วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี

คำว่า สารคดี ในวงการงานเขียนเมืองไทยใช้กันใน ๒ ความหมาย

ใช้เรียกงานเขียนประเภทหนึ่งที่ให้ข้อมูลความรู้ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ในการอ่าน ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Feature

กับอีกความหมายขยายขอบเขตกว้างครอบคลุมงานเขียนกลุ่ม Non-Fiction ทั้งหมด โดยมีคำว่า บันเทิงคดี (Fiction) เป็นคู่ตรงข้าม

โดยความหมายอย่างหลังทำให้บ่อยครั้งเกิดความลักลั่นสับสน เพราะหากถือนิยามตามนี้ สารคดี จะกินคลุมงานเขียนกลุ่ม “เรื่องไม่แต่ง” ทั้งหมด

แต่ในความเป็นจริงเราก็รู้เห็นและยอมรับกันอยู่ว่า ซีกโลกวรรณกรรมด้านเรื่องไม่แต่งมีทั้ง ข่าว เรียงความ ความเรียง บทความ ตำรา งานวิจัย สารคดี ฯลฯ ซึ่งต่างมีลักษณะเฉพาะของตน

แวดวงบรรณพิภพไทยจึงจำต้องยอมรับกันไปแบบงุนงงๆ ว่า สารคดี (Feature) เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งในกลุ่ม สารคดี (Non-Fiction) หรือกลุ่มเรื่องไม่แต่ง


การใช้คำว่า สารคดี ครอบคลุมงานกลุ่มเรื่องไม่แต่ง (Non-Fiction) ทั้งหมด ถือเป็นความจริงแบบ “ครึ่งเดียว” คืองานเขียนทุกประเภทในกลุ่มนี้ล้วนต้องยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริงโดยเคร่งครัด ข้อนี้นับเป็น “จุดร่วม” แต่นอกจากนี้แล้วแต่ละประเภทงานในกลุ่มเรื่องไม่แต่ง ยังมี “จุดต่าง” ที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงของตนต่างกันไป สารคดี (Feature) ก็ต่างจากงานวิจัย บทความ ความเรียง แม้ว่าต่างก็เป็นงานเขียนที่ยึดโยงอยู่กับข้อเท็จจริง

ผู้อ่านทั่วไปก็คงรู้กันอยู่แล้ว แต่ผมขอบันทึกซ้ำไว้ในที่นี้เป็นต้นร่างที่รอการยืนยันความหมายชัดเจนแน่นอนจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นทางการต่อไป

ข่าว เป็นงานเขียนเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ เรื่องราวที่อุบัติขึ้น เน้นเร็วทันการณ์ กระชับ เข้าใจง่าย หัวใจหลักให้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร

เรียงความ ถือเป็นงานเขียนพื้นฐานที่ใช้ฝึกเขียนเรื่องเล่าร้อยแก้ว สั้น ง่าย ไม่ซับซ้อน โครงสร้างเรื่องประกอบด้วย ๓ ส่วน บทนำ เนื้อเรื่อง สรุป

ความเรียง เรื่องเล่าร้อยแก้วที่ขยายรายละเอียดและลงลึกในมิติต่างๆ มากกว่าเรียงความ ทั้งฉาก เหตุการณ์ อารมณ์ มุมมอง ความรู้สึก ประสบการณ์ สิ่งที่ผู้เขียนผ่านพบ โดยอาจเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เรียงความเป็นงานที่เด็กๆ ใช้หัดเขียน แต่ความเรียงคนโตที่เขียนหนังสือเป็นแล้วก็ยังเขียนกันได้

บทความ เป็นงานเขียนที่เน้นแสดงความคิด ความรู้ ความเชื่อ ทัศนะต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งยังเน้นการโน้มน้าวใจให้เห็นคล้อยตาม ด้วยการอ้างหลักการ ตรรกะ เหตุผล ข้อมูล การวิเคราะห์แนวโน้ม ฯลฯ เพื่อให้ผู้อ่านเชื่อและยอมรับตามที่ผู้เขียนเสนอ

ตำรา งานเขียนเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้รู้จัก เข้าใจ ทำเป็นในเรื่องนั้นๆ นอกจากหนังสือเรียน ตำราวิชาการ ที่คนทั่วไปต่างเคยใช้กันมาในชั้นเรียน หนังสือคู่มือประเภทต่างๆ อย่าง คู่มือทำอาหาร คู่มือคอมพิวเตอร์ คู่มือการปลูกต้นไม้ ก็จัดอยู่ในกลุ่มตำรา

งานวิจัย งานเขียนจากการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผ่านกรอบเกณฑ์แบบแผนตามหลักวิชาการ อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อ้างอิงได้

สารคดี ความหมายอย่างสั้นที่สุดคือ ความจริงอิงความงาม

เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนที่มุ่งให้ข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริงที่ไม่เติมแต่ง ผ่านลีลาภาษาที่มีวรรณศิลป์ ได้ความเพลิดเพลินรื่นรมย์การการอ่าน และที่สำคัญคือได้ความรู้ด้วย

สารคดีที่กลมกล่อมลงตัว มาจากการผสานกันขององค์ประกอบ ๒ ส่วนคือ ข้อมูล และกลวิธีการนำเสนอ

และนอกจากนี้ในงานสารคดียังมีส่วนประสมของงานเขียนประเภทอื่นอีกหลากหลายเจืออยู่ด้วย

สารคดีต้องมีข้อมูลชัดเจนเช่นงานข่าว ต้องศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์ข้อมูล ลงพื้นที่ ไม่ต่างจากงานวิจัยภาคสนาม และในการเขียนสามารถใส่มุมมองความเห็น ความรู้สึกของผู้เขียน แต่ต้องไม่มากเกินจนหลุดจากความเป็นสารคดี กลายเป็นบทความ ความเรียง หรือรายงานข่าว

ความก้ำกึ่งทับซ้อนกันอยู่ระหว่างงานเขียนแต่ละประเภท ทำให้บางทียากจะแยกแยะได้แบบชัดเจน แต่การรู้กรอบเกณฑ์กว้างๆ ไว้บ้างก็จะช่วยให้เห็นแนวทางเบื้องต้น และเลี่ยงพ้นความไขว้เขวกระทั่งหลุดลอยจากเป้าหมาย ตั้งใจจะเขียนงานอย่างหนึ่ง แต่ผลงานกลับออกมาเป็นอีกอย่าง ซึ่งจะได้ลงรายละเอียดกันต่อไป

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา