ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : ป้าเขียว
ภาพ : Yook Samai Brand, จักรชัย แสนหาญชัย และ ปาริฉัตร อนุดีเก้า
ในห้องเล็กบนตึกสูงชั้น ๑๙ ใจกลางเมืองเมลเบิร์น
ฉันสไลด์จอมือถือดูรูปเพื่อนชาวม้งที่ได้กลับบ้านร่วมกิน “ข้าวใหม่” ใบหน้า แววตา บรรยากาศรอยยิ้มสดใสของผู้คนที่ขมีขมันเตรียมข้าวใหม่อย่างมีความสุข ชวนให้คนไกลถิ่นรู้สึกคิดถึงครอบครัวจับใจ
ในวัยเด็ก ฉันมักตื่นเต้นเมื่อถึง “เทศกาลกินข้าวใหม่” สนุกที่ได้ออกไปทุ่งนาช่วยพี่น้องในชุมชนลงแขกเกี่ยวข้าวช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นพิธีมงคลที่จะได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บรรพบุรุษ และญาติมิตรมาทานอาหารเฉลิมฉลองผลผลิตในฤดูที่ผ่านมา และร่วมอวยพรให้พืชผลที่จะปลูกในฤดูกาลต่อไปอุดมสมบูรณ์
ภาษาม้งบ้านเราเรียกเทศกาลนี้ว่า “น่อ หมอ เบล้ ช้า” (noj mov nplej tshab)
เป็นการเกี่ยวข้าวเปลือกที่เมล็ดโตเต็มที่และมีสีเหลืองสุกขณะที่เมล็ดยังไม่แห้งดี ถ้าแกะเปลือกจะยังมีน้ำนมข้าวอยู่เล็กน้อย หลังนวดข้าวแล้วจะนำเมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาคั่วให้แห้งจึงนำไปสีเปลือกออก ค่อยหุงเป็นข้าวสวย เวลานั้นหากใครเดินผ่านหม้อหุงข้าวจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ จากน้ำนมข้าวติดจมูกชวนให้หิว
เป็นสัญญานว่าพิธีกรรมแห่งจิตวิญญานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำลังเริ่ม
เมื่อข้าวพร้อม แต่ละบ้านจะเตรียม “เนื้อไก่ต้มเกลือ” ตามขนบดั้งเดิม
สมัยก่อนจะนำไก่บ้านเป็นๆ ที่แต่ละครัวเรือนเลี้ยงไว้มาประกอบพิธี แต่ปัจจุบันนิยมซื้อไก่เป็นๆ จากตลาดมาประกอบพิธี จำนวนขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละครอบครัว หรือประเมินจากจำนวนแขกเหรื่อที่ต้องการเชิญมาร่วมทานอาหาร ครอบครัวขนาดเล็กหรือมีกำลังจ่ายน้อยอาจใช้ไก่เพียงตัวเดียวก็ได้ เพียงนำมาต้มพอสุกแล้วปรุงรสด้วยเกลือเป็นอันใช้ได้แล้ว เพราะชาวม้งดั้งเดิมไม่นิยมกินอาหารปรุงแต่งรสนัก
ไก่ต้มเกลือคือเมนูสำคัญของพิธีเซ่น “ดรั๊ง คัว” (dlaab qhuas) ผู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน และ “ปู้ ก๊ง เหย่อ จื๋อ” (puj koob yawm txwv) บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะเป็นพิธีใดที่เกี่ยวกับความเชื่อมักมีเมนูนี้เสมอ
หลังเสร็จพิธี แต่ละครัวเรือนอาจนำไก่ต้มเกลือไปดัดแปลงเมนูให้มีรสชาติจัดจ้านขึ้น เช่น นำไปทำลาบ ผัดกะเพรา น้ำพริกเครื่องใน ต้มยำ หรือเมนูอื่นตามสมัยนิยม ส่วนฉันยังชอบไก่ต้มเกลือสูตรดั้งเดิม แค่เหยาะพริกไทยดำและโรยใบสมุนไพรบางชนิดเพิ่ม พอคิดถึงรสชาดทีไรก็อดน้ำลายสอไม่ได้
อีกคุณค่าหนึ่งของเทศกาลนี้คือนอกจากเป็นกุศโลบายให้ลูกหลานที่ทำงานไกลบ้านได้กลับมาเยี่ยมเยือนพ่อแม่ กินข้าวพร้อมหน้า ยังได้ถือโอกาสชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมาอวดฝีมือปลายจวักและอิ่มท้องไปพร้อมเพรียง เป็นมื้ออบอุ่นที่ทั้งคนเป็น-คนตายจะได้กลับมาร่วมบันทึกความสุขบนปฏิทินชาวม้ง
น่าเสียดาย ปีนี้ฉันไม่มีโอกาสกลับบ้านไปกินข้าวมื้อแรกของฤดูกาลกับครอบครัว
ได้แต่ซึมซับความอิ่มเอมผ่านภาพถ่ายของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่แข่งกันอวดความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งนาและบรรยากาศเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับวันจะยิ่งเหลือน้อยลงและอาจหาดูยากในยุคถัดไป
ถึงอย่างนั้นเมื่อหลับตาแล้วสูดลมหายใจลึกๆ ก็คล้ายได้กลิ่นข้าวใหม่อยู่ตรงหน้า
เพราะกลิ่นหอมของความรักในบ้านยังติดหัวใจ ไม่เคยระเหยไปจากความทรงจำ
ป้าเขียว
คือชื่อที่เพื่อนเรียกมากกว่าชื่อไทย รัตนา ด้วยดี หรือชื่อม้ง Nplaim Thoj (บล่าย ท่อ) อาจเพราะเป็นหนอนหนังสือตัวเล็กๆ ที่หลงรัก “สีเขียว” เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเกิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เชื่อว่า “บ้าน” คือที่ไหนก็ได้ที่มีความรักและความสบายใจ
…….
สุชาดา ลิมป์ – บรรณาธิการคัดสรรเรื่องเล่าคอลัมน์ ณ ดอย
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน