ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
วันก่อนระหว่างเดินอยู่ในตลาดนัดประจำสัปดาห์แถวกระทรวงฯ ใกล้ๆ ออฟฟิศ เห็นมีแผงค้าร้านหนึ่งตั้งขวดโหลใบใหญ่ไว้ด้วย เพ่งดูอีกทีก็เห็นมีแมลงตัวเล็กๆ ดำๆ คลานกันยุ่บยั่บอยู่ในนั้น อดรนทนไม่ได้ต้องถามดู ว่านี่เป็นของเอามาขาย หรือเป็นกับดักล่อแมลงกันแน่ ?
ปรากฏว่า เจ้าตัวที่เห็นเดินขวักไขว่อยู่ในโหลนั้น คือ “กระดิ่งเงินกระดิ่งทอง”
ฟังชื่อนี้ทีแรกแล้วก็ยัง “งงๆ” เพราะคำว่า “กระดิ่งทอง” ที่เคยรู้จักมาแต่ไหนแต่ไร เป็นชื่อตัวละครจากเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ยุคเก่า ซึ่งคุณ ป. อินทรปาลิต นำมาเขียนล้อไว้ในหัสนิยายชุดพล-นิกร-กิมหงวน ให้ตัวละคร “นิกร การุญวงศ์” เวลาครึ้มอกครึ้มใจ เป็นต้องสวมบทบาทพระเอกลิเก แล้วร้องราชนิเกลิงประมาณว่า “กระดิ่งทองแสนจะดีใจ…” หรือ “กระดิ่งทองแสนจะเจ็บใจ…” อะไรทำนองนั้น
พอถามต่อ ว่าแล้วเจ้ากระดิ่งเงินกระดิ่งทองนี่คือยังไงกัน ? เจ้าของแผงและเจ้าของขวดโหล อธิบายว่า “เขา” เป็นลูกศิษย์เจ้าแม่กวนอิม ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่ข้าวตอก คือก้อนขาวๆ ที่เห็นอยู่เต็มโหลนั้นเอง
ข้าวตอกคือข้าวเปลือกที่เอาไปคั่วผ่านความร้อน จนแตกบานออก เหมือนอย่างเวลาเอาเมล็ดข้าวโพดไปคั่ว ก็ได้เป็น “ป็อปคอร์น” คือข้าวโพดคั่ว คนโบราณถือว่า “ข้าวตอก” เป็นของดีวิเศษอย่างหนึ่ง ระดับศักดิ์ศรีคือสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องบูชาได้ อย่างที่มีคำว่า “ข้าวตอกดอกไม้” เคยผ่านตาด้วยซ้ำว่าบางถิ่นในอีสาน เอาข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยถวายพระก็มี
สมัยก่อนยังเคยมีสำนวนนักเขียนว่า คนพิมพ์ดีดเก่งๆ นั้น เสียงกระแทกนิ้วบนแป้นพิมพ์ดีดถี่ยิบ เหมือน “ข้าวตอกแตก” คือระรัวราวกับเสียงข้าวตอกคั่วที่แตกบานพร้อมกันทีละมากๆ แต่สำนวนนี้เดาได้ว่าคงสูญไปในเร็วๆ นี้แล้ว เพราะคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือนั้น จะกดแป้นพิมพ์อย่างไรก็ไม่มีเสียงดัง มิหนำซ้ำเดี๋ยวนี้ก็คงมีน้อยคนที่จะเคยได้ยิน “เสียง” ของ “ข้าวตอกแตก” หรือแม้แต่รู้จักข้าวตอก
ใครอยากเห็น ลองไปถามขอดูตามร้านสังฆภัณฑ์ได้
กลับมาเรื่องเจ้าตัวกระดิ่งเงินกระดิ่งทองอีกครั้งหนึ่ง
พอกลับมาลองค้นต่อด้วยความช่วยเหลือของกูเกิล พบว่าในหนังสือ “อนุกรมวิธานสัตว์” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่าชื่อของเขาคือ “กระดิ่งทอง” เป็นด้วงอย่างหนึ่ง กินของแห้ง “โดยเฉพาะเมล็ดบัวแห้ง จึงพบได้บ่อยๆ ตามเมล็ดบัวที่เก็บไว้นานๆ” ฟังดูคล้ายจะเป็น “มอด” อย่างหนึ่ง ที่กินแป้งเป็นอาหาร
ในระยะ ๔-๕ ปีมานี้ มีความนิยมเลี้ยงแมลงชนิดนี้แพร่หลายในหมู่คนค้าขายทั่วประเทศแบบ “ปากต่อปาก” คงด้วยว่าชื่อเป็นมงคล แถมยังไปต่อเติมกันให้เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เลยกลายเป็น “กระดิ่งเงินกระดิ่งทอง”
เครื่องรางชนิดนี้มีชีวิต ตัวเล็กๆ เลี้ยงไว้ไม่เปลืองที่ทางอะไรนัก แถมแพร่พันธุ์ได้ง่าย เพิ่มจำนวนรวดเร็ว ยิ่งดูเหมาะจะใช้เป็นเครื่องราง “เรียกทรัพย์” ทำนองว่าเงินทองงอกงาม
หลังจากที่รู้จักกันครั้งแรกไม่นาน วันหนึ่งแอบเห็นคุณแม่บ้านประจำออฟฟิศไปขอแบ่งจากแม่ค้า มาใส่ขวดโหลขนมเล็กๆ ไว้พร้อมข้าวตอกเต็มขวด ว่าจะเอากลับไปบ้าน
เธออธิบายว่าคนที่ให้มา บอกว่าให้พูดกับ “เขา” ดีๆ แล้ว “เขา” จะให้ลาภ
เมื่อถามต่อว่า ให้ลาภด้วยวิธีไหน?
เธอกระซิบว่า ต้องเขียนเลข ๐ – ๙ ใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ม้วนหมกไว้ข้างใต้กองข้าวตอก แล้วบอกกล่าวขอ
จากนั้น “เขา” จะดัน “เลขเด็ด” ขึ้นมาข้างบนให้เอง
โอ้! กระดิ่งทอง เจ้าช่างเป็นแมลงตัวน้อยตัวนิดที่มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์จริงๆ !
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี