ไม่นานมานี้มีผู้ไปคิดจัดหมวดหมู่ รวมเอาพระอรหันต์สามองค์ ได้แก่ พระสังกัจจายน์ พระสีวลี และพระอุปคุต เข้าไว้ด้วยกัน ในฐานะ “ไตรภาคี” แห่งพุทธสาวกที่โดดเด่นในทางให้ลาภผลแก่ผู้สักการะบูชา ถึงขนาดมีบางวัดสร้างรูปประติมาสามองค์เรียงแถวกันครบชุด ตั้งไว้ให้คนกราบไหว้ก็มี
ขณะที่พระสังกัจจายน์กับพระสีวลีนับเนื่องอยู่ในกลุ่มของ “อสีติมหาสาวก” พระสงฆ์สำคัญ ๘๐ รูปสมัยพุทธกาล ทว่าพระอุปคุตนั้น แตกต่างออกไปตรงที่ท่านมิได้อยู่ร่วมยุคกับพระพุทธเจ้า แต่เป็นพระอรหันต์รุ่นหลังพุทธกาลลงมา
ใน “ปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่าเรื่องพระอุปคุตไว้ในปริเฉทหรือบทที่มีชื่อว่า “มารพันธปริวรรต” กล่าวถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จอมกษัตริย์ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนาในอินเดีย ว่ากาลครั้งนั้น พระเจ้าอโศกจะทรงกระทำการสมโภชพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ทรงเกรงว่าพญามารจะมา “ป่วน” พิธี จึงมีผู้เสนอแนะให้นิมนต์พระอุปคุตผู้มีฤทธิ์มาดูแลความสงบเรียบร้อย
พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ที่ปลีกตัวออกห่างจากหมู่สงฆ์ ตามปกติเข้าฌานอยู่ ณ ปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร แต่ท่านก็ยินดีรับหน้าที่นี้ และด้วยฤทธิ์เดช พระอุปคุตจึงสามารถทรมานพญามารที่เคยมารบกวนตั้งแต่เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่ ให้ละพยศ เสียจนพญามารตั้งอธิษฐานปรารถนาในพุทธภูมิ คือประสงค์จะได้ตรัสรู้เยี่ยงพระพุทธเจ้าบ้าง
ความศรัทธาเลื่อมใสพระอุปคุตแพร่หลายมากในฝ่ายพม่ารามัญ ตลอดจนทางล้านนาและภาคอีสาน ถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันภยันตรายนานา ตามเค้าเรื่องใน “ปฐมสมโพธิกถา” ที่ท่านแผลงฤทธิ์สยบมารร้ายนั่นเอง
ตามความเชื่อฝ่ายพม่าซึ่งแพร่เข้ามาในล้านนาด้วย ถือกันว่าพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ช้าๆ นานๆ ก็จะขึ้นจากปราสาทแก้วใต้ทะเลของท่าน มารับบาตรในเมืองมนุษย์ ดังนั้น หากใครได้ใส่บาตรพระอุปคุตผู้เป็นพระอรหันต์ก็จะได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ได้ลาภผลต่างๆ เป็นอันมาก
เคยอ่านพบว่าทางภาคอีสาน ก่อนงานบุญผะเหวด (พระเวสสันดร) จะมีพิธีอัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงาน โดยให้ไปเอาก้อนหินก้นแม่น้ำมาสมมติ ตั้งเป็นประธานในหอพระอุปคุต ครั้นพอเสร็จพิธีก็ส่งกลับคืนลงน้ำไป ดูเรียบง่ายและจริงใจดี ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับเรื่องตามตำนานอีกด้วย
แต่คนโดยทั่วไปคงอยากเห็นอะไรที่เป็นตัวเป็นตนมากกว่าแค่ก้อนหิน
รูปร่างหน้าตาของพระอุปคุตที่สร้างกันขึ้นมาเดี๋ยวนี้ มักทำตามแบบของพม่า คือเป็นรูปพระสงฆ์ประทับนั่งสมาธิ บางทีก็มีใบบัวปิดเหนือเศียร ที่ฐานทำเป็นรูปกอบัวพร้อมด้วยสัตว์น้ำนานา ตามตำนานที่ว่าท่านพำนักอยู่ในปราสาทแก้วกลางทะเล นอกจากนั้นก็มีที่ทำเป็นพระสงฆ์นั่ง มีบาตรวางอยู่บนตัก มือขวาอยู่ในบาตร หันหน้ามองท้องฟ้า อธิบายกันว่าหมายถึงพระอุปคุตท่านพำนักอยู่ใต้ทะเล จึงไม่ทราบเวลา ระหว่างฉันภัตตาหารจึงต้องแหงนหน้ามองดูดวงตะวันว่าจะถึงเวลาเพลหรือยัง ด้วยฤทธิ์ของท่าน พระอาทิตย์ถึงกับต้องหยุดรอให้ท่านฉันเสร็จเสียก่อน จึงค่อยเคลื่อนต่อไป
ตามวัดทั่วไปในเมืองพม่า มักเห็นรูปพระอุปคุตปางนี้ ประดิษฐานอยู่ในปราสาทเล็กๆ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ
ส่วนในเมืองไทยกลับไปอุปโลกน์กันว่านี่คือปาง “จกทรัพย์” พร้อมให้ความหมายว่าเป็นเรื่องของ เงิน-เงิน-เงิน อีกตามเคย!