ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ธงกฐิน - เครื่องรางคนค้าขาย ตอนที่ 11

มีคติแต่โบราณที่ถือกันว่าการอุทิศ “ธง” ถวายเป็นพุทธบูชา ถือเป็นมหากุศลอย่างหนึ่ง

ธรรมเนียมนี้ดูจะเกือบสูญไปแล้วในภาคกลาง เหลือแต่ธงพุทธบูชาที่พบเห็นกันบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งคือธงรูปจระเข้ ซึ่งเป็นธงอย่างที่เรียกว่า “ทิว” คือธงผืนยาว ห้อยลงทางตั้ง แขวนเล่นลม ทุกวันนี้มักเห็นกันแต่เฉพาะในงานทอดกฐิน เช่นมีปักตามหน้าวัดที่ได้รับกฐินแล้ว และโดยมากก็ต้องปักคู่กับธงรูปนางเงือก ธงเต่า และธงตะขาบด้วย

เรื่องธงจระเข้ในงานกฐินนี้มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่ากาลครั้งหนึ่งมีเศรษฐีขี้เหนียว ไม่เคยทำบุญสุนทาน เมื่อตายไปแล้วจึงไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือจระเข้ เกิดสำนึกบาปบุญคุณโทษขึ้นมาได้ ตั้งใจจะทำบุญบ้าง บังเอิญไปไม่ถึงวัด จึงฝากคนให้ช่วยทำรูปจระเข้เป็นธงแทนตัว ร่วมทำบุญไปด้วย

แต่ดูท่าทางแล้ว ตำนานเรื่องนี้คงเกิดขึ้นทีหลังเพื่ออธิบายเรื่องธงจระเข้ ซึ่งเป็นของเก่าแก่

ในพระบวรราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสด็จฯ ยกทัพผ่านไปถึงเมืองราชบุรี ปี ๒๓๖๓ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์บนเขาสัตนาถ แล้วโปรดฯ ให้ทำธงจระเข้ถวายไว้บูชา มีความว่า “รุ่งขึ้นบ่ายลมตก ชวนกันยกไปเขา สัตนารถเนาวิหาร นมัสการพระประทม ปักธงลมอุทิศถวาย ห้อยเรียวปลายจระเข้ ต้องลมเร่ปลิวสะบัด ดูโสมนัสน่าศรัทธา”


นั่นคือท่านถวายธงจระเข้บูชาพระ โดยห้อยไว้ให้ปลายธงโบกสะบัด คือเป็น “ทิว”อย่างที่ว่า
แต่ทำไมต้องบูชาพระด้วยธงจระเข้ ?

ดูเหมือนยังไม่เคยเห็นใครอธิบายที่มาดั้งเดิมของธงหรือ “ปฏาก” รูปจระเข้นี้ว่าเป็นมาอย่างไร ถ้าจะลองสันนิษฐานดู ก็ต้องเริ่มจากข้อสังเกตว่า ในสมุดข่อยโบราณ ช่างมักเขียนภาพพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณี” คือมวยผมของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จออกผนวชไว้ พระจุฬามณีเจดีย์ถือเป็น “พระธาตุ” องค์สำคัญในโลกทัศน์คนไทย ในสมุดข่อยหลายเล่ม ตรงลานข้างพระเจดีย์มักปักธงจระเข้ขนาบไว้สองข้าง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ได้หมายความว่ามีใครไป “จองกฐิน” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หากแต่ธงรูปจระเข้นั้นเองคือการสักการะพระจุฬามณี

บนท้องฟ้ายามค่ำ มีดาวดวงหนึ่งที่แสงสุกสว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ชื่อทางไทยเรียกกันว่า ดาวยอดมหาจุฬามณี ด้วยเชื่อกันว่าดาวที่เห็นนั้นคือยอดของพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ ส่วนชื่อฝรั่งเรียกดาวดวงนี้ว่า “อาร์กทูรัส” (Arcturus) นักดูดาวอธิบายว่า วิธีหาดาวยอดมหาจุฬามณี ให้มองหาดาวจระเข้ (หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ของฝรั่ง) ก่อน แล้วลากเส้นต่อตรงหางยาวไปเรื่อยๆ ก็จะพบ

ใน “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ยังให้นางสุวรรณมาลีสอนสินสมุทและอรุณรัศมีดูดาวชุดนี้ต่อเนื่องกัน

           “นั่นแน่แม่ดูดาวจระเข้      ศีรษะเหหกหางขึ้นกลางหาว
         ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว      เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี”

ดังนั้น ธงรูปจระเข้แต่เดิมก็น่าจะหมายถึงกลุ่มดาวจระเข้นั่นเอง เครื่องสักการะพระจุฬามณีเจดีย์จึงต้องทำเป็นธงรูปจระเข้ แล้วเลยพลอยทำธงรูปจระเข้ไว้บูชาพระพุทธเจ้าสืบต่อกันมา กระทั่งความหมายเลื่อนไป เหลือแค่เป็นธงบอกงานกฐินอย่างในบัดนี้

ไปๆ มาๆ ธงกฐินรูปจระเข้ที่ญาติโยมได้กลับมาจากงานกฐิน ต่อมากลับกลายเป็นเครื่องรางทางค้าขายด้วย นัยว่าทำให้ทำมาค้าขึ้นดีด้วยอานิสงส์กฐิน ทีหลังจึงมีคนคิดทำเป็นธงเล็กๆ หรือเป็นผ้ายันตร์ผืนน้อยพิมพ์ลายจระเข้ลายนางเงือกแบบธงกฐินห้อยตามตู้ในร้านค้าอย่างที่เห็นกันทั่วไป