เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : สัมภาษณ์
สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ
“เมื่อก่อนอาตมาอ่านนิตยสารหลายเล่ม แต่ปัจจุบันมีเวลาน้อยลง เหลือแค่ สารคดี, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และ Time เท่านั้นที่เป็นมิตรรักกันแบบต้องอ่านทุกฉบับ กับ สารคดี นั้นมีความผูกพันค่อนข้างลึกซึ้งและยาวนาน เห็นได้จากช่วงหนึ่งมีการเปลี่ยนหัวหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าทำไมไม่ถามฉันก่อน น่าจะถามคนอ่านว่าชอบกันมั้ย รู้สึกแปลกๆ เพราะไม่ติดเนื้อต้องใจเหมือนหัวแรกๆ ที่ซื้ออยู่ นี่แสดงให้เห็นว่าเรารู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ สารคดี ไปแล้ว ซึ่งคงไม่สามารถรู้สึกเช่นนี้กับหนังสือทุกเล่มได้ง่ายๆ
“ไม่ได้เป็นสมาชิกเพราะผูกพันกับการเดินไปซื้อที่แผงมากกว่า และไม่อยากรอไปรษณีย์เพราะบางครั้งมาถึงในสภาพไม่ดีนัก ปัจจุบันอาตมาอยู่เชียงรายเป็นส่วนใหญ่ ก็ซื้ออ่านที่เชียงราย แต่ถ้ามากรุงเทพฯ ก็ซื้อซ้ำไว้อ่านที่กรุงเทพฯ อีก บางฉบับที่น่าสนใจมากก็ซื้อหลายเล่มเลยก็มี ไปงานสัปดาห์หนังสือทุกปีจะมุ่งไปที่บูท สารคดี ไปรื้อกอง สารคดี เก่าๆ หาเล่มที่ขาดไป
“เท่าที่จำได้เริ่มอ่าน สารคดี ตอนเป็นสามเณรอยู่ที่เชียงราย และติดตามอ่านเรื่อยมา เหตุผลคือ สารคดี ตรงกับรสนิยมการอ่านของอาตมาที่ชอบอ่านงานศาสนา ปรัชญา วิชาการ ประวัติศาสตร์ กวีนิพนธ์ และโบราณคดี ซึ่ง สารคดี มีเกือบครบทุกอย่าง ยอมรับว่า สารคดี เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตการอ่าน เป็นเสมือนสารานุกรมหรือห้องสมุดส่วนตัวซึ่งเติมเต็มโลกการอ่านของอาตมาได้มาก เพราะชีวิตของอาตมาทำงานเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ปัญญา วิชาการ สารคดี อุดมไปด้วยความรู้ ความจริง แง่คิดมุมมองแปลกใหม่ มีทั้งความกว้างและความลึก คุ้มค่าในการลงแรงอ่านอย่างยากที่จะหาได้ในหนังสือเล่มอื่น
“ชอบสารคดีเกือบทุกเรื่อง แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคือเรื่องจตุคามรามเทพ ไม่ใช่เพราะอาตมาเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์ในเล่มนั้น แต่เพราะเรื่องนี้สะท้อนจิตวิญญาณของคนทำ คือหนึ่ง มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ลุกขึ้นมาสำรวจตรวจค้น วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอองค์ความรู้ในเรื่องซึ่งคนทั้งประเทศกำลังบ้าคลั่งและยังเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อซึ่งตามปรกติไม่มีใครกล้าแตะ สอง ไม่เพียงนำเสนอปรากฏการณ์ แต่ยังค้นลึกไปถึงเบื้องหลังด้วย การทำงานลักษณะนี้จะมีคุณต่อสังคมไทยในระยะยาว เพราะในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาสังคมไทยสนใจอะไรในระดับเปลือกผิว ไม่ค่อยสนใจในลักษณะสอบสวนทวนความตามแนวทางอิทัปปัจจยตา คือ ‘สิ่งนี้มีเพราะสิ่งนี้มี’ นั่นเป็นเหตุให้สังคมไทยเต็มไปด้วยความตื้นเขิน ถูกท่วมทับไปด้วยความคิดเห็นโดยไม่มีความรู้มารองรับ ซึ่งสื่อที่มีความกล้า ลึก และพร้อมหยัดยืนสวนกระแสอย่างนิตยสาร สารคดี ในเวลานี้หาได้ยากมาก
“อยากให้ผู้อ่านเลือกอ่านหนังสือที่มีความจริง ความรู้ ความลึก และมีประโยชน์ ความจริงทำให้เราไม่ต้องไปเพ้อฝัน ความรู้ทำให้โลกทัศน์ไม่คับแคบ มีข้อมูลมากพอที่จะเป็นเครื่องมือในการคิดวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและมีพลัง ความลึกทำให้สามารถพินิจพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลและฝึกตนเองให้เป็นคนไม่ผิวเผิน ประโยชน์
ทำให้เราคุ้มกับเวลาที่ได้ลงมืออ่านไป
“การอ่านหนังสือให้สนุกนั้นอาตมาใช้หลัก ๔ อย่าง คือ หนึ่ง อ่านเนื้อหา สอง อ่านความหมายระหว่างบรรทัด สาม อ่านแรงบันดาลใจ สี่ อ่านว่าเราจะเอาไปใช้ได้อย่างไร บางเรื่อง อย่างเรื่องการพับกระดาษ ลูกศิษย์ของอาตมาถามว่า สารคดี ทำเรื่องนี้ทำไมเนี่ย อาตมาก็บอกว่าลองอ่านก่อนมั้ย เมื่ออ่านแล้วถึงได้รู้ว่ามันไม่ธรรมดา โดยเฉพาะถ้าเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่นักเขียนไม่ได้ตั้งใจนำเสนอ สำหรับอาตมา การพับกระดาษมันอธิบายโลกทั้งโลก ณ เวลาหนึ่งได้เลยทีเดียว การพับกระดาษของ ซาดาโกะ ซาซากิ ทำให้อาตมาคิดไปถึงอาวุธนิวเคลียร์ สงครามโลกครั้งที่ ๒ บทบาทของอเมริกา และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในขณะนั้น ถ้าเรามีวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา ก็สามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องต่างๆ ได้หมด อย่างฉบับแพนด้าหลินปิง อาตมาอ่านแล้วก็ย้อนกลับมาอ่านสังคมไทยว่าทำไมถึงให้ความสำคัญกับแพนด้า ก็จะเห็นว่าปรากฏการณ์แพนด้าสะท้อนให้เห็นสังคมไทยที่อยู่ในภาวะไร้ที่พึ่ง เห็นถึงพลังของการตลาดว่ามีอยู่มากมายเพียงไร
“ความเห็นต่อ สารคดี ขณะนี้รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนนักเขียนหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งอาจมีผลดีที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ มีความหลากหลายให้ผู้อ่านได้เลือกเสพ ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามีช่องว่างระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียนมากขึ้น ทำให้การจดจำหรือความผูกพันลดลง เพราะไม่ทันได้สร้างสานความสัมพันธ์ก็ต้องทำความรู้จักกับคนใหม่อีก นักเขียนที่อาตมารู้สึกผูกพันก็เป็นคุณขวัญใจ เอมใจ ที่งานเขียนสารคดีของเธอนั้นมีลูกล่อลูกชน มีลีลาและท่วงทำนองการใช้ภาษาที่งดงาม นอกนั้นก็ถือว่าอ่านได้ทุกคน ตั้งแต่บทบรรณาธิการจนจบเล่ม
“เรื่องการเปลี่ยนกระดาษปกเป็นแบบไม่เคลือบพลาสติก สำหรับอาตมาไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ จริงอยู่ปกอาจจะไม่สวย ไม่คงทนเหมือนสมัยก่อน แต่อาตมาไม่ค่อยยึดติดว่าของจะต้องคงทนอยู่อย่างนั้นตลอดไป พูดง่ายๆ ว่าเราเข้าใจอนิจจัง ใดๆ ในโลกล้วนเปลี่ยนแปลง บอกตัวเองเสมอว่า มุ่งไปที่เนื้อใน อย่าติดใจอยู่แค่ปก”