วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้นักศึกษาในสาขาทุกคนเข้าเป็นสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ตั้งแต่ต้น นอกจากกิจกรรมด้านการอ่านการเขียนที่คนหนุ่มสาวผู้จะเติบโตไปเป็นครูภาษาไทยได้เรียนรู้ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ พวกเขายังได้ไปออกค่าย “วรรณศิลป์สัญจร” กันปีละครั้ง ปีนี้จัดที่ภูลังกา นครพนม เมื่อวันที่ ๑-๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
เรียนรู้ศิลปะการเล่าเรื่องผ่าน ๗ กลุ่มงานศิลปะ กวีนิพนธ์ กับโขงรัก คำไพโรจน์ เรื่องสั้น กับบรรจง บุรินประโคน บทละคร กับธนวรรณ ชายกุล แต่งเพลง กับชวนากร จันนาเวช และธีรศานต์ มีลือ ภาพถ่าย กับวีรพล คำสุวรรณ ภาพวาด กับอธิป วัดเวียงคำ และสารคดี กับวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ในกลุ่มงานสารคดีผมทำงานได้อย่างสบายง่ายมากเพราะเมื่อคุยเรื่องหลักการเขียนสารคดีก็พบว่าพวกเขามีพื้นฐานกันมาดีแล้ว จากการที่อาจารย์อนุชา พิมศักดิ์ อาจารย์วัชรวร วงศ์กัณหา สอนมาแล้วในชั้นเรียน เมื่อมาค่ายจึงสามารถนำสู่ภาคปฏิบัติได้เลย
โดยเน้นปฏิบัติการฝึกทำงานข้อมูล ๓ กลุ่ม ได้แก่ การค้นคว้า สัมผัส สัมภาษณ์ ซึ่งทุกคนเข้าใจและพอรู้ว่าจะหาข้อมูลแต่ละส่วนได้จากไหน อย่างไร
“พรมแดน ธรรม(ชาติ) ศรัทธา บรรจบกันบนภูลังกา” เป็นตัวอย่างงานสารคดีจากค่ายวรรณศิลป์สัญจร ครั้งที่ ๖ ที่สะท้อนว่าในเวลาเพียงแค่ครึ่งวัน พวกเขาเก็บข้อมูลมาได้ครบครัน และนำมาแปรเป็นงานเขียนได้ครบองค์ประกอบ ทั้งภาพ เสียง ตัวละคร บทสนทนา อารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เทคนิคการเล่า และโดยเฉพาะใจความสำคัญของเรื่อง ตามพื้นฐานงานเรื่องเล่าวรรณศิลป์
พรมแดน ธรรม(ชาติ) ศรัทธา บรรจบกันบนภูลังกา
ม๊ง…ม๊ง…ม๊ง…
เสียงฆ้องดังขึ้นทางด้านหน้า มีคนเดินไปถึงจุดสุดยอดภูลังกาแล้ว แต่เรายังนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้บนโขดหินก้อนใหญ่ที่ร้อนระอุด้วยแดดยามใกล้เที่ยงอยู่เลย
ต่างจากเมื่อเช้าที่หนาวเหน็บ ขณะพวกเราลืมตาขึ้นแล้วรีบลุกไปอาบน้ำ เหมือนมีใครเอาน้ำแข็งมาแช่น้ำไว้
“รอฉันรอเธออยู่ แต่ไม่รู้เธออยู่หนใด” เพลงที่ดังขึ้นจากพิธีกรค่ายวรรณศิลป์สัญจรครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นสัญญาว่าเราจะได้ออกไปเดินป่ากันเเล้ว
“วันนี้เราจะเดินทางข้ามจังหวัด” เจ้าหน้าที่อุทยานบอก
เสียงถอนใจของนักศึกษาดังขึ้น ”แสดงว่าระยะทางไกลมากใช่ไหมคะ”
ทางไปกลับจากที่ทำการอุทยานจนถึงจุดสุดยอดภูลังการวม 8 กิโลเมตร อยู่ระหว่าง 2 จังหวัด นครพนม-บึงกาฬ บนพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 563 เมตร
ขาไปเพียงช่วง 1 กิโลเมตรแรกมี่เป็นทางเรียบ ที่เหลือเป็นทางชันขึ้นเขา เราจะได้เดินข้ามเขาที่ทับซ้อนกันถึง 3 ลูก ซึ่งทึบไปด้วยป่า 3 ประเภท ป่าเขตร้อน ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เมื่อเดินไปยังได้เห็นไม้ผลัดใบปะปนอยู่ด้วย และไม้ใหญ่ได้เจอต้นกระบากอายุ 100 ปี
พี่เล่าอู เจ้าหน้าที่อุทยานเล่าตำนานของภูลังกาว่า ในครั้งที่พระลักษณ์ออกรบจนถูกอาวุธได้รับบาดเจ็บ หนุมานจึงได้เดินทางมาหาสมุนไพรที่บึงโขงหลง ซึ่งมีสมุนไพรอยู่ 2 ต้น หนุมานไม่แน่ใจว่าเป็นต้นไหน จึงเอาไปทั้งสองต้นให้พระลักษณ์เลือก ที่เหลือหนุมานจึงเขวี้ยงกลับมาไว้ที่เดิมแต่กลับอยู่ในลักษณะคว่ำลง จึงเป็นที่มาของชื่อที่ว่า ภูลังกาหรือภูตีลังกานั่นเอง
แต่คุณตาอีกคนที่เดินมาด้วยกันเล่าถึงตำนานของภูลังกาว่าสถานที่นี้มีกาทำรังอาศัยอยู่เยอะ เป็นที่มาของชื่อภูรังกา แล้วมาเป็นภูลังกา
“ลูกอะไรน่ากินจังเลยสีสวยด้วย” สาวปี 2 ถามขึ้น
เจ้าหน้าที่ตอบมาทันทีว่าชื่อหนาวเดือน 5 มีพิษร้ายแรงหากกินเข้าไป ใน 5 นาที เลือดจะแข็งตัว หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อุณหภูมิร้างกายลดต่ำลงและเสียชีวิตทันที
เขาเล่าด้วยว่าแม่ชีนำอาหารมาถวายแด่พระธุดงค์ ซึ่งได้เก็บใบของต้นหนาวเดือน 5 มีใบอ่อนสีคล้ายผักทั่วไป ลำต้นเป็นเครือ พอฉันเข้าไปพระธุดงค์ก็มรณภาพ ทางอุทยานจึงได้บันทึกไว้ว่าเป็นพืชที่มีพิษร้ายแรงสุดในอุทยาน
พี่วี-วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ซึ่งเป็นนักสารคดีมืออาชีพ ชวนให้ดูรากไม้และก้อนหิน ที่ผิวเรียบลื่นเป็นเงา มันคงผ่านการถูกเหยียบจากรอยเท้าคนเพื่อก้าวข้ามผ่านไปยังเป้าหมายมาแล้วหลายเป็นเวลานาน จนทำให้หินเป็นร่องลงไป
ก้อนหินเหล่านี้ให้ข้อคิดกับเรา ในบางสถานการณ์มนุษย์เราควรเป็นดั่งหินก้อนนั้น ยอมตนเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของผู้อื่น หากมนุษย์ในโลกส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ได้ สังคมจะน่าอยู่แค่ไหน
พวกเราเดินลอดต้นไม้ที่ล้มลงเดินไปเรื่อยๆ ก็พบทางตัน
“เดินตามลูกศรสีเหลืองมาเลย” เพื่อนข้างหน้าตะโกนบอก
พวกเราเดินย้อนกลับไปตามหาลูกศรจึงเดินไปถูกทาง
ดีนะที่มีคนเดินอยู่ข้างหน้าให้ถาม เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนที่ดี
เดินไปได้สักระยะก็พ้นจากป่าไม้ที่หนาทึบสู่ทางเดินที่เป็นลานหินขนาดใหญ่ โล่ง รับความร้อนจากแสงแดดอย่างเต็มที่ เริ่มมองเห็นยอดเจดีที่ตั้งตระหง่านบนยอดภูลังกา
มองดูเหมือนอยู่แค่เอื้อม แต่ขาของพวกเราอ่อนแรงลงจนแทบคลานแทนการก้าวเดินแล้ว เสียงหอบเหนื่อยของคนที่ต่อสู้มากับระยะทางยาวไกล ทั้งทางชัน โขดหิน ทางเดินขรุขระ สายน้ำ สะพาน และแสงแดด อีกแค่อึดใจเดียวเท่านั้น…
ม๊ง… ม๊ง… ม๊ง…
เสียงฆ้องดังขึ้นมาอีกครั้ง ครั้งนี้รู้สึกดีกว่าเดิม เสียงนั้นบอกว่ามีคนเดินขึ้นไปถึงอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว
ทั้งใจและขาสั่นไปหมด แต่เราต้องไปตีฆ้องให้ได้
สาวราวเชือกไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นวิวรอบด้าน พอเดินขึ้นไปถึงเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ พวกเรากวาดสายตาไปรอบ องค์เจดีย์ตั้งตระหง่านอยู่ลานหินยอดภูลังกา บอกความศรัทธาของผู้สร้าง และผู้ที่ปีนภูขึ้นมาสักการะ
จากเสียงฆ้องของความศรัทธาที่เราได้ยิน และตั้งใจว่าจะเป็นคนหนึ่งที่จะได้ตีด้วย ตอนนี้มีคนอื่นตีดังอยู่เรื่อยๆ
“สันปันน้ำตรงจุดสูงสุดบนยอดภูลังกานี้ เป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างนครพนม-บึงกาฬนะครับ” เสียงเจ้าหน้าที่ดังขึ้นอีกครั้ง
พวกเราเดินไปข้ามเส้นแบ่งระหว่างจังหวัดทันที
“ป้าด บ่น่าเซื่อเลยวาเฮาสิหย่างข้ามจังหวัดได้ในก้าวเดียว”
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา