ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่องและภาพ : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล

ความงามน่าอัศจรรย์ในเมือง “สตูล” มีมากกว่าเกาะหลีเป๊ะ

สัมผัสกับตัวเมื่อยล “เกาะเขาใหญ่” ภูเขาลูกเล็กกลางทะเล

ระยะทาง ๓ กิโลเมตร จากท่าเรือปากบาราในพื้นที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล คือที่ตั้งของเกาะเขาใหญ่-รูปทรงคล้ายปราสาทหิน จึงมีอีกชื่อเรียก “ปราสาทหินพันยอด”

แม้ตระหง่านมาหลายล้านปียังซ่อนเร้นจากสายตานักท่องเที่ยวที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราได้อย่างเหลือเชื่อ จนไม่นานนี้ทางอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับชาวชุมชนจัดก

ารการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ความงามของภูเขาหน้าตาคล้ายปราสาทหินจึงได้เผยโฉมสู่สาธารณะ

เป็นโอกาสให้นักพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเราได้มาสำรวจศักยภาพก่อนเพื่อประเมินให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน และนั่นทำให้รู้ว่าความงาม…เข้าถึงไม่ง่ายเลย

“ต้องลงเรือคายัค ถึงจะเข้าไปดูปราสาทได้ ส่งมือมาครับ ลงได้ลำละ ๒ คน”

ส่อง แสงสนิท นักสื่อความหมายหนุ่มจากชุมชนบ่อเจ็ดลูก ส่งสัญญาณจากบนเรือหัวโทงให้ชาวคณะเตรียมพร้อมสละเรือลำเดิมชั่วคราว

เบื้องหน้าปรากฏช่องแคบที่กว้างเพียงเรือคายัคลอดผ่านอุโมงค์หินได้ทีละลำ

เมื่อผ่านเข้าถึงตัวปราสาท ใครได้เห็นเป็นต้องตะลึงตาสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์

ทุกอย่างเริ่มเมื่อหลายล้านปีก่อนที่น้ำใต้ดินกัดเซาะและละลายหินปูนด้านล่างจนเกิดเป็นรูโพรงมากมาย ครั้นหินปูนยกตัวขึ้นโดยกระบวนการทางธรรมชาติจึงกลายเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีคุณสมบัติเด่นคือ “ละลายน้ำได้” เมื่อโพรงเพดานถูกน้ำฝนกัดเซาะจนบางลงเรื่อยๆ ก็รับน้ำหนักไม่ไหวจึงเกิดการยุบตัวลงกลายเป็นหลุมยุบในภูเขา บางส่วนกลายเป็นร่องลึก ท่ามกลางหินปูนคงทนอีกบริเวณที่ละลายน้ำได้ยากกว่าจึงปรากฏเป็นยอดแหลมคมเกิดขึ้นมากมาย คล้ายหลังคาปราสาทในเทพนิยาย

“ช่วงบ่ายที่น้ำลดจะเห็นหาดทรายเล็กๆ ตรงนั้นให้ยืนถ่ายรูปได้ครับ”

นักสื่อความหมายควบตำแหน่งฝีพายชี้จุดที่เป็นชายหาดยามน้ำลด

ภายในเหมือนกับท้องพระโรงปราสาท กว้างประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร ปูพรมด้วยสีเขียวมรกตของน้ำทะเล ด้านบนทะลุโปร่งมองเห็นสีท้องฟ้าตัดกันกับปลายยอดแหลมสีดำของปราสาท ตรงจุดที่เป็นหาดทรายในช่วงบ่าย ตอนนี้น้ำลึกระดับเอว เราพยุงตัวเดินบนพื้นทรายใต้น้ำยวบยาบเพื่อหาจุดถ่ายรูปกับประติมากรรมธรรมชาตินี้สักครั้งในชีวิต

“ที่นี่จะปิดเกาะช่วงหน้าฝนให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว อีกอย่างช่วงหน้ามรสุมมีคลื่นลมแรง อาจเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ แม้เหตุการณ์จะยังไม่เคยเกิดเพราะเราดูแลนักท่องเที่ยวอย่างดีก็เถอะ”

นอกจากความงามของสถานที่ ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญเมื่อจะประเมินศักยภาพบริหารจัดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะชุมชนที่มีกิจกรรมสุ่มเสี่ยงยิ่งต้องรัดกุม

ในฐานะนักพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เราได้พิสูจน์ศักยภาพของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่อย่าง “ปราสาทหินพันยอด” และความพร้อมรับมือของชาวบ้านที่มีใจจัดการด้านท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลัง พวกเขาพร้อมดูแลรับผิดชอบพื้นที่ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทยแล้ว

ในวันที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสตูลสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่จำนวนมหาศาล น่าเปิดใจมาเยือนชุมชนท่องเที่ยวน้องใหม่แห่งนี้สักครั้ง เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง

และสัมผัสความงามของแดนเทพนิยายแห่งภูเขากลางทะเลด้วยตาตนเอง


อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
อดีตนักเขียนและนักข่าว ที่หลงรักวิถีชีวิต ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และอาหารพื้นบ้าน จึงผันตัวมาเป็นนักพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกับ อพท. บ่อยครั้งที่ยังหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการขีดเขียนเรื่องราวที่ได้สัมผัสขณะลงพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไทย พร้อมหล่อเลี้ยงจิตใจจากการสะสมผ้าทอทุกชนิด

…….

สุชาดา ลิมป์ – บรรณาธิการคัดสรรเรื่องเล่าคอลัมน์ ณ ดอย
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน