เครื่องรางอย่างหนึ่งซึ่งมีคำเรียกเฉพาะอันยังไม่อาจสืบค้นได้ว่ามาจากภาษาอะไรกันแน่ คือ “ปลัดขิก” หรือที่บางทีในหนังสือเก่าๆ เรียก “ขุนเพ็ด” ก็มี
เครื่องรางชนิดนี้ทำเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ส่วนใหญ่มักทำจากไม้ แต่ที่เป็นโลหะ หรือวัตถุธาตุอย่างอื่นๆ ก็มี นิยมทำ “ตัว” ย่อมๆ และลงคาถาอาคมกำกับ จึงมีพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในทางสร้างปลัดขิกมากมาย
หลายคน (เข้าใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นบุรุษ) นิยมก็ห้อยท่านปลัดไว้กับเอว คงด้วยเห็นว่าเป็น “ของต่ำ” ไม่เหมาะไม่ควรจะเอาไปห้อยคอ รวมกับวัตถุมงคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น เช่นพระเครื่องหรือเหรียญพระเกจิต่างๆ ซึ่งถือเป็น “ของสูง”
หลักฐานทางภาษาบ่งชี้ว่าปลัดขิกนี้เป็นของที่นิยมนับถือ หรือต้องมีติดตัวกันมานานในหมู่ชายไทยทุกระดับ จนถึงขนาดมีการบัญญัติไว้ในหมวดราชาศัพท์ด้วย ให้เรียกว่า “ทองพระขุน”
เคยเห็นบางท่านพยายามเชื่อมโยงคติเรื่อง “ปลัดขิก” เข้ากับ “ศิวลึงค์” ในศาสนาฮินดู ซึ่งมีคติการสร้าง “ลึงค์” หรืออวัยวะเพศชายของพระศิวะมหาเทพ แต่อันที่จริงการนับถืออวัยวะเพศ-ทั้งชายและหญิง ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการก่อกำเนิด เป็นคติเก่าแก่ดึกดำบรรพ์มาก พบหลักฐานจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั่วโลก “ปลัดขิก” จึงอาจจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ “ศิวลึงค์” เสมอไป เพราะทั้ง “ปลัดขิก” และ “ศิวลึงค์” ก็ล้วนมีฐานคิดร่วมรากเหง้าเดียวกันเท่านั้นเอง
แต่ดั้งเดิมนั้น ปลัดขิกคงย่อมหมายความถึงการเจริญงอกงาม ทวีคูณ จึงมักพบเห็นแม่ค้าหลายรายเก็บงำปลัดขิกอันเล็กๆ ไว้ในกระป๋องหรือกล่องเก็บสตางค์ ให้เงินทองเพิ่มพูน
เครื่องรางทำนองนี้ ทางภาคเหนือก็มี แต่ทำ “ตรงไปตรงมา” ยิ่งขึ้นอีก คือทำเป็นรูปชายหญิงตัวจิ๋วๆ กอดรัดสมสู่กัน เรียกว่า “ฮีน” ครูบาอาจารย์ทางนั้นที่ให้มา ท่านกำชับว่าให้เอาใส่ในที่เก็บเงิน เพื่อ “เรียกทรัพย์” เหมือนกัน
นอกจากจะมีฐานะเป็นวัตถุมงคลแล้ว ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หลายแห่งก็ว่ากันว่าต้องบนบานบูชาด้วยปลัดขิก นิยมทำอันใหญ่ๆ ทาสีแดงแป๊ด ไปตั้งถวายไว้ นัยว่ายิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่สมัยนี้บางทีก็ทำให้โลดโผนขึ้น เช่นจำแลงมาอยู่ในรูปร่างของเครื่องบิน ใส่ปีกใส่หางให้ด้วย แขวนไว้เต็มศาล
ปลัดขิกกลุ่มนี้มีชื่อเฉพาะเรียกกันว่า “ดอกไม้” หรือ “ดอกไม้เจ้า”