เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ไทม์ไลน์ ๔ ปี ของ “PM2.5” ฝุ่นอันตราย
ถนนบางนาตราด เขตบางนา กรุงเทพฯ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ราวปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรู้จัก PM2.5 กันอย่างแพร่หลาย เรื่องราวของฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วชนิดนี้ยังถือว่าใหม่มากในสังคมไทย

PM ย่อมาจากคำว่า “particulate matter” หมายถึง ฝุ่นละออง ส่วน PM2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน หรือเล็กกว่า ๑ ใน ๒๕ ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของมนุษย์ ทำให้ขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยโดยทั่วไปไม่สามารถกรองได้

เมื่อ PM2.5 เข้าสู่ร่างกายทางโพรงจมูกจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบเส้นเลือด ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง ฯลฯ

ในช่วงเวลานั้น แม้ PM2.5 จะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ แต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่พิจารณาเอา PM2.5 มาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย

ค่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) เป็นตัวเลขที่ใช้รายงานคุณภาพอากาศเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าอากาศสะอาดหรือสกปรกเพียงใด

ที่ผ่านมาการคำนวณของประเทศไทยพิจารณาจากค่าโอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๑๐ ไมครอน หรือ PM10 ทำให้ไม่แสดงค่าคุณภาพอากาศที่แท้จริงและครบถ้วน ยกตัวอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง ดัชนีคุณภาพอากาศตาม PM10 เท่ากับ ๖๓ แสดงผลคุณภาพอากาศระดับปานกลาง แต่ถ้าหากนำ PM2.5 มาพิจารณาจะเท่ากับ ๑๕๗ เป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

การนำ PM2.5 มาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศของประเทศไทยจึงมีความสำคัญ

ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑

หนึ่งในองค์กรที่เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษนำค่า PM2.5 มาใช้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องคือ Greenpeace Thailand ภายใต้ชื่อโครงการรณรงค์ “ขออากาศดีคืนมา” (Right to Clean Air) ตามแนวคิดที่ว่า “อากาศดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรได้รับ”

ข้อเรียกร้องของ Greenpeace Thailand ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการใช้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 มาคํานวณดัชนีคุณภาพอากาศ โดยติดตั้งและรายงาน PM2.5 ทุกสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ ปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2), ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) และฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งPM10 และPM2.5 ให้สอดคล้องกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก

ทั้งนี้ในปี ๒๕๔๘ องค์การอนามัยโลกได้ออกข้อแนะนำในการกำหนดเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย ๑ ปี ต่อกรณี PM2.5 เป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ๓๕, ๒๕, ๑๕ และ ๑๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะนำไปปฏิบัติ
 
ต่อมาในปี ๒๕๕๓ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ดำเนินการตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนดค่า PM2.5 เฉลี่ย ๑ ปี ไม่เกิน ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด PM2.5 ในปีต่อมา หากแต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่มีการนำค่า PM2.5 มาใช้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศในประเทศไทย

ตัวอย่างสารพิษที่ปะปนอยู่ใน PM2.5 ได้แก่

P-A-Hs เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ ทำให้เป็นมะเร็ง

ปรอท เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน สามารถระเหยเป็นไอ ทำลายระบบประสาท ทำให้เป็นอัมพาต มะเร็ง จนถึงเกิดความผิดปรกติทางพันธุกรรม ทำร้ายทั้งคนและสัตว์โดยเฉพาะเด็กที่กำลังโต

สารหนู เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเหมือง การทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาฆ่าแมลง ทำให้เกิดโรคผิวหนัง ทำให้รู้สึกมึน ตัวชา อยากอาเจียน เข้าสู่ระบบประสาท และทำอันตรายต่อปอด

แคดเมียม เป็นโลหะหนัก เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหมืองแร่ สังกะสี ทองแดง และตะกั่ว ทำร้ายส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร กระดูก

อาคารสูงและที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้ฝุ่นควัน

ในปี ๒๕๖๐ จากการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่ามลพิษอากาศในประเทศไทยเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงราว ๕๐,๐๐๐ รายต่อปี ประชากรไทยต้องเผชิญกับอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก โดยมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ ๑๙ แห่งใน ๑๔ พื้นที่ทั่วประเทศเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุด

พื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือที่ สระบุรี ๓๖ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ย่านธนบุรีในกรุงเทพมหานคร ๓๑ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดขององค์การอนามัยโลกถึงสามเท่าตัว ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง ๒๕-๓๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งหมด ๑๔ พื้นที่ที่มีการตรวจวัดค่ามลพิษนั้นต่างมีระดับมลพิษสูงกว่าค่าจำกัดสูงสุดขององค์กรอนามัยโลกทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ๙ จาก ๑๔ พื้นที่ยังมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีแห่งชาติ

ปลายปี ๒๕๖๐ เรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยอีกแล้ว อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษยังไม่นำ PM2.5 เข้ามาใช้วัดคุณภาพอากาศ

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นักกิจกรรมของกรีนพีซ ประเทศไทย มอบ “นาฬิกาฝุ่น” ที่มีลักษณะเป็นนาฬิกาทรายบรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษให้กับกรมควบคุมมลพิษและรัฐบาล รวมทั้งเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้จัดการวิกฤติฝุ่นละอองของประเทศ ผ่านไปสองเดือนก็ได้รับจดหมายตอบกลับจากอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เนื้อความว่าขอขอบคุณกรีนพีช และจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณาต่อไป

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ กรมควบคุมมลพิษเริ่มทดสอบระบบการรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ โดยปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ PM2.5 ในการคำนวณ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม การรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศใหม่นี้เป็นการรายงานโดยใช้ค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าคุณภาพอากาศเป็นเช่นนั้นตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากจากการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมง ซึ่งจะระบุถึงคุณภาพอากาศในชั่วโมงนั้นๆ

โดยปรกติแล้วค่า PM2.5 จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงตลอดเวลา ทั้งจากอิทธิพลของกระแสลม เม็ดฝน ทำให้การรายงานค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมงไม่ตอบสนองต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศ

ด้วยเหตุนี้กรีนพีซ ประเทศไทย จึงเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำรายงานดัชนีคุณภาพอากาศซึ่งรวม PM2.5 โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศ

อาคารสูงและที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้ฝุ่นควัน

นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการนำเอา PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย

แม้จะเรียกได้ว่าว่าเป็นช่วงทดลองระบบ ยังไม่พิจารณาถึงดัชนีคุณภาพ PM2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมง แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่ประชาชนไทยจะได้ทวงคืนสิทธ์ในการหายใจเอาอากาศดี ๆ เข้าไป

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศลงมือแก้ปัญหาจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

ปลายปี ๒๕๖๑ ต่อเนื่องถึงต้นปี ๒๕๖๒ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายคนต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นพิษก่อนออกจากบ้าน ต้องเช็คคุณภาพอากาศรายชั่วโมงจากแอพลิเคชั่นในโทรศัพท์หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง คนวัยทำงาน และอีกหลายๆ คนที่ต้องเผชิญมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ 

ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาบ้างแต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และไม่ได้ตกหนักอย่างต่อเนื่องจนสามารถลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๒.๕ ไมครอนหรือ PM2.5 ลงได้มากนัก

ถึงเวลานี้ประชาชนเริ่มตระหนักถึงอันตรายจาก PM2.5 ที่ถือเป็นฝุ่นพิษอันตราย เป็นภัยไร้พรมแดนที่สามารถล่องลอยไปตามพื้นที่ต่างๆ ยากต่อการรับมือ

ขณะที่หน้ากากป้องกันมลพิษกลายเป็นสินค้าหายาก ขาดตลาดและมีราคาแพง

หลายคนเริ่มตระหนักคุณค่าของการมีอากาศบริสุทธิ์ที่สามารถสูดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มปอด

พร้อมๆ กับเริ่มหันกลับมามองว่าการป้องกัน PM2.5 ที่ดีที่สุดคือการลดมลพิษ ไม่ใช่ใส่หน้ากาก