผลิตชิ้นงานศิลปะในฐานะศิลปินรับเชิญและจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศโมซัมบิกและองค์กรอื่นๆ เช่น หอศิลป์กรุงเทพฯ กระทรวงการต่างประเทศ
งานที่จัดแสดงในประเทศไทยอยู่ภายชื่อ “ทำลายเขตแดนวัฒนธรรม: ปลดกับดักความคิด” (Culture breaking barrier : demining min[e]ds) โดยจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ถึงช่วงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ บริเวณชั้น ๓ ของหอศิลป์ (BACC) กรุงเทพฯ
ความโดดเด่นในงานศิลปะที่กอนซาโลผลิต คือ การนำเศษซากของอาวุธไม่ว่าจะเป็น ลูกระเบิด จรวด กระสุน มาสร้างงานศิลปะที่ดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น นำมาทำเป็นหุ่นยนต์ บัลลังก์ประธานาธิบดี ทำเป็นหน้าคน ซึ่งแรงขับดันของการผลิตงานแนวนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก
“ในปี ๑๙๙๗ หลังเกิดสันติภาพ มีการรวบรวมอาวุธที่อยู่ในมือพลเรือนเพื่อนำมาทำลาย องค์กรทางศาสนาคริสต์ของโมซัมบิกก็เกิดแนวคิดว่าน่าจะนำอาวุธพวกนี้ไปทำงานสร้างสรรค์ได้เลยรวบรมศิลปิน ๑๐ คน แล้วเอาเศษซากอาวุธพวกนี้มาทำงานศิลปะ ก่อนหน้านี้ในปี ๑๙๙๔ ผมได้เรียนรู้การทำงานศิลปะแนวนี้จาก อันเดรส โบตา ศิลปินชาวแอฟริกันที่ใจดีพาผมไปเป็นผู้ช่วยเขาอยู่ ๓ เดือน ผมจึงมีพื้นฐานในการทำงานวัสดุประเภทเหล็ก”
กอนซาโลบอกว่า แนวคิดของเขาคือการ “เปลี่ยนของอันตรายให้กลายเป็นมิตรและสื่อสารเรื่องสันติภาพ” เขาเชื่อว่า “ลูกกระสุนทุกนัดที่เขาเอามาทำงานศิลปะ อาจจะหมายถึงชีวิตของคนหนึ่งคนที่ลูกปืนนั้นพรากไป” กอนซาโลอธิบายว่า “ผมอยู่กับสงครามกลางเมืองมานาน เวลาจัดการเอาอาวุธพวกนี้มาทำงานศิลปะผมจะรู้สึกดีมาก เพราะขึ้นชื่อว่าอาวุธเราจะกลัวมัน แต่นี่เราเปลี่ยนมันมาเป็นของที่ปลอดภัย”
หลังจากนั้น งานของกอนซาโลได้รับการจัดแสดงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีผู้นำโลกจำนวนมากชื่นชอบงานของเขาเช่น บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในปี ๒๐๑๘ เขาได้รับคำเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาปูโต ให้มาจัดแสดงงานศิลปะในไทยโดยใช้วัตถุดิบซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ของไทยซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้กับระเบิดบริเวณชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านจัดเตรียมให้ โดยเขานำผู้ช่วยมา ๒ คน และลงมือสร้างงานออกมานับสิบชิ้น ก่อนจะถูกจัดแสดงที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ที่เจ้าตัวเล่าว่า “ผมใช้เวลา ๘ วัน มันท้าทายมาก เพราะต้องสร้างงานหลายชิ้นในเวลาจำกัด”
งานที่จัดแสดงทีหอศิลป์ทุกชิ้นมีลักษณะเฉพาะคือทำมาจากเศษซากอาวุธ บ้างก็เป็นวิทยุสื่อสาร แบตเตอรี่ที่โดนผ่าครึ่งทำเป็นรูปหน้าคน ลูกปืนถูกเชื่อมร้อยกับเหล็กจนกลายเป็นเก้าอี้ผู้นำ ฯลฯ
“อย่างกรณีของเก้าอี้ ผมนึกไปถึงประธานาธิบดีที่เข้าสู่อำนาจด้วยการใช้กำลังอาวุธ ไม่ผ่านการเลือกตั้ง…จริงๆ ชิ้นงานจะเล่าเรื่องของตัวมันเอง เราใส่ความคิดลงไปก็จะสื่อสารได้กับคนทุกชาติทุกภาษา เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผมชอบที่หลายคนพยายามไปมองชิ้นงานใกล้ๆ ก่อนจะอุทานว่า ว้าว! นี่มันอาวุธนี่นา”
งานชิ้นหนึ่งกอนซาโลทำงานร่วมกับนิสิตคณะครุศาสตร์ “ผมสร้างโครงขึ้นมา แล้วก็ปล่อยให้เด็กๆ ทำไปตามใจ ซึ่งก็ออกมา เป็น ‘บังตา’ เขามองเรื่องการเติบโต ซึ่งก็สนุกดีครับ”
กอนซาโลยืนยันกับเราว่าศิลปินอย่างเขาทำงานเชื่อมร้อยกับสังคมรอบตัวตลอดเวลา “เรามีหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึนกับสังคม คุณจะสื่อสารกับสังคมได้ถ้าคุณเล่าเรื่องราวของเขา ศิลปินไม่สามารถตัดตัวเองออกจากสังคมได้ ยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าน่าอายที่ศิลปินบางคนสนับสนุนเผด็จการ ผมไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น เพราะนั่นคือเรื่องของอำนาจ เขาจะให้เงินคุณ แล้วคุณก้จะไม่เป็นตัวของตัวเอง ผมเชื่อว่าปัญหาใหญ่ของโลกยุคนี้คือการแสวงอำนาจและเงินตรา โลกมันซับซ้อนครับ เราสร้างระเบิดแทนที่จะสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล แต่ก็ซับซ้อนตรงที่มีคนอยู่ได้จากการสร้างของแบบนั้น”