เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
นอกจากตามอนุสรณ์สถานที่สร้างไว้รำลึกเหตุการณ์ริมฝั่งอันดามันวันนี้ดูไม่เหลือร่องรอยใดว่าเคยวิปโยคเมื่อ ๕ ปีก่อน
ที่บ้านน้ำเค็ม พังงา เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับความเสียหายหนัก บ้านเรือนพังราบหายไปยกหย่อมบ้านพร้อมชีวิตคนนับพัน เรือใหญ่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยค้างห่างฝั่งเป็นกิโลเมตร และวันนี้เรือเหล่านั้นได้ถูกแปลงไปเป็นอนุสรณ์สถานแล้วเช่นกัน
ผู้ดำเนินการสร้างซื้อที่ขนาดราวสนามฟุตบอลแถวใกล้โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ใช้รถเครน ๓ คันเคลื่อนเรือประมงลำสีฟ้าที่เคยเกยแนบอยู่บนชายคาบ้านหลังหนึ่ง กับอีกลำ-สีส้มที่ถูกพัดไปไกล ข้ามไปอีกฟากถนน ก็ถูกย้ายมาจอดไว้ด้วยกัน เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของชุมชนบ้านน้ำเค็ม
จากจุดนั้นออกไปจดฝั่งทะเล บ้านเรือนผุดขึ้นใหม่เต็มพื้นที่ แต่จำนวนหนึ่งก็ยังร้างผู้อาศัย
มองดูผิวเผินแค่ภายนอก ดูเหมือนว่าได้มีชุมชนใหม่เกิดขึ้นเต็มพื้นที่เดิมแล้ว แต่ถึงอย่างไรชุมชนที่เพิ่งผ่านภัยสึนามิมาครึ่งทศวรรษก็ยังไม่เหมือนเดิม
ที่ริมฝั่งบ้านน้ำเค็มมีอนุสรณ์สถานอีกแห่งตั้งอยู่ รายนามผู้เคราะห์ร้ายจำนวนหนึ่งที่หายไปกับเกลียวคลื่นอย่างไร้ร่องรอยได้ รับการจารึกไว้ที่นั่น
ถัดจากบ้านน้ำเค็มลงไปทางใต้ บนเส้นทางย่านบางสัก-เขาหลัก หลังเหตุการณ์สึนามิแถบนั้นพังราบ สิ่งปลูกสร้างกลายเป็นซากปรักและป่าช้า และเงียบเหงาวังเวงอยู่หลายปี แต่ก็เป็นอดีตไปแล้วในบัดนี้
เขาหลักในคืนวันเกิดใหม่คึกคักอย่างถนนในเมืองท่องเที่ยวโดยทั่วไป แสงสีและความครึกครื้นยามราตรีขนาบอยู่สองฟากทางหลวงหมายเลข ๔ ช่วงผ่านย่านเขาหลัก อาจทำให้คนต่างถิ่นที่ผ่านเข้าไปอยู่ในค่ำคืนเหล่านั้นเผลอไผลหลงลืมไปว่า ห่างฟากถนนลงไปไม่กี่ก้าวมีชายทะเลทอดตัวอยู่ใกล้ๆ ในความมืด
ภาพทำนองเดียวกันนั้นยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อข้ามไปทางฟากตะวันตกของเกาะภูเก็ต ป่าตองและกมลา สองหาดที่ถูกภัยคลื่นยักษ์ถล่มเสียหายหนักหน่วง บนชายหาดและแนวร้านรวงที่อยู่ชิดริมทะเลถูกคลื่นยักษ์กวาดล้างหักพังเกลื่อน กลาด ช่างภาพ สารคดี ที่มาบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันนั้นลงตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๔๘ หากมาเห็นในวันนี้เขาจะเห็นภาพที่นึกไม่ถึง และอาจพานไม่เชื่อสายตาตัวเอง
เมืองท่องเที่ยวได้เกิดขึ้นใหม่แล้ว และหนาแน่นไปทุกกระเบียดนิ้วดังเดิม นอกจากหอสัญญาณเตือนภัยสึนามิ กับประติมากรรมรำลึกสึนามิที่หาดกมลาแล้ว ก็ไม่เหลือร่องรอยใดให้เห็นเลยว่าแถบนี้เคยถูกกวาดล้างด้วยคลื่นยักษ์เมื่อ ๕ ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของชุมชนท้องถิ่น ชาวประมงพื้นบ้านดูจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ชุมชนเกิน ๒๐๐ แห่งจากทั้งหมด ๔๑๘ ชุมชนใน ๖ จังหวัดตลอดชายฝั่งอันดามัน เรือเกิน ๓,๐๐๐ ลำได้รับความเสียหาย รวมทั้งเครื่องมือประมง แต่ด้วยการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันเป็นกลุ่มและได้รับการหนุนเสริมที่เหมาะสม ชาวประมงพื้นบ้านจึงหยัดยืนขึ้นได้อย่างมีความหวัง และจะใช้วิกฤตที่เกิดจากภัยธรรมชาติเป็นโอกาสและเงื่อนไขในการสร้างชุมชนที่ เข้มแข็งกว่าเดิม
เรือประมงขนาดใหญ่ ๒ ลำที่ถูกคลื่นยักษ์พัดขึ้นมาค้างห่างฝั่งเป็นกิโลเมตร
แล้วไม่มีโอกาสได้กลับคืนสู่ผืนน้ำอีกเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดจบที่สูญเปล่า
เมื่อมันถูกเคลื่อนมาจำหลักเคียงกันไว้เป็นอนุสรณ์สถานสึนามิของหมู่บ้านน้ำ เค็ม จ.พังงา
เรือที่เสียหายได้รับการซ่อมแซมโดยอู่ซ่อมสร้างเรือชุมชน และได้กลับคืนผืนน้ำทั้งหมดตั้งแต่ครึ่งปีแรกหลังผ่านเหตุการณ์ แต่กิจกรรมกลุ่มชุมชนที่เหนียวแน่นยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ในหมู่บ้านชาวประมงหลายแห่งในจังหวัดสตูล อย่างบ้านตันหยงกลิง บ้านคลองดุกัง บ้านราไว บ้านปากบารา และบ้านอื่นๆ กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์แพชุมชน กองทุนหมุนเวียนเครื่องยนต์เรือและเครื่องมือประมง ยังดำเนินสืบเนื่องมาอย่างสัมฤทธิผล
ถัดขึ้นมาในแถบน่านน้ำตรัง ชาวประมง ๔ หมู่บ้านในเขตพื้นที่อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา ได้ร่วมมือกันทำเขตอนุรักษ์หน้าหมู่บ้านร่วมกัน แล้วเรียกตามสำเนียงพื้นบ้านคนปักษ์ใต้ว่า “เลเสบ้าน”
กำหนดขอบเขตโดยอาศัยหลักหมายตามธรรมชาติ ด้านบนตั้งต้นจากปากคลองฉางหลาง ในหมู่บ้านฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ลากเส้นผ่านกลางทะเลออกไปจดส่วนบนสุดของเกาะมุก เป็นแนวแดนด้านเหนือ ส่วนเขตแดนด้านใต้ก็ใช้ส่วนใต้สุดของเกาะมุก ขีดตรงไปจดปลายแหลมหยงหลิง ที่อยู่ทางใต้ของบ้านน้ำราบ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง โดยมีบ้านควนตุ้งกู อีกหมู่บ้านของตำบลเดียวกัน ตั้งอยู่ริมชายฝั่งระหว่างบ้านน้ำราบกับบ้านฉางหลาง แนวเขตด้านตะวันออกมีชายฝั่งเป็นเส้นแดนยาว ๑๕.๖๒ กิโลเมตร ขณะที่แดนทางตะวันตกด้านชายฝั่งเกาะมุกยาว ๘.๔๔ กิโลเมตร
ท้องทะเลพื้นที่ราว ๔๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒๗,๕๑๘ ไร่ ที่อยู่ระหว่างชุมชน ๔ แห่งนี้เอง คือเขตอนุรักษ์ “เลเสบ้าน” ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนสี่หมู่บ้าน
เขตอนุรักษ์ “เลเสบ้าน” เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยมีการทำวิจัยควบคู่กันมาด้วย ผลจากการศึกษาปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน
การตั้งชุดเฉพาะกิจทางทะเล (ฉก.) ของชุมชนขึ้นมาช่วยดูแลทะเลร่วมกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มีส่วนช่วยลดเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ทำให้ทรัพยากรทางทะเลไม่ถูกทำลายโดยอวนลาก อวนตาถี่ อวนทับตลิ่ง และการลักลอบตัดป่าชายเลนก็ลดลง ผลการปฏิบัติงานของชุด ฉก. มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ตามกองปะการังเทียมที่วางไว้ในเขตอนุรักษ์ เมื่อมีการดำน้ำสำรวจพบว่าเริ่มมีเพรียงเข้ามาเกาะ และมีสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลานานาชนิดเข้ามาอาศัย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวประมงที่เข้ามาตกปลาในบริเวณที่วางปะการังเทียม ว่าพบปลาเศรษฐกิจหายากอย่างปลาสาก ปลาอินทรีย์ เข้ามาอาศัย และพวกเขาก็ตกปลาได้มากขึ้นด้วย ทั้งในแง่ปริมาณและความหลากหลายของชนิดปลา แสดงให้เห็นถึงการช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศที่ดีของปะการังเทียม
ส่วนการเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการร่วมกันปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนนับพัน ไร่ในแต่ละหมู่บ้าน ก็ช่วยให้สัตว์น้ำมีแหล่งที่อยู่อาศัยมากขึ้น
แต่กิจกรรมที่น่าสนใจและเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของการอนุรักษ์เล เสบ้าน ได้แก่การศึกษาวิจัยปริมาณปูม้า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ชาวประมงใน ๔ หมู่บ้านจับได้มากที่สุด
การศึกษาวิจัยเริ่มต้นที่บ้านฉางหลางและบ้านน้ำราบ บ้านฉางหลางนั้นเป็นเขตที่มีการทำไซปูมากที่สุด และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องกองทุนสึนามิตั้งแต่ต้น และมีประวัติการหมุนเวียนคืนดีมีความน่าเชื่อถือสูง กองทุนเครื่องมือประมงจึงได้เสนอปรับเปลี่ยนขนาดตาอวนจาก ๑.๘ เซนติเมตรเป็น ๒ นิ้ว ด้วยความหวังว่าจะจับได้ปูที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยให้ผู้รับการสนับสนุนในช่วง ๔ เดือนแรก ได้รับสิทธิให้คืนทุนเพียงครึ่งหนึ่งของที่รับมา เป็นการสร้างแรงจูงใจ ส่วนที่บ้านน้ำราบ เป็นการศึกษาวิจัยปริมาณการเพิ่มขึ้นของปูม้า ภายหลังการทำกระชังปูม้าไข่นอกกระดอง เพื่อเพิ่มพันธุ์ปูม้ากลับสู่ธรรมชาติ ศึกษาเปรียบเทียบโดยอาศัยข้อมูลจากใบเสร็จรับเงินของแพรับซื้อสัตว์น้ำในพื้นที่
ตัวเลขที่ได้รายงานความจริงในภาพกว้างกว่า
ในปี ๒๕๔๙ ชาวประมงกลุ่มตัวอย่างที่ทำลอบปูม้า ๒๐ ราย จับปูม้าได้ทั้งสิ้น ๔๗,๓๔๐ กิโลกรัม รายได้เฉลี่ยจากการทำประมงลอบปูม้าวันละ ๑,๐๘๒ บาทต่อราย มูลค่าเฉลี่ยรวม ๓,๑๑๖,๑๖๐ บาทต่อปี
เมื่อมีการอนุรักษ์ ตัวเลขปริมาณปูม้าในปี ๒๕๕๐ เพิ่มขึ้นเป็น ๕๒,๙๕๖ กิโลกรัม รายได้เฉลี่ยของชาวประมงต่อครั้ง ๑,๑๗๖ บาท มูลค่าเฉลี่ยรวม ๔,๒๓๓,๖๐๐ บาทต่อปี
ส่วนผลการวิจัยจากการใช้ลอบปรกติกับลอบตาถี่ (ไซแดง) นำไปวางตามจุดต่างๆ ในคลองน้ำราบ ๘ จุด พบว่าปูม้าขนาดเล็กเข้าลอบตาถี่มากกว่าลอบปรกติ ขณะที่ปูม้าขนาดกลางและขนาดใหญ่จะถูกจับได้โดยลอบปรกติมากกว่าลอบตาถี่ในทุก จุด
เป็นข้อยืนยันว่าขนาดของตาอวนมีผลต่อขนาดของปูม้าที่จะเข้าสู่ลอบของชาวประมง
นอกจากนี้ผลจากการสุ่มวางลอบขนาดปรกติและลอบตาถี่ตามจุดต่างๆ ในคลองน้ำราบยังได้ข้อมูลว่า ปูม้าขนาดเล็กพบมากบริเวณต้นคลองที่พื้นเป็นดินโคลนปนทราย น้ำลึกไม่มาก มีเนินทรายอยู่บางช่วง และจะพบน้อยลงบริเวณปากคลองที่น้ำลึกมากขึ้น ขณะที่ปูม้าขนาดกลางพบมากในช่วงกลางคลอง และค่อยๆ ลดลงเมื่อออกสู่ปากคลองที่น้ำลึกกว่า ส่วนปูม้าขนาดใหญ่มีการแพร่กระจายอยู่หนาแน่นช่วงปากคลองที่มีน้ำลึก เป็นข้อมูลบ่งชี้ว่าปูม้าแต่ละช่วงวัยจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
ผลการศึกษาที่ได้อาจใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดเขตพื้นที่ห้ามทำประมงปูม้าใน บางฤดูกาล เพื่อให้มีแหล่งอนุบาลและแหล่งอาศัยของปูม้าวัยอ่อน ก่อนได้ขนาดที่เหมาะสมในการจับ
ส่วนการทำธนาคารปู หรือกระชังปูไข่นอกกระดองที่บ้านน้ำราบนั้น เป็นการสร้างกระชังขนาด ๑x๑ เมตร ให้สมาชิกคนละช่อง สำหรับปล่อยปูที่อุ้มท้องไข่ได้เพาะฟักตัวอ่อนก่อนจะนำแม่ปูออกไปขาย รวมทั้งยังมีกระชังของกลุ่มที่ช่วยรับซื้อปูนิ่มจากสมาชิกด้วย เนื่องจากปูนิ่มจะขายได้ถูกกว่าปูปรกติราวครึ่งหนึ่ง กลุ่มจะรับซื้อเลี้ยงไว้จนกระดองแข็ง จึงนำออกขายได้ราคาตามขนาดตัวปู
การศึกษาวิจัยทำในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐-มกราคม ๒๕๕๑ โดยเก็บข้อมูลจากแพรับซื้อสัตว์น้ำบ้านน้ำราบ พบว่า การทำธนาคารปูม้าและการนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาปล่อยไว้ส่งผลให้ปริมาณปู ม้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และมีส่วนที่อยู่รอดเติบโตจนถึงขนาดแรกจับ สามารถทดแทนรุ่นที่มีอยู่เดิม เพื่อสืบพันธุ์และวางไข่ได้อีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ ปริมาณปูม้าที่จับได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ปริมาณปูม้าในปีถัดไปมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ปริมาณปูม้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่า มาตรการในการอนุรักษ์ฟื้นฟูปูม้าด้วยการทำกระชังปูม้าไข่นอกกระดองมีส่วน ช่วยให้ทรัพยากรปูม้าสมบูรณ์และยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นหลักฐานของความสำเร็จที่เกิดจากการริเริ่มและลงแรงของชาวประมงในชุมชน โดยไม่ต้องคาดหวังหรือรอคอยการเข้ามาจัดการของรัฐ
ช่วงต้นปี ๒๕๕๓ พวกเขาเพิ่งได้รับหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรังที่ส่งถึงชุด ฉก. เนื้อหาเป็นเชิงสั่งการให้ชาวประมงช่วยกันดูแลพะยูนในแถบน่านน้ำตรัง
ชาวประมงหัวเราะขันๆ อย่างเอ็นดูต่อคำสั่งนั้น แล้วพูดกับคลื่นลมที่ริมชายทะเลราวจะฝากให้ได้ยินไปถึงคนในศูนย์ราชการ จังหวัดว่า ไม่ต้องสั่ง พวกเราก็ดูแลกันอยู่แล้ว แต่ให้ท่านน่ะดูเรื่องกฎหมายให้ดี
“ชุมชนช่วยเต็มที่ แต่มาตรการด้านกฎหมายยังอ่อนมาก เครื่องมือบางชนิดไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำลายล้าง นี่ทำให้เราลำบาก หรือบางทีจับผู้เข้ามาผิดได้ แต่ถ้าเป็นเรือของนายทุนเขาก็มาวิ่งเต้นเอากลับไป”
สำหรับชาวประมงแห่งน่านน้ำตรัง แม้เขาจะเพิ่งเริ่มต้นมาไม่นานปีกับงานรักษาทะเลไว้เพื่อชุมชนและสังคมส่วน รวม แต่พวกเขารู้จักและอยู่กับทะเลมาทั้งชีวิต
ตอนท้ายของการบอกเล่าถึงสิ่งที่พี่น้องชาวประมงใน ๔ หมู่บ้านลงแรงร่วมทำกันมา ประโยคหนึ่งเขาพูดถึงท้องทะเลหน้าหมู่บ้านด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่ใจความสุดคมคายจับใจ
เขาบอกว่า
อันที่จริงท้องทะเลนี้ไม่ใช่ของใครสักคน แต่เราต้องเป็นผู้ดูแล ถ้าไม่ช่วยกันจัดการดูแลก็หมด และตรงนี้ถึงเราเป็นผู้ดูแล ทุกคนก็เข้ามาหากินได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ตกลงกันไว้