คนโบราณในที่ราบลุ่มภาคกลาง มีชีวิตผูกพันกับอาหารหลัก คือ “ข้าว” กับ “ปลา”
ในอดีต ปลาน้ำจืดถือเป็นอาหารโปรตีนที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ ไม่ต้องเพาะเลี้ยง และที่สำคัญคือคนโบราณรู้สึกสะดวกใจที่จะทุบหัวมาทำกับข้าว เพราะเป็นสัตว์ไม่มีมือมีตีน ไม่ค่อยรู้สึกว่าบาปมากนัก อย่างที่มีสำนวนว่า (ฆ่ากัน) “เหมือนผักเหมือนปลา”
ปลาชนิดหนึ่งที่ดูเหมือนแต่ก่อนจะโปรดปรานเป็นพิเศษ คือปลาตะเพียน ซึ่งว่ากันว่าต้องกินช่วงหลังเกี่ยวข้าว เพราะเป็นเวลาที่ปลาจะอร่อย อย่างที่เรียกว่าเป็นระยะแห่ง “ข้าวใหม่ปลามัน” จนถึงกับมีเรื่องเล่าลือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ว่าเมื่อครั้งรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงมีพระราชนิยมเสวยปลาตะเพียนเป็นที่ยิ่ง จนถึงแก่ออกพระราชกำหนด ห้ามราษฎรผู้ใดจับหรือบริโภคปลาตะเพียนเป็นอันขาด
ปลาตะเพียนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และชีวิตในอุดมคติ ด้วยเหตุนั้นจึงอาจนำมาสู่การสร้างเครื่องรางรูปปลาคู่ เป็นปลาตะเพียนสองตัว ทำด้วยโลหะสีเงินกับสีทอง เรียกว่า “ตะเพียนเงินตะเพียนทอง” ใช้ห้อยแขวนในร้านในเรือ คือมีทั้งปลาตะเพียน อันหมายถึงความอิ่มหมีพีมัน ผนวกรวมด้วย “เงิน-ทอง” เข้าไปอีก เหมาะควรแก่การเป็นเครื่องรางของพ่อค้าแม่ขาย
แม้แต่ปลาตะเพียนสานอย่างที่แขวนเป็นพวง ผูกไว้เหนือเปลให้เด็กแบเบาะนอนดูเล่น ก็น่าจะมีนัยความหมายเป็นเครื่องรางแห่งชีวิตทำนองนี้ด้วย
นอกจากความหมายเชิงความอุดมสมบูรณ์แล้ว เมื่อดูจาก “คาถา” กำกับตะเพียนเงินตะเพียนทอง เช่นที่ว่า “ปลาตะเพียน ช่างเวียนช่างแวะ ขายดิบขายดี มั่งมีเยอะแยะ” ส่อนัยให้เห็นว่าปลาตะเพียนในเครื่องรางนี้ อาจกินความต่อไปด้วยว่าเป็นเหมือนลูกค้าที่จะแวะเวียนเข้ามาไม่หยุดไม่หย่อน
เครื่องรางอีกชนิดหนึ่งที่มีฐานความคิดเดียวกันนี้ แต่มีรูปร่างและความหมายแตกต่างไป คือ “ไซ”
ไซเป็นเครื่องมือจับปลาที่เป็นเครื่องสาน ทรงกระบอก แต่ลักษณะเฉพาะที่ทำให้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องราง “ดักทรัพย์” ก็เพราะไซมี “งาแซง” เป็นไม้ไผ่ชิ้นยาวๆ ปลายเรียวคล้าย “งา” อย่างงาช้าง นำมาสานไขว้กันไว้เป็นวง เพื่อให้ปลาเข้าได้อย่างเดียว แต่จะย้อนศรกลับออกทางเดิมไม่ได้ จึงเหมาะควรแก่การเป็นเครื่องรางเรียกลูกค้า คือมีแต่ได้อย่างเดียว ไม่มีเสีย
คนโบราณดูเหมือนจะเชื่อว่า ไซ เป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไม้สอยที่มีอิทธิฤทธิ์พิเศษ มีผีหรือเป็นที่สิงสถิตของ “ผี” ได้ ถึงขนาดหลายถิ่นมีประเพณีเข้าทรงผีด้วยไซ หรือบางถิ่นก็เรียกว่า ลอบ หรือลอบไซ
บางตำราจึงว่าไซดักทรัพย์นี้ ถ้าจะให้ขลังต้องใช้อันที่เคยใช้จับปลาจริงๆ มาก่อน เอามาแขวนในที่สูง หันหน้าออกทางหน้าบ้านหน้าร้าน ผูกผ้าสีๆ หมั่นเซ่นไหว้บูชา เอาเงินใส่ข้างในไว้ด้วยนิดหน่อยพอเป็นพิธี แต่เดี๋ยวนี้ก็เห็นมีที่ทำเป็นขนาดจิ๋วๆ บางทีก็มีตะเพียนเงินตะเพียนทองแขวนไว้ด้วยกันเลย แขวนอยู่ตามหน้ารถเข็น หรือแม้แต่รถตู้รถแท็กซี่
แต่ที่เคยเห็นเมื่อไม่นานมานี้ คือไซขนาดยักษ์ เหมือนลูกปลาวาฬตัวย่อมๆ ตั้งไว้ให้ใส่เงินบริจาคตามงานวัด
นี่คงถือเป็นวิวัฒนาการล่าสุดของ “ไซดักเงินดักทอง”