วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
๑
ในประโยคภาษาไทยไม่มี , และ . เราแทนด้วยการใช้ วรรคเล็ก และวรรคใหญ่
หากพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือพิมพ์ดีด วรรคเล็ก คือ ๑ เคาะ วรรคใหญ่ ก็เคาะ ๒ ครั้ง
ไม่ใช่แค่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัยเท่านั้น นักอ่านนักเขียนฝึกหัดวัยผู้ใหญ่เท่าที่มีโอกาสได้คุยด้วยในเรื่องนี้ จำนวนหนึ่งก็บอกว่า ไม่เคยรู้ว่าการเขียนมีวรรคเล็ก วรรคใหญ่ รู้แค่ว่าต้องเว้นวรรคเท่านั้น
๒
ในระดับพื้นฐาน การเขียนเว้นวรรคที่ถูกต้องจะทำให้สื่อสารได้ตรงความหมายที่จะสื่อได้ดียิ่งขึ้น
ผู้ใหญ่คนหนึ่งเขียนถึงเด็กสาวชั้นหลานที่เพิ่งได้พบกันอีกครั้ง หลังจากห่างกันไปนานว่า
ไม่ได้เจอกันตั้งนานนม โตขึ้นเยอะ
หากเว้นวรรคผิดเป็นว่า
ไม่ได้เจอกันตั้งนาน นมโตขึ้นเยอะ
ก็อาจถูกด่าว่าเป็นคนเฒ่าหัวงูไปได้
หรืออย่างประโยคคำพิพากษาว่า ยกโทษให้ไม่ได้ประหารชีวิต
เว้นวรรคใหม่ว่า
๑. ยกโทษให้ไม่ได้ ประหารชีวิต
๒. ยกโทษให้ ไม่ได้ประหารชีวิต
อยู่ที่คนเขียนต้องการจะสื่อสารในความหมายใด ในกรณีนี้นับได้ว่า หากเว้นวรรคผิดชีวิตเปลี่ยนเลยทีเดียว
๓
การเว้นวรรค ตระหนักรู้และฝึกได้ไม่ยาก
แต่ในชั้นที่ประณีตขึ้น คือการฝึกเชื่อมและจบประโยคด้วยวรรคเล็ก วรรคใหญ่ ซึ่งหากข้ามไปหรือไม่ให้ความใส่ใจต่อรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ก็ไม่ถึงกับเสียความ แต่งานเขียนจะงามและอ่านง่ายขึ้นได้รสมากยิ่งขึ้น หากผู้เขียนได้เสริมความประณีตในเรื่องนี้
ยากที่จะชี้ว่าตรงไหนควรเป็นวรรคเล็ก วรรคใหญ่ อาจบอกเพียงกว้างๆ ได้ว่า วรรคเล็กเมื่อเว้นคำหรือจบประโยค วรรคใหญ่เมื่อขึ้นใจความใหม่ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ถึงกับเป็นที่เด็ดขาดตายตัว ขึ้นกับวิจารณญาณของผู้เขียน เพียงแต่ให้คำนึงถึงจังหวะการอ่าน ได้พักหายใจ ได้ใจความ รู้สึกปลอดโปร่งสบายในการอ่าน
หากทำได้ลงตัว วรรคเล็กและวรรคใหญ่จะช่วยขับเน้นความหมายของสารได้แจ่มชัดขึ้น ช่วยเน้นความหนักเบาของถ้อยคำ
การตัดคำและเชื่อมประโยคยังทำให้เกิดลีลาภาษาและรูปประโยคใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการรู้จักใช้วรรคตอน
๔
ย่อหน้า อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญนักสำหรับงานเขียนทั่วไป ในหนังสือต่างๆ เราจึงมักเห็นย่อหน้าใหญ่ๆ ในแต่ละหน้ามักจะมีไม่กี่ย่อหน้า
แต่ในงานวรรณศิลป์ร้อยแก้ว มักขึ้นย่อหน้าใหม่บ่อยๆ ลองหยิบหนังสือหนังสือวรรณกรรมขึ้นมาสักเล่ม ไม่ว่าเรื่องสั้น นิยาย บทกวี จะเห็นการย่อหน้าถี่ๆ เหมือนเส้นกราฟแนวตั้ง แต่ละหน้ามีมากย่อหน้า
ทั้งนี้เพราะย่อหน้าก็มีผลต่อรสในการอ่าน และใจความของเรื่องด้วย
นักเขียนใหม่มักโอดว่าขึ้นย่อหน้าไม่ถูก ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรจะเริ่มย่อหน้าใหม่
อาจลองฝึกจากหลักเบื้องต้นดังนี้
๑. ย่อหน้าเมื่อขึ้นประเด็นใหม่
บางทีย่อหน้ายาวๆ เกิดจากการเขียนใจความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็ลองปรับใหม่ว่าเมื่อกล่าวถึงเรื่องใหม่ก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ทันที
อีกอย่างคือลองตัดคำเชื่อม จำพวก ที่ ซึ่ง อัน และ ก็ แล้ว กับ ฯลฯ แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่ตรงนั้น ลองทำแล้วจะเห็นรูปธรรม
นอกจากได้ย่อหน้าที่กระชับกะทัดรัดขึ้นแล้ว ย่อหน้าที่แยกย่อยจะช่วยทำให้ประเด็นชัดขึ้นด้วย จากที่เคยซุกซ้อนแออัดรวมกันอยู่ในย่อหน้าเดียว การจัดย่อหน้าใหม่จะแยกประเด็นเรียงไล่กันไปเป็นเป็นลำดับ อ่านเข้าใจง่ายชวนติดตาม
๒. ย่อหน้าแสดงบทสนทนา
เป็นวิธีการง่ายๆ คือแทนที่จะเขียนประโยคสนทนาระหว่างใครต่อใคร ต่อเนื่องอยู่ในย่อหน้าเดียวกันไปแบบยาวๆ ก็เพียงแต่ให้ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่ออีกคนพูด ในย่อหน้าหนึ่งให้เป็นเสียงของคนเดียว รวมทั้งเมื่อผู้เขียนบรรยายความ หรือมีอย่างอื่นแทรกเข้ามาก็ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ด้วย
โดยวิธีการนี้ นอกจากช่วยให้อ่านง่ายสบายตา เข้าใจความได้ง่ายขึ้น ย่อหน้ายังมีส่วนเสริมส่งการดำเนินไปของเรื่องด้วย คนอ่านจะเห็นการโต้ตอบกันของตัวละคร (แหล่งข้อมูล, ผู้เขียน) ท่าที อารมณ์ บรรยากาศที่แปรเปลี่ยน สิ่งที่โผล่แทรกเข้ามา ซึ่งจะเห็นและรู้สึกได้ชัดเจนขึ้นตามจังหวะไล่หลั่นของย่อหน้า
๓. ย่อหน้าเพื่อเน้นความ
คำ หรือประโยคดีๆ หากอยู่ไม่ถูกที่อาจหลงตาเลือนหาย ข้อความสำคัญที่ต้องการเน้นจึงต้องวางไว้ให้เด่น-ด้วยการย่อหน้า
ในงานวรรณศิลป์จึงมักเห็นและเป็นไปได้ที่บางย่อหน้ามีเพียงคำเดียว หรือประโยคเดียว ในหนึ่งย่อหน้านั้น
การสร้างเสริมวรรณศิลป์ด้วยวรรคและย่อหน้า ไม่ถึงกับจะนับเป็นกฎเกณฑ์ และยากที่จะชี้แนะความถูกผิดแบบตายตัว แต่หากอ่านงานเขียนดีๆ อย่างจับสังเกต และลองฝึกทำซ้ำๆ จะค่อยคล่องจนรู้จังหวะว่าจะจัดวรรคตอนอย่างไรและควรขึ้นย่อหน้าใหม่ตอนไหน