จากเสือดำถึงวาฬพลาสติก
จากแม่น้ำโขงถึงอ่าวไทย
จากหมู่บ้านป่าแหว่งถึงอ่าวมาหยา
ใน
#วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม นิตยสารสารคดี
ประมวล 10 ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตาม
จากปี 2561 ถึงปี 2562

ตลอดปี 2561 เต็มเป็นไปด้วยข่าวสิ่งแวดล้อมร้อนแรง ทั้งที่เชื่อมโยงกับสัตว์ป่า ผู้ทรงอิทธิพล ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องติดตามว่าจะเป็นไปในทิศทางใดเมื่อเข็มนาฬิกาเดินหน้าเข้าสู่ปีใหม่ 2562

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รวบรวม

(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

1 #ระเบิดแก่ง-สร้างเขื่อน รุมทึ้งแม่น้ำโขง

ข่าวใหญ่ข่าวแรกรับปี 2561 คือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์หลังร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ว่าจีนรับทราบว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงห่วงกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและการทำมาหากิน พร้อม #ยกเลิกโครงการระเบิดแก่ง ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับ
คนไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงช่วงปลายปี บริษัททีมคอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซึ่งได้รับการมอบหมายจากบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน แจ้งว่าเวลานี้การศึกษา สำรวจ ออกแบบโครงการดำเนินการเสร็จแล้ว

ทางบริษัททีมฯ จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา กลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย ให้เข้าร่วมเวทีระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2561 ในพื้นที่อำเภอเชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน จำนวน 8 เวที ข่าวนี้ทำให้ผู้ที่เกาะติดสถานการณ์ระเบิดแก่งแม่น้ำโขงแปลกใจ เพราะคิดว่าโครงการยุติไปแล้ว

ขณะที่โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธานในเขตประเทศลาวก็ยังคงเดินหน้า ทั้งเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนปากแบง ที่ต่างก็ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทย
.
อ่านข่าวเพิ่มเติม

2 สังหารเสือดำเจ้าป่าทุ่งใหญ่

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ข่าวใหญ่บนสื่อสังคมออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หนีไม่พ้นข่าว วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี นำกำลังจับกุม เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทยเดเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และผู้ติดตาม 3 คน
.
ขณะลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในพื้นที่หวงห้าม ตรวจพบอาวุธปืน เสือดำถูกถลกหนัง และทาเกลือถนอมซากบริเวณรอบแคมป์ ในหม้ออาหาร รวมทั้งซากสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่นๆ ที่ถูกล่า คือ เก้ง ไก่ฟ้าหลังเทา
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพและตั้งทนายสู้ ปัจจุบันคดีนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการในชั้นศาล
.
ล่าสุด #โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับหัวหน้าวิเชียรจากผลงานการปฏิบัติหน้าที่จับกุมตัวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ หากแต่ผลของคดีจะออกมาเป็นเช่นไร เสือดำและสัตว์ป่าคุ้มครองจะตายฟรีหรือไม่ ยังต้องติดตาม
.
อ่านข่าวเพิ่มเติม

เสือดำคือใคร อยู่ตรงไหนในป่ามรดกโลก ?
๑๔ เหตุการณ์ที่ทำให้ป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่พิเศษ

(ภาพ : 123rf)

3. ไทยแลนด์..แดนถังขยะโลก

ครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังตรวจค้นและแจ้งข้อหาผู้ประกอบกิจการคัดแยกและแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการในจังหวะฉะเชิงเทรา ส่งผลให้สังคมตื่นตัวต่อสถานการณ์นำเข้า “#ขยะพิษ” จากต่างประเทศ
.
ทั้งนี้ ประเทศไทย #เปิดเสรี ให้กับการนำเข้าของเสียทุกประเภท ไม่ว่า #ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก ขยะเคมี กัมมันตภาพรังสี ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล เมื่อรัฐบาลทหารออกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจกรรมบางประเภท ก็ยิ่งทำให้โรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับการกำจัด คัดแยก และจัดการขยะทั้งอันตรายและไม่อันตรายเพิ่มจำนวน อาทิ โรงงานคัดแยกและฝังกลบ เพิ่มจาก 5 เป็น 63 โรง โรงงานแปรรูปของเสีย เพิ่มจาก 43 เป็น 52 โรง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกและตะวันตก ประเมินว่ามีขยะพิษจาก 35 ประเทศถูกนำเข้ามาทิ้งในประเทศไทย
.
ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละลอง มีการลักลอบฝังกลบจนก่อเกิดมลพิษในชั้นดิน แหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่จะต้องหาทางแก้ไข ก่อนที่จะกลายเป็นถังขยะของนานาชาติยิ่งไปกว่านี้

4 ฆ่าวาฬด้วยขยะพลาสติก

28 พฤษภาคม 2561 #วาฬนำร่องครีบสั้น 1 ตัว ลักษณะผ่ายผอม มีกลิ่นเหม็น การลอยตัวผิดปรกติว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
.
เมื่อชาวบ้านรวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา และทีมสัตวแพทย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้าช่วยเหลือ
.
เก็บเลือดและชิ้นเนื้อมาตรวจก็พบว่า #ติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะขาดน้ำ จึงให้ยา สารอาหาร และเคลื่อนย้ายมายังหาดบ้านปึก อย่างไรก็ตาม ต่อมาวาฬเกิดอาการเกร็ง ชัก ดิ้นรุนแรงแล้ว #สำรอกเอาพลาสติกออกมาทางปาก 4-5 ชิ้น ไม่นานก็ตาย
.
ผลการผ่าท้องเพื่อชันสูตรสร้างความตกตะลึง เมื่อ #พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหาร ถึง 85 ชิ้น ทั้งถุงพลาสติก ห่อขนม น้ำหนักรวมกันถึง 8 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าวาฬตั้งใจกินขยะเหล่านี้เข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร
.
ความตายของวาฬนำร่องครีบสั้น ก่อให้เกิดรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชน ห้างร้าน ภาคธุรกิจ ร่วมกันลดใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และหวังให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายกำกับควบคุม (ภาพ : กลุ่มวาฬไทย www.thaiwhales.org)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

5 เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

หายนะครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ลาวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เมื่อเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่ตรงรอยต่อเมืองปากซอง แขวงจำปาศักดิ์ กับเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ลาวตอนใต้ เกิดการพังทลายของสันเขื่อนย่อยกั้นช่องเขา ส่งผลให้มวลน้ำไหลทะลักลงพื้นที่ท้ายน้ำ มีผู้คนเสียชีวิตหลายสิบคน สูญหายหลายร้อยคน ต้องอพยพมาอยู่ศูนย์พักพิงไม่น้อยกว่า 4,000-6,600 คน ขณะที่บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างแทบจะมลายหายไปกับสายน้ำทั้งหมด

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งอยู่กลางหุบเขา เป็นโครงการร่วมของ #บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของไทย SK Engineering & Construction Company และ Korea Western Power Company ของเกาหลีใต้ และรัฐบาลลาว ได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย ไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ ๙๐ จะขายให้กับประเทศไทย

หลังเขื่อนแตกมีคำถามตามมามากมาย ไม่ว่ารัฐบาลลาวจะเยียวยาครอบครัวผู้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างไร นักลงทุนจากชาติโดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างเราต้องแสดงความรับผิดชอบมากแค่ไหน

รวมถึงคำถามสำคัญอย่างยุทธศาสตร์ “#แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ทีรัฐบาลลาวหมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาอีกหลายสิบเขื่อนจะก้าวต่อทางใดกันแน่ (ภาพ : Attapeu Today)

อ่านข่าวเพิ่มเติม
https://www.sarakadee.com/1dddemo/2018/07/26/battery-of-asia/

6 หมู่บ้านป่าแหว่งแห่งดอยสุเทพ

“หมู่บ้านป่าแหว่ง” เป็นชื่อเรียกพื้นที่ตั้งโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ-ปุย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ดำเนินโครงการและเริ่มก่อสร้างมาจนคืนหน้ากว่าร้อยละ 90 จนมองเห็นได้จากระยะไกลและบนเครื่องบินว่ามีพื้นที่ตั้งบ้านพักหลังโอ่อ่า แบ่งเป็นอาคารชุด 9 อาคาร บ้านพัก 45 หลัง รุกล้ำเข้าไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูกลางพื้นที่ตีนดอยสีเขียว

แม้กระบวนการก่อสร้างจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ชาวเชียงใหม่นำโดย #เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมามีการถากดอย ทำลายหน้าดิน เจาะภูเขา ซึ่งเปลี่ยนทิศทางไหลของน้ำ

น้ำเสียน้ำปนเปื้อนจากโครงการมีโอกาสไหลลงอ่างเก็บน้ำแม่จอกซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบของชาวเชียงใหม่หากฝนตกก็จะมีสิ่งสกปรกถูกชะล้างลงมา ทั้งยังให้ความเห็นว่าเป็นพื้นที่ “ป่าแหว่ง” อุจาดตา จึงเรียกร้องให้ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวดังเดิม

ต่อมาภาคประชาชนกับตัวแทนรัฐบาลร่วมหารือกัน ในเบื้องต้นระบุว่าจะไม่มีการใช้อาคารดังกล่าวเป็นที่พักของข้าราชการ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้

7 รัฐบาล คสช. ผลักดันโครงการ EEC

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล คสช. มุ่งขับเคลื่อนการลงทุน พัฒนาทางเศรษฐกิจ อ้างว่าเพื่อต่อยอดพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard พื้นที่อีอีซีจะครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
.
ทั้งนี้ รัฐบาล คสช.ได้ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกขึ้นมาเป็นกฎหมายหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งตามมาด้วยข้อห่วงกังวลมากมาย อาทิ การกำหนดผังเมืองใหม่ให้ง่ายต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การให้สำนักงานฯ อีอีซีมีอำนาจดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเช่า เช่าซื้อ เวนคืน ถมทะเล
.
ล่าสุด มีข่าวว่า แจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง #อาลีบาบา กรุ๊ป ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าจะร่วมลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่อีอีซี เตรียมแผนก่อสร้างมูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยอาลีบาบาแสดงความสนใจ “ซื้อที่ดิน” แทนการ “เช่าที่ดิน” ตามที่ตกลงเบื้องต้นไว้
.
พื้นที่สามจังหวัดของภาคตะวันออกมีความหลากหลาย ทั้งที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม ประมง ท่องเที่ยว พื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องจับตาว่าโครงการอีอีซีจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่แถบนี้อย่างไร (ภาพ : กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน Land Watch THAI)

8 ฝันค้างเสนอชื่อสัตว์ป่าสงวนเพิ่ม 4 ชนิด

3 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติแจ้งเรื่องเพื่อทราบต่อที่ประชุมว่าเห็นควรชะลอการเสนอชื่อ #วาฬบรูด้า #วาฬโอมูระ #ฉลามวาฬ และ #เต่ามะเฟือง ให้เป็นสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติเอาไว้ก่อน เนื่องจากฝ่ายวิชาการของกรมประมงชี้ว่ายังไม่มีข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้คนทั่วไปครอบครองซากเต่ามะเฟืองและวาฬบรูด้าได้ หากขึ้นบัญชีสัตว์น้ำทั้งสี่เป็นสัตว์ป่าสงวน คนกลุ่มนี้จะถูกลิดรอนสิทธิ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แล้วจำนวน 15 ชนิด ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมันหรือเนื้อสมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ พะยูน และคงที่อยู่อย่างนี้ถึง 26 ปี

การรณรงค์ให้มีสัตว์ป่าสงวนเพิ่ม ชี้แจงถึงความสำคัญในทางการอนุรักษ์เพื่อให้สัตว์ป่าหายากมีชีวิตรอดและได้รับการให้ความสำคัญ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และมีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ แต่แล้วก็เกิดอาการ “ฝันค้าง” ยังต้องรอคอยสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 17 18 19 ต่อไป (ภาพ : 123rf)

อ่านข่าวเพิ่มเติม
พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไม่เปิดช่องให้มีสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ ๑๖ จริงหรือ ?
สถานภาพ “๔ ว่าที่สัตว์ป่าสงวนไทย” วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง หลังมติชะลอการขึ้นบัญชี

9 ค้านสร้างถนนคอนกรีตขึ้นเขาพะเนินทุ่ง

โครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง ใน #อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่อนุมัติสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตร ยาว 20.5 กิโลเมตร ทดแทนเส้นทางเดิมจากบ้านกร่างสู่เขาพะเนินทุ่ง ถูกตั้งคำถามในหมู่นักอนุรักษ์ว่ามีความเหมาะสมมากแค่ไหน

ฝ่ายคัดค้านส่วนใหญ่เป็นนักนิยมไพร กลุ่มช่างภาพสัตว์ป่า ชี้ว่าเส้นทางที่จะมีการสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่อุดมสมบูรณ์สูง มีสัตว์ป่าคุ้มครองอาศัยอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด คือ เก้งหม้อ เลียงผา สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน ถนนคอนกรีตจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและมีอุบัติเหตุรถแล่นชนสัตว์ป่าบ่อยครั้ง

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนยืนยันว่าการตัดถนนคอนกรีตไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า และจำเป็นต้องสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่

หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนและคัดค้าน ก็ได้ข้อสรุปสองทาง หนึ่งเลือกซ่อมแซมถนนเฉพาะบางจุดที่เสี่ยงอันตราย ไม่ปลอดภัย สองปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ทำอะไรกับถนนเส้นนี้ อนาคตหากประเมินดูแล้วว่าไม่ปลอดภัยก็จะไม่อนุญาตให้นำรถขึ้นไป ใช้วิธีเดินเท้าขึ้นไป

ถนนในป่าอนุรักษ์ ความพอดีอยู่ทีไหน ? ยังเป็นคำถามสำคัญที่รอคำตอบทั้งที่แก่งกระจานและผืนป่าอนุรักษ์อื่นๆ
(ภาพ : เฟสบุคอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (Kaeng Krachan National Park))

10 ปิดอ่าวมาหยาไม่มีกำหนด

เริ่มต้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยา และอ่าวโละซามะในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ไม่ให้มีการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมใดๆ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน 2561 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

โดยมีการปลูกปะการังมากกว่า 1,000 กิ่ง ปลูกป่าบกบนพื้นดินบริเวณอ่าว หลังจากครบกำหนดแล้วทางนักวิชาการเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่คืนสู่สภาพที่น่าพอใจ ยังมีทรายหน้าอ่าวไหลลงสู่ทะเล มีการทรุดตัวและพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาด จึงขยายเวลาปิดอ่าวออกไปอีก 1 เดือน

เมื่อครบกำหนดก็ยังไม่น่าพอใจ จึงขยายวันปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ว่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวเกาะพีพี โดยชี้ว่าทำให้นักท่องเที่ยวที่จองโปรแกรมทัวร์เข้ามาล่วงหน้าไม่สามารถไปเที่ยวได้โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น และเป็นการตัดสินใจโดยไม่สอบถามความคิดเห็นของชาวเกาะพีพี ทิศทางของการอยู่ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์กับการท่องเที่ยวจึงต้องจับตามองต่อไป

(ภาพ : เฟสบุคอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่)