ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
คลิปการ์ตูนเรื่องดังที่มียอดผู้ชมมากที่สุดบน Youtube ? – คำถามนี้หลายคนคงนึกถึงอนิเมชั่นเรื่องดังของ วอล์ท ดิสนี่ย์ หรือการ์ตูนจากประเทศสหรัฐอเมริกาซักเรื่อง แต่ความจริงกลับกลายเป็นการ์ตูนของรัสเซียแทน
ปัจจุบันยอดผู้ชมของตอน “มาช่าทำโจ๊ก” ยังติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ คลิปที่มีคนดูบนยูทูปมากที่สุดตลอดกาล โดยมียอดผู้ชมล่าสุดกว่า ๓.๓ พันล้านวิว ท่ามกลางคลิปยอดนิยมตลอดกาลส่วนใหญ่ที่เป็นมิวสิควิดีโอเพลง อาทิ Despasito, Shape of You, หรือ Gangnam Style
Marha and The Bear เป็นการ์ตูนขนาดสั้นของรัสเซียที่แพร่ภาพผ่านช่องโทรทัศน์ Russia 1 และ Carousel ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มีความยาวตอนละประมาณ ๗ นาที เป็นผลงานการผลิตของบริษัท Animaccord Animation Studios ที่สร้างสรรค์โดย โอเลก คูซอฟคอฟ(Oleg Kuzovkov) ดัดแปลงอย่างหลวมๆ จากนิทานของรัสเซีย เรื่องราวของมาช่าเด็กหญิงจอมซนวัย ๓ ขวบที่มีบ้านในละแวกป่า ซึ่งหาเรื่องชวนปวดเศียรเวียนเกล้าแก่เจ้าหมีตัวหนึ่งจนโกลาหลไปทั้งป่า ตอนยอดนิยม “มาช่าทำโจ๊ก”(Маша плюс каша) มียอดผู้ชมในยูทูปกว่า ๘๙๙ ล้านครั้ง(นับถึง ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) ซึ่งยังกลายเป็นคลิปวิดีโอที่ไม่ใช่คลิปเพลงที่มียอดผู้ชมสูงสุดอีกด้วย นอกจากนี้ตอนยอดนิยมอื่นๆ ในช่องทางการก็มียอดผู้ชมสูงมากระดับ ๑๐๐-๒๐๐ ล้านครั้งเช่นกัน
คูซอฟคอฟเล่าว่าได้แรงบันดาลใจขณะพักผ่อนในชายทะเลในปี ๒๕๓๙ เมื่อพบกับเด็กหญิงที่แรงเหลือหาเรื่องปวดหัวให้กับผู้ปกครองและญาติผู้ใหญ่ไม่หยุด จนวันต่อๆ มาแทบทุกคนก็พยายามหลบให้พ้นความซนของเธอ และค่อยๆ พัฒนาบุคลิกนี้ให้กลายเป็นมาช่า เด็กหญิงที่หาเรื่องป่วนหมีได้ทุกตอน แต่ไม่มีใครเชื่อว่าตัวการ์ตูนดังกล่าวจะน่าสนใจพอ และกว่าจะมีใครยอมลงทุนกับโครงการนี้ก็ใช้เวลาอยู่นานกว่าสิบปี
ด้วยความนิยมดังกล่าว เนื้อหาที่ดูง่ายสอดแทรกมุขตลกความยาวในการชมไม่มาก ประกอบกับงานอนิเมชั่นที่มีคุณภาพสวยงามระดับมาตรฐานฮอลลีวู้ด ภายหลังสตูติโอยังได้รับทุนสร้างจากบริษัทฝั่งอเมริกา มาช่าจึงเริ่มพูดมากขึ้น มีเพลงประกอบไพเราะ เช่นเดียวกับทีมงานที่ต้องทำงานเร็วขึ้น โดยยังได้เพิ่มคลิปฉบับพากย์เสียงภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีคนนำไปพากย์เสียงเป็นภาษาต่างๆ กันเองรวมถึงภาษาไทยด้วย และล่าสุด Netflix บริษัทจำหน่ายหนังออนไลน์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ซื้อสิทธิ์การ์ตูนเรื่องนี้มาฉายทางช่องแล้วตั้งแต่สิงหาคม ๒๕๕๘
ความสำเร็จของ Masha and The Bear นอกจากทำให้เห็นความนิยมชมคลิปการ์ตูนตลกทางยูทูปทั่วโลก ยังแสดงให้เห็นการเติบโตและลงทุนในสื่อการ์ตูนอนิเมชั่นในในรัสเซีย ซึ่งยังมีตัวการ์ตูนอื่นๆ ที่โด่งดังทางยูทูปอาทิ Luntik การ์ตูนสั้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวสี่หูที่ตกมายังโลก โดยทั้งหมดได้ทุนสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง แม้แต่บริษัท Animaccord ผู้ผลิตเรื่องนี้ก็ยังคงขอทุนสนับสนุนอยู่
“ห้าปีที่ผ่านมาทุนสร้างของอนิเมชั่นรัสเซียสูงขึ้นเป็นสองเท่า” อิริน่า มาสตูโซว่า(Irina Mastusova) กรรมการบริหารสมาคมภาพยนตร์อนิเมชั่นรัสเซียกล่าว
ดิมิทรี่ โลเวโก้(Dmitry Loveyko) ผู้อำนวยการสร้างของ Animaccord เห็นว่าเคล็ดลับความสำเร็จของการ์ตูนอยู่ในความตั้งใจใส่ความน่าดึงดูดใจที่เป็นสากลในทุกครั้งผ่านสูตรมุขตลกเจ็บตัวแต่น่าทึ่งแบบศิลปะการแสดงละครใบ้ ซึ่งไม่ต้องมีบทพูดแต่สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีการแปล เช่นเดียวกับคูซอฟคอฟที่เจตนาตั้งแต่ต้นว่าทั้งเรื่องจะให้มาช่าเป็นคนเดียวที่ทำหน้าที่พูด
“ถ้าผู้ประกอบการทั้งหลายเริ่มหันมามองการ์ตูนรัสเซียจากความสำเร็จของเรา ผมจะดีใจมากๆ ครับ” โลเวโก้กล่าว
เกร็ดน่าสนใจของ Masha and The Bear
การนำมาลงใน Youtube ทำให้บริษัท Animaccord มีรายได้จาก Masha and The Bear ผ่านช่องทางนี้มากกว่าปีละ ๕ แสนเหรียญฯ และยังขายลิขสิทธิ์แพร่ภาพให้กว่า ๙๐ ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตามรายได้กว่า ๗๐% ของบริษัทมาจากสินค้าต่อยอดจากตัวการ์ตูน อย่างของเล่น, กระเป๋านักเรียน, ขนม ฯลฯ
ปี ๒๕๕๗ รัฐบาลได้ให้ทุนสนับสนุนด้านภาพยนตร์ถึง ๑.๓ พันล้านรูเบิล จาก ๒๖ เรื่อง มี ๘ เรื่องที่เป็นอนิเมชั่น
- จากคอลัมน์ โลกเสมือน Masha and The Bear : เด็กซนป่วนหมีจนได้ดี – นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๖๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘