เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒ สำนักข่าวชายขอบ (http://transbordernews.in.th) รายงานข่าวการเสียชีวิตของ สิดิษ ประมงกิจ ชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนที่อาศัยอยู่บนเกาะเหลา จังหวัดระนอง
สิดิษไม่ใช่คนมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนทำงานด้านการเรียกร้องสิทธิ ต่างรับรู้ว่าชายวัย ๗๐ ปีคนนี้คือแกนนำชาวมอแกนบนเกาะเหลา ที่ต่อสู้เรื่องที่ดินชุมชนและสุสานมายาวนาน
ถึงอย่างนั้นเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ตัวเขาเองก็แทบจะไม่มีแม้แต่สถานที่ฝังศพ เมื่อชาวบ้านนำศพกลับมาประกอบพิธีกรรมและเตรียมฝังร่างบริเวณสุสานมอแกน ตำแหน่งเดียวกับเคยฝังร่างบรรพบุรุษมอแกนบนเกาะเหลา กลับมีนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินสุสาน ออกประกาศว่าไม่อนุญาตให้ฝัง ถ้าไม่ทำตามจะดำเนินคดี
เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลถูกปฏิเสธการฝังศพที่สุสาน และไม่ใช่ปัญหาเดียวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
นับตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก ผ่านช่วงชีวิตเกิด แก่ เจ็บ และตาย สิ่งที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งอันดามัน อาจทำให้ชาวเลอันดามันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกหลงลืมมากที่สุด
เกิด
ชาวเลอันดามัน หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดระนองลงมาถึงจังหวัดสตูล แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย
นับแต่อดีต ชาวเลทั้ง ๓ กลุ่ม เดินทางอพยพโยกย้ายไปตามเกาะแก่งต่างๆ ยังชีพด้วยการจับสัตว์น้ำ และเก็บผลหมากรากไม้เป็นอาหาร
หมัด ประมงกิจ ชาวเลกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ยที่ตั้งรกรากอยู่บนหาดแหลมตง เกาะพีพีดอน จังหวัดกระบี่ เล่าว่าบรรพบุรุษของพวกเขาล่องเรือมาจากมาเลเซีย บางกลุ่มก็มาจากอินโดนีเซีย เจอเกาะที่ไหนก็แวะพักที่นั่น
“บรรพบุรุษของเราอาศัยมาหมดแล้วทุกเกาะแก่งในภาคใต้ ไม่ว่าเกาะไหง เกาะกระดาน เกาะลันตา เกาะลิบง เกาะรอก ก่อนจะตั้งรกรากบนฝั่งตะวันตกของเกาะพีพี” หมัดเล่า
ชาวเลทั้ง ๓ กลุ่มต่างมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเฉพาะที่ผูกพันใกล้ชิดกับชายฝั่ง เช่น พิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต พิธีบูชาเสาหล่อโบงและหลาโต๊ะของชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ประเพณีนอนหาดของชาวอูรักลาโว้ยทางตอนบนของเกาะภูเก็ต บนชายหาดที่ทุกวันนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ
ปัจจุบันชาวเลส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวอูรักลาโว้ยและชาวมอแกลนได้รับสัญชาติไทยและถือบัตรประชาชนไทย เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานถาวร ติดต่อกับทางราชการสะดวก ต่างจากกลุ่มชาวมอแกนที่ยังคงอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ การติดต่อสื่อสารกับทางราชการยังยากลำบาก หน่วยงานรัฐเองก็เห็นว่าชาวมอแกนเป็นเพียงกลุ่มเร่ร่อนกลุ่มเล็กๆ จึงไม่ได้สนใจมากนัก
ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอยู่ในสถานะ “ตกสำรวจ” เกิดจากสมัยก่อนกลุ่มชาวเลมีวิถีชีวิตที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง ประกอบกับทางราชการไม่ให้ความสำคัญ จึงทำให้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิสัญชาติไทย ส่วนหนึ่งถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ หรือ “บัตรเลขศูนย์” ที่ไม่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่า ค่ารักษาพยาบาล การเดินทางออกนอกพื้นที่อยู่อาศัย
แก่
“พ่อผมหาปลาเก่ง สอนให้ผมดำน้ำ พออายุ ๑๕ ผมดำน้ำได้นาน พ่อก็ชวนไปจับปลาที่ป่าตอง ล่องเรือขึ้นตอนบนของเกาะภูเก็ต ผ่านระหว่างภูเก็ตกับพังงา เลยไปถึงอ่าวปอ หาดยาว เกาะยาวใหญ่ ไม่ได้กลับบ้าน ๔-๕ วัน ครบรอบเกาะถึงได้กลับ นอนเอาแรง ๒-๓ วันก็ออกไปจับปลาต่อแถบหมู่เกาะพีพี”
เกลี้ยง หาญวารี ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยบนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งออกทะเลหาปลากับพ่อ
แต่ก่อนเกลี้ยงและพ่อเคยเข้าถึงทรัพยากรตลอดแนวชายฝั่ง ไม่มีที่ใดเป็นเขตหวงห้าม แต่ปัจจุบันพื้นที่หน้าหาด เกาะแก่งล้วนถูกจับจอง มีผู้ถือกรรมสิทธิ์แสดงตนเป็นเจ้าของ สร้างเป็นโรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งมีที่ได้รับประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่อนุรักษ์
ชาวเลถูกสั่งไม่ให้เข้าไปจับสัตว์น้ำในพื้นที่ที่เคยทำมาหากินมาก่อน ชาวอูรักลาโว้ยที่หาดราไวย์เคยมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางทะเลมากถึง ๒๕ จุด ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ จุด คือหาดราไวย์และเกาะราชา
เกลี้ยงเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนเราเคยหากินริมฝั่ง แต่พอความเจริญเข้ามา พื้นที่ที่เคยจับปลา งมหอย กลายเป็นที่ท่องเที่ยวไปหมด เราต้องออกไปหากินไกลกว่าเดิมหลายกิโลเมตร ต้องดำน้ำลึก ๔๐-๕๐ เมตร ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะได้ปลาดี เพราะน้ำลึกมีออกซิเจนน้อย”
กล้วย หาญทะเล ชาวมอแกลนที่อาศัยอยู่ที่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอีกคนหนึ่งทีถูกกีดกันออกจากพื้นที่ที่เธอเคยใช้ชีวิตมาตั้งแต่วัยเด็ก หญิงชาวมอแกลนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ขับไล่ขณะวางอวนหาปลาในขุมเขียว พื้นที่สาธารณะมีชื่อเรียกเฉพาะในกลุ่มมอแกลนมานานว่า “ปาดังก่อมะเฒ่านึ่ง”
“ฉันเข้าไปวางอวนในขุมเขียว มันมายึดข้าวห่อฉัน เอาหมากพลูของฉันไปหมดแล้วไล่ฉันอย่างกับหมูกับหมา ฉันว่าจะไม่ถอย แต่มันปล่อยหมาออกมาไล่กัด ฉันเลยต้องหนี”
ถึงแม้ว่าเกลี้ยงจะอาศัยในขุมเขียวมานาน มองเห็นเรือชาวมอแกลนจอดและขับออกทะเลได้ทุกวัน แต่กล้วยและชาวมอแกลนกลับพบว่าที่ดินที่พวกตนอยู่อาศัยมีคนจับจองแสดงกรรมสิทธิเป็นเจ้าของ ขณะที่เธอพวกที่อาศัยอยู่มาก่อนไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของใดๆ
ดร.นฤมล อรุโณทัย ตั้งข้อสังเหตว่าสาเหตุที่ชาวเลไม่มีเอกสารสิทธิหรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเพราะระบบคิดของชาวเลที่ไม่ยึดติดกับการครอบครอง ชาวเลมีความเชื่อว่าทรัพยากรทั้งหลายไม่ว่าพื้นดิน หาดทรายนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรด้วยหลักเอื้อเฟื้อต่อกัน ทำให้ชาวเลประสบปัญหาเรื่องการดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่
“กฎหมายที่เรามีอยู่เป็น ‘ความยุติธรรมตามตัวอักษร’ ถ้ามีโฉนดก็แปลว่ามีสิทธิในที่ดิน เราไม่ได้คิดเผื่อชนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยและทำมาหากินบริเวณนี้มา ๒๐๐-๓๐๐ ปีแล้ว”
เจ็บ
เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี ๒๕๔๗ ทำให้เรื่องราวของชาวเลได้รับการนำเสนอในวงกว้าง อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุด “ความไร้ตัวตน” ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในสังคมไทย
ทีแรกสังคมไทยและสังคมโลกได้รู้จักภูมิปัญญาการเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์ ชาวเลเล่าเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดกันมาปากต่อปาก เช่นว่าถ้าเกิดคลื่นเจ็ดลูกจะเป็นคลื่นใหญ่ หรือเมื่อเห็นน้ำทะเลแห้งลงเมื่อใดให้รีบวิ่งขึ้นที่สูง
ต่อมายังมีข่าวการฉวยโอกาสออกเอกสารสิทธิทับซ้อนที่อยู่เดิมของชาวเลตามเกาะแก่งและหน้าหาด
ผู้คนในสังคมเริ่มรู้ว่าทุกวันนี้ยังมี “กลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งบางคนเรียกว่า “คนกลุ่มน้อย” หรือ “คนชายขอบ” อาศัยอยู่ในเขตทะเลอันดามัน แม้พวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่หนึ่งมานาน แต่ที่อยู่กลับไม่ได้รับการออกเอกสารสิทธิ ชาวเลไม่มีโฉนดที่ดิน หรือหลักฐานยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของ ซ้ำร้ายยังถูกเอกชนหรือนายทุนเข้าครอบครอง ไม่เว้นแม้แต่ป่าชายเลน สุสานบรรพบุรุษหรือกุโบร์
ไมตรี จงไกรจักร เครือข่ายบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา สะท้อนว่าปัจจุบันมีการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กับหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐ เช่น เสนอชื่อเครื่องมือประมงพื้นบ้านให้ชาวเลใช้ในพื้นที่ทำประมงดั้งเดิมได้ การฟื้นฟูระยะยาวเช่นกำหนดเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษประมาณ ๙ แห่ง เช่น ชุมชนมอแกนเกาะเหลา ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ชุมชนอูรักลาโว้ยและมอแกนหาดราไวย์ แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม
ตาย
ความตายของ สิดิษ ประมงกิจ ผู้นำกลุ่มมอแกนบนเกาะเหลา ทำให้คำถามเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของชาวเลดังขึ้นอีกครั้ง
และครั้งนี้เห็นชัดว่าปัญหาไม่ได้จำกัดแค่เรื่องที่อยู่อาศัย แม้แต่สุสานบรรพบุรุษที่กลุ่มอูรักลาโว้ยเรียกว่า “ยีไร้” มอแกลนเรียกว่า “ป่าเหลว” ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า “เปลว” ชาวมุสลิมเรียกว่า “กุโบร์” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ไม่น่าจะถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่งก็ยังถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ
สำหรับชาวเลแล้วพื้นที่เหล่านี้ที่สิงสถิตย์ดวงวิญญาณที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร สุสานบรรพบุรุษต้องอยู่ใกล้หมู่บ้าน
ครั้งหนึ่งชาวอูรักลาโว้ยบนหาดแหลมตง เกาะพีพี เคยมียีไร้ของชุมชนถึง ๔ แห่ง แต่หลังจากมีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน ก็เกิดการสร้างโรงแรมบนยีไร้ บางโรงแรมขุดและย้ายกระดูกชาวเลไปไว้ที่อื่นก่อนสร้าง บางโรงแรมสร้างทับโดยไม่ประกอบพิธีรื้อสุสานเพราะถือว่าตัวเองมีเอกสารสิทธิ ถือเป็นการกระทำที่เหยียบย่ำน้ำใจชาวเลมาก ทุกวันนี้คงเหลือยีไร้เพียงแห่งเดียวและยังมีถนนผ่านกลาง
ปัญหาเอกชนอ้างสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่สุสานเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่อันดามัน ชาวเลบางกลุ่มต้องขออนุญาตก่อนเข้าพื้นที่ เพราะเอกชนติดตั้งป้ายห้ามผ่าน ต้องขออนุญาก่อนถึงจะไขกุญแจเปิดทางให้
“คนรุ่นปู่ย่าตายายเข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ยาวนานไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ป่าเหลวแห่งนี้ก็อยู่คู่กับพวกเรา แล้วทำไมวันนี้ถึงถูกอ้างสิทธิครอบครอง”
ชาวเลคนหนึ่งระบายความอัดอั้นตันใจ
“ก่อนหน้านี้ทางราชการกับพวกนายทุนเคยหาทางย้ายป่าเหลวของเราไปอยู่ที่อื่น แล้วยังคิดจะย้ายชุมชนของเราไปอยู่จุดชมลิงแถวคลองบางชีเหล้า แต่พวกเรารู้ดีว่าแถวนั้นเป็นป่าชายเลน อยู่อาศัยไม่ได้ ฝังศพก็ไม่ได้”
ทุกวันนี้เกาะแก่ง หน้าหาด ที่เคยเงียบสงบกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการพัฒนาทะเลอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ท้องทะเลที่เรา-ในฐานะผู้มาเยือนมองว่าเงียบสงบสวยงามจึงกำลังลุกเป็นไฟสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
เก็บตกจากสกู๊ป ชาวเลอันดามัน ชาติพันธุ์ที่ถูกลืม นิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๗๑ มกราคม ๒๕๕๙