เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาเป็นปีที่ครบวาระ “๑๐๐ ปี ชาตกาล” ของนักเขียนคนสำคัญของไทยหลายคน
หนึ่งในนั้นคือ “เสนีย์ เสาวพงศ์” นามปากกาของ “ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์” ผู้เขียนนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ที่คนไทยจำนวนมากรู้จักดีในฐานะนิยายเล่มหลักของวงวรรณกรรมไทยที่ส่งผลสะเทือนต่อความคิดของผู้คนในสังคม
ปีศาจแต่งขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ ๒๔๙๐ หลังเสนีย์กลับจากประจำการในทวีปอเมริกาใต้ในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการทูต ก่อนที่จะ “โดนเก็บ” ในยุคของจอมพลสฤษดิ์เนื่องจากมีเนื้อหาวิพากษ์สังคมไทย ก่อนที่จะกลับมาสู่สายตาผู้อ่านอีกครั้งในยุคก่อนและหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในฐานะวรรณกรรมเพื่อชีวิตและอยู่ยั้งยืนยง ได้รับการกล่าวถึงทุกครั้งเมื่อระบอบอำนาจนิยมหวนกลับมาสู่สังคมไทย
ในแง่ของความแพร่หลาย นอกจากโลกภาษาไทย ยังปรากฏข้อมูลใน โลกหนังสือ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๙ (มิถุนายน ๒๕๒๑) ว่า “ปีศาจ” ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศภาษาแรกคือภาษาจีนอย่างน้อยตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ ๒๕๐๐ โดย วิวัฒน์ รุ่งวรรธนวงศ์ นำไปเสนอสำนักพิมพ์บนเกาะฮ่องกง ส่วนการแปลเป็นภาษาอื่น มาจนถึงตอนนี้ เรายังไม่พบข้อมูลที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนในแง่ของรายละเอียดและสถิติ แต่ที่แน่นอนคือ การแปล “ปีศาจ” ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๗ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๖๕ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินโดนีเซียในปี ๒๕๕๘
ทว่า การตีพิมพ์ปีศาจฉบับบาฮาซา (ภาษา) อินโดนีเซียในปี ๒๕๕๘ ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าใดนัก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ “ปีศาจ” ถูกแปลเป็นภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียนนอกเหนือไปจากภาษาอังกฤษ
สารคดี มีโอกาสสนทนาสั้นๆ กับ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล หัวหน้าคณะผู้แปลนิยายเล่มนี้เป็นภาษาอินโดนีเซีย
โครงการแปล “ปีศาจ” เกิดขึ้นได้อย่างไร
ดิฉันได้รับการติดต่อจากกระทรวงการต่างประเทศในปี ๒๕๕๗ ให้ทำงานนี้เพื่อฉลองครบรอบ ๖๕ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินนีเซียในปี ๒๕๕๘ ในการแปล ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์เพ็ญศรี พานิช จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมีเพื่อนชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งช่วยในการดูสำนวนภาษาในภาพรวม
มีวิธีทำงานกับต้นฉบับดั้งเดิมอย่างไร
“ปีศาจ” ฉบับภาษาไทยที่เราใช้เป็นต้นฉบับ มีทั้งหมด ๓๑ บท ดิฉันแปล ๑๖ บท อาจารย์เพ็ญศรีแปล ๑๕ บท แต่เป็นการแปลสลับฟันปลา เช่น ดิฉันแปลบทที่ ๑ อาจารย์เพ็ญศรีแปลบทที่ ๒ การแปลบทเว้นบททำเพื่อทำให้สำนวนแปลของทั้งสองคนจะสมานเป็นเนื้อเดียวกันได้ง่ายเวลาเกลาภาษา หลักการใหญ่ในการทำงานของเราคือรักษาภาษาของต้นฉบับเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด ต้นฉบับใช้ภาษาไทยรุ่นเก่า เราก็แปลรักษาสำนวน แต่คนอินโดนีเซียต้องอ่านรู้เรื่อง ต้องมีเชิงอรรถอธิบายสำหรับคนที่อาจไม่เข้าใจ เช่น ความเชื่อเรื่อง “กรรม” ที่ไม่มีในอินโดนีเซีย ก็จะมีเชิงอรรถอธิบายกำกับเอาไว้
ที่มาของชื่อ “momok” ซึ่งเป็นคำแปลของ “ปีศาจ” ในภาษาอินโดนีเซีย
คำว่า “ปีศาจ” ในภาษาอินโดนีเซียมีหลายคำที่มีความหมายแนวนี้ แต่ถ้าอิงจากนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของไทย ผู้เขียนคือคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ หมายถึงสิ่งที่ “หลอกหลอน” ในภาษาอินโดนีเซียคำที่ใกล้เคียงก็เช่น ซาตาน (satan) หมายถึง “สิ่งชั่วร้าย” แต่ความหมายก็ไม่ตรงเสียทีเดียว ในที่สุดเราได้คำว่า ‘โมมก’ (momok) ที่ฟังแล้วดูน่ารัก แต่ความหมายตรงตัว เพราะคำนี้ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึงสิ่งที่ตามหลอกหลอน เรายังพบตัวละครลับชื่อ ‘เดือนเต็ม’ ปรากฏในต้นฉบับเก่า สันนิษฐานว่านี่อาจเป็น “ชื่อเดิม” ของนางเอกก่อนคุณเสนีย์จะตัดสินใจให้นางเอกใช้ชื่อ ‘รัชนี’ และมันหลงเหลืออยู่โดยที่ยังไม่ได้แก้
อุปสรรคในการทำงานชิ้นนี้คืออะไร
ตลอดการทำงานหลายเดือน อุปสรรคคือการแบ่งเวลา เพราะช่วงที่แปลนิยายเรื่องนี้ ดิฉันกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ออสเตรเลีย ในระหว่างนั้นก็ต้องจัดการเรื่องประสานงานกับทีมแปลและงานธุรการกับกระทรวงการต่างประเทศ เวลามีการเปลี่ยนตัวผู้ประสานงานของทางราชการ ก็เหมือนกับต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่
โดยส่วนตัวได้อะไรจากการแปล “ปีศาจ”
โดยรูปแบบของนิยายเรื่องนี้ ในแง่ของวิธีเขียน วิธีนำเสนอ มันอาจดูล้าสมัยสำหรับคนอ่านยุคนี้ แต่คุณค่าของงานชิ้นนี้มีอย่างแน่นอน ตอนที่แปลและอ่านหลายรอบก็ทึ่งว่าคุณเสนีย์เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ในระบบรัฐ แต่เขียนนิยายเรื่องนี้ออกมา สื่อถึงความเหลื่อมล้ำ ปฏิเสธค่านิยมเก่า ถ้าวันนี้เรากลับมาอ่าน “ปีศาจ” จะพบว่าความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในสังคมไทย ชาวนาก็ยังไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยส่วนตัวอยากให้มีการแจกจ่ายหนังสือฉบับแปลสู่สาธารณะมากกว่านี้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีสอนภาษาอินโดนีเซียและที่อินโดนีเซีย