วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี



เก็บคำคนในวงการสารคดี เป็นของขวัญปีใหม่ แด่ทุกคนในแวดวงการอ่านการเขียน

อยากชวนสลักคำมั่นสัญญาบนแผ่นผา ปีหน้าฟ้าใหม่โลกจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เราจะยังเขียนและอ่านหนังสือกันต่อไป!

“งานสารคดีเป็นงานที่เหนื่อยยาก เราไม่ใช่แค่นักฝัน แต่ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องลงพื้นที่ ใช้ทุน ปฏิภาณไหวพริบ การผจญภัย ต้องใช้หลายอย่างกว่าจะได้มา และถ้าถือว่าอรรถรสเป็นคุณสมบัติของงานวรรณกรรม สารคดีก็เป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่ง เพระอ่านเอารสก็ได้ และได้อรรถประโยชน์ด้วย”

อรสม สุทธิสาคร
ราชินีสารคดีเมืองไทย

“ในทัศนะของคนที่ทำงานเขียนเชิงสร้างสรรค์เป็นหลักอย่างผม ไม่มองอย่างนั้น ผมคิดว่าสารคดีเป็นงานเขียนที่ควรแก่การพูดถึงให้มากกว่านี้ และโดยตัวของมันเองแล้ว หาได้มีฐานะเป็นวรรณกรรมชั้นสองเลย ในทางตรงข้ามมันกลับมี ‘ตัวตน’ ที่ทางที่ชัดเจน นี่ไม่นับรวมถึงบทบาทหน้าที่ทางสังคมอันโดดเด่น เป็นรูปธรรมและจับต้องได้กว่างานเขียนอีกหลายประเภท สารคดีค้นคว้า ขุดคุ้ย ตีแผ่ เปิดเผย และนำเสนอเรื่องราวอีกมากมาย ที่นักวิชาการไม่เคยสนใจศึกษาค้นคว้าออกมาให้สังคมได้รับรู้ เรื่องบางเรื่องส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง หลายเรื่องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว และอีกหลายต่อหลายเรื่องได้ก่อให้เกิดสำนึกที่ดีงามขึ้นในจิตใจของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นสำนึกในมนุษยธรรม สำนึกในเชิงนิเวศและอนุรักษ์ธรรมชาติ มองในแง่นี้แล้ว สารคดีดูจะ ‘ทำงาน’ มากกว่างานเขียนเชิงสร้างสรรค์ด้วยซ้ำไป”

ไพฑูรย์ ธัญญา
นักเขียนซีไรต์

“เมื่อข้าพเจ้าผ่านไปในดินแดนของภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ หรือชนเผ่าภูเขา ข้าพเจ้าเดินทางไปในฐานะของผู้เรียนรู้มิใช่ผู้รู้ คำแห่งสารคดีของข้าพเจ้าจึงไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับทางวิชาการ ข้าพเจ้าไม่ได้ยึดมั่นกับสิ่งที่เรียกว่าวิชาการหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ คำของข้าพเจ้าไม่ใช่วรรณกรรม ไม่ใช่ภาษากวี ไม่ใช่สัจธรรม มันเป็นเพียงความรู้สึกแห่งประสบการณ์ทางจินตนาการ ซึ่งข้าพเจ้าไต่บันไดแห่งการเรียนรู้ ลึกเข้าไปในสิ่งที่เรียกว่าแม่น้ำ ต้นไม้ ภูเขา คนพื้นเมือง แสงแดด สายลม ฝน ความมืด ตลอดจนโลกอันแตกต่างหลากหลายของมวลชีวิต ฯลฯ เพราะข้าพเจ้าไม่เชื่อความรู้ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้มากับเรา…มีเพื่อนบางคนกล่าวกับข้าพเจ้าว่านักเขียนจะต้องเขียนเรื่องสั้นและนิยาย แต่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือโดยไม่รู้สึกเช่นนั้น ข้าพเจ้าคงไม่ใช่นักเขียนถ้าโลกของนักเขียนจำกัดกันอยู่แค่นั้น ถ้าโลกของนักเขียนคือการประดิษฐ์งานฝีมือจากตัวอักษร คือการอวดฝีมือแข่งขันกันในกะลาแคบๆ หรือถ้าโลกของนักเขียนคือการเขียนเพื่อยังชีพ ข้าพเจ้าอาจเป็นเพียงนักเดินทางที่บันทึกประสบการณ์การค้นหาจิตวิฯญาณของตัวเอง ที่ถูกลบเลือน ถูกทำให้สาบสูญ การกลับไปหาโลกดั้งเดิมในพื้นที่ถิ่นขุนเขาและแม่น้ำ คือการเรียนรู้และค้นพบส่วนที่หายไป”

คืน ญางเดิม
จากหนังสือ “สัญจรสู่สาละวินฯ”


“ผมบอกเสมอว่าให้ใช้ ‘ก้อนกรวดอธิบายพื้นพิภพ’ ในพื้นที่มี ก้อนกรวด อยู่เยอะแยะ อยู่ที่ว่าจะเอาเม็ดไหนมาขัดให้แวววาว และอธิบายโลก คนะเป็นนักเขียนสารคดีต้องตั้งคำถามกับโลกกับสังคม ตั้งคำถามเพื่อจะหาคำตอบ นักสารคดีต้องไม่พอใจกับคำตอบง่ายๆ ต้องค้นหลักฐาน ถ้าขัดแย้งกันก็เสนอทั้งสองด้าน งานจะหนักแน่นขึ้น ต้องเป็นนักค้นคว้าด้วย บางเรื่องไม่ต่างจากงานวิจัย”

ธีรภาพ โลหิตกุล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี)


“สารคดี เป็นเส้นบาง ๆ ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริง หลักการสำคัญคือต้องเชื่อถือได้ เพราะงานสารคดีต้องอยู่บนความจริง แต่ความจริงก็ต้องตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าเวลาเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าความจริงบางอย่างก็เปลี่ยนไปด้วย ต้องยอมรับข้อมูลที่เปลี่ยนไป ในแง่นี้ต้องรับว่ามันยากกว่างานที่เป็นเรื่องแต่ง เพราะมันมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้จินตนาการเอาได้ ต้องตรวจสอบข้อมูลอยู่ตลอดเวลา แล้วการเขียนเรื่องจริงให้สนุกนี่มันก็ยาก การเขียนให้มีเสน่ห์ก็อาจจะยากกว่าเรื่องแต่ง ที่คนเขียนคิดอะไรก็ไปได้หมด นี่คือข้อจำกัดของการเขียนสารคดี…อย่าไปติดกับดักกับข้อมูลข่าวสารที่เรารับรู้มาตลอดเวลาว่านั่นคือ ความจริงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะความจริงเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามข้อมูลที่เพิ่มขึ้น สื่อที่ดีต้องไม่ติดยึดกับความจริงหรือข้อมูลที่เห็นแค่วันนี้ ว่านั่นเป็นความจริงนิรันดร์ที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร สารคดี

……….

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา