เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
หมู่บ้านชาวมอแกนริมอ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ (ภาพ : 123rf)
๑
พื้นที่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ที่ชาวมอแกนหลายกลุ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ยาวนานนับร้อยปีแล้ว ทั้งเพื่อทำกิน หลบคลื่นลมมรสุม ปลูกเพิงพักอาศัย ก่อนที่จะตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรกลายเป็นหมู่บ้านชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ในปัจจุบัน
หมู่เกาะสุรินทร์ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ ๕ เกาะกลางท้องทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งพังงาประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือสปีดโบ๊ตประมาณ ๑ ชั่วโมงกว่า
ในสายตานักท่องเที่ยว ของขึ้นชื่อของหมู่เกาะสุรินทร์คือแนวปะการังและสัตว์ทะเลที่ยังงดงาม ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่สำหรับคนท้องถิ่นอย่างชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์คือถิ่นฐาน
ทุกวันนี้ประเมินว่ามีชาวมอแกนเหลืออยู่ในโลกไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน แบ่งเป็นชาวมอแกนในประเทศพม่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ คน ในไทยประมาณ ๑,๐๐๐ คน ส่วนหนึ่งคือชาวมอแกนประมาณ ๒๐๐ คน ที่อาศัยอยู่ที่อ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
๒
ต้นตระกูลชาวมอแกนเป็นใคร? มาจากไหนกัน ?
หนังสือ ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อธิบายว่า จากตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนที่ชาวมอแกนใช้ และสืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าที่เดินทางทางทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าชาวมอแกนสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) คนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพมาอยู่บริเวณแหลมมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเลเดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่าสืบเนื่องลงทางใต้ถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทางตะวันออกถึงฟิลิปปินส์ จนเกิดการแยกย้ายกระจัดกระจาย มีพัฒนาการทางสังคมและภาษาต่างกันออกไปจนกลายเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม
ทั้งนี้ มีคนเข้าใจผิดว่าชาวมอแกนสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองของหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน ของอินเดีย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะชนพื้นเมืองที่หมู่เกาะนิโคบาร์ส่วนใหญ่เป็นเนกริโต (Nagrito) เหมือนกับชาวมันนิ
๓
นับแต่อดีต ชาวมอแกนมีวิถีชีวิตสอดคล้องกับอิทธิพลของลมมรสุม ยามทะเลสงบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใน “ก่าบาง” เรือมอแกนที่เป็นเรือขุดเสริมกราบด้วยไม้ระกำ เพื่อทำให้แคมเรือสูง ช่วยกันคลื่นลมและน้ำที่ซัดเข้ามาในเรือได้ หัวเรือและท้ายเรือมีง่ามหรือหยักเว้าเพื่อให้ปีนป่ายขึ้นจากน้ำ ชาวมอแกนล่องเรือก่าบาง งมหอย จับปลา เม่นทะเล เพื่อแลกกับข้าวสาร อาหารแห้ง รวมถึงข้าวของจำเป็นกับพ่อค้าบนฝั่ง
สำหรับชาวมอแกนแล้วก่าบางเป็นทั้งเรือเป็นทั้งบ้าน ภายในก่าบางแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างกะทัดรัด มีครัวมีเตาไฟแบบสามเส้า ใช้หม้อและภาชนะดินเผา ต่อมาเปลี่ยนมาใช้เตาอั้งโล่ที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงเพราะเกิดควันดำน้อยกว่าฝืน
ภายในเรือก่าบาง ข้าวของเครื่องใช้ไม่ว่าเสื้อผ้า ที่นั่งที่นอนมีจำนวนเพียงแค่พอใช้ เป็นชีวิตที่เรียบง่ายมีเฉพาะของที่จำเป็น
มองออกไปจากหมู่บ้านคือท้องทะเลหน้าอ่าวบอนใหญ่ ไกลออกไปคือทะเลอันดามัน หน้าหาดมีเรือที่ชาวมอแกนใช้สำหรับโดยสารและรับส่งนักท่องเที่ยว (ภาพ : 123rf)
๔
ช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีคลื่นลมจัด ชาวมอแกนจะหยุดออกทะเลชั่วคราว หันมาปลูกกระท่อมหรือเพิงพักตามชายหาดที่มีอ่าวกำบังคลื่นลม อยู่ใกล้แหล่งน้ำจืดสำหรับดื่มกิน ช่วงฤดูฝนที่ป่าอุดมสมบูรณ์ชาวมอแกนจะใช้ประโยชน์จากป่ามาก คือเก็บหน่อไม้ หัวมัน พืชชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร แต่ก็ยังแจวเรือ “ฉ่าพัน” ที่มีขนาดเล็กกว่าก่าบางออกงมหอย หาปลา จับปู ตามแนวชายฝั่ง
เด็กๆ ลูกหลานชาวมอแกนกำลังเล่นน้ำ (ภาพ : 123rf)
๕
ปัญหาของชาวมอแกนเกิดขึ้นเมื่อมีการแบ่งเส้นพรมแดนของรัฐชาติขึ้นบนท้องทะเลอันดามัน รัฐชาติยุคใหม่แบ่งน่านน้ำออกเป็นเขตประเทศไทยและพม่า ชาวมอแกนจากทั้งสองฝั่งที่เคยไปมาหาสู่กันจึงไม่สามารถแล่นเรือข้ามไปมาหากันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถออกเดินทางไปหาญาติมิตรได้อย่างเสรี และไม่สามารถรอนแรมไปไหนมาไหนได้ง่ายเหมือนในอดีต
๖
โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ชาวมอแกนสูงอายุ ระบุถึงภูมิหลังชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ว่าบนหมู่เกาะสุรินทร์มีสถานที่อย่างน้อย ๑๑ แห่งที่ชาวมอแกนในรุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่เคยปลูกบ้านพักอาศัยเป็นกลุ่ม ได้แก่ อ่าวจาก อ่าวไทรเอน หาดมะม่วงหล่าวี หาดหยู่หุ้น อ่าวแม่ยาย เนินทรายแม่เฒ่าบุงะ (ที่ตั้งของสำนักงานอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในปัจจุบัน) อ่าวกระทิง หาดไม้งาม เนินทรายพ่อเฒ่าแป่นาง อ่าวบอนเล็ก อ่าวบอนใหญ่ ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้นับรวมชายหาดและอ่าวต่าง ๆ ที่มอแกนไปทอดสมอเรือหรือสร้างกระท่อมชั่วคราว
เมื่อนำที่ตั้งของอ่าวต่างๆ มาพล็อตลงบนแผนที่ จะพบว่าการเลือกปลูกกระท่อมและเพิงพักของชาวมอแกนมักเลือกบริเวณที่เป็นชายหาดในอ่าวที่สามารถหลบคลื่นลมได้ อ่าวเหล่านี้มักตั้งอยู่ทางตะวันออกของหมู่เกาะสุรินทร์ ตรงข้ามกับด้านที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งต้องเป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำจืด เช่น น้ำซับ น้ำซึม น้ำผุด ธารน้ำจากป่า
๗
เมื่อปี ๒๕๑๔ กรมป่าไม้ประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นป่าสงวนแห่งชาติ หลังจากนั้นมีการเสนอให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่ถูกระงับไป เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณีแย้งว่าหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัท Weeks Pitroleum
ต่อมายังมีการเสนอให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นค่ายผู้ลี้ภัยจากสงครามอินโดจีน แต่กรมป่าไม้เห็นว่าสภาพเกาะยังอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ที่งดงามทั้งป่าไม้และท้องทะเลจึงคัดค้านแล้วให้กองอุทยานแห่งชาติเข้ามาสำรวจ ต่อมาจึงประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๒๙ ของประเทศไทย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔
พระอาทิตย์ตกที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ (ภาพ : 123rf)
๘
ช่วงแรกๆ ที่มีการบุกเบิกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชาวมอแกนเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ เช่น แหล่งน้ำจืด ที่หลบมรสุม ที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ ที่เหมาะสม
เดิมเคยมีชาวมอแกนกลุ่มหนึ่งตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า “บูฮู้น เอบูม บุงะ” เป็นหัวแหลมที่มี ทัศนียภาพงดงามของทะเลช่องขาดระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือกับเกาะสุรินทร์ใต้ ชาวมอแกนก็ยอมย้ายออกเพื่อเปิดโอกาสให้อุทยานฯ สร้างสำนักงาน
ระหว่างปี ๒๕๒๙-๒๕๓๙ หมู่เกาะสุรินทร์ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ชาวมอแกนได้รับอนุญาตให้เก็บเปลือกหอยสวยงามมาขายนักทองเที่ยว ทั้งที่เก็บมาจากรอบหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะต่างๆ ในประเทศพม่า แต่หลังจากนั้นกระแสอุนรักษ์แรงขึ้น ทางอุทยานฯ ประกาศยกเลิกการขายเปลือกหอย รวมทั้งไม่อนุญาตให้มอแกนดำน้ำจับปลิงทะเลหรือของทะเลอื่นๆ เพราะขัดต่อกฎของอุทยาน อนุญาตให้จับปลาเพื่อยังชีพเท่านั้น
ขณะเดียวกันทางอุทยานฯ ก็ตั้งกองทุนมอแกนรับเงินบริจาคจากนักทองเที่ยว เป็นทุนซื้อขาวสาร สิ่งของจำเป็นให้ชาวมอแกน เงินส่วนหนึ่งจากร้านค้าสวัสดิการก็นำมาจ้างมอแกนทำงาน เช่น ขับเรือพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ เก็บขยะ ล้างจาน แบกอิฐในงานก่อสร้าง ฯลฯ การตั้งกองทุนไม่ได้มีข้อตกลงที่เป็นทางการระหว่างชาวมอแกนกับทางอุทยานฯ แต่เป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือมอแกนที่ขาดรายได้จากการขายเปลือกหอย
๙
ช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ ชาวมอแกนยังย้ายถิ่นฐาน เช่นเมื่อเกิดโรคระบาด คนที่อาศัยอยู่อ่าวบอนใหญ่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณอ่าวช่องขาดตรงข้ามที่ตั้งสำนักงานอุทยานฯ แล้วก็ย้ายกลับไปอ่าวบอนใหญ่และอ่าวบอนเล็ก
ราวปี ๒๕๓๗ ชาวมอแกนบางส่วนย้ายจากอ่าวบอนใหญ่มาสร้างบ้านที่อ่าวไทรเอน ต่อมาสำนักงานหน่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมง ที่อ่าวไทรเอน ว่าจ้าง ซาละม่า กล้าทะเล ชาวมอแกนเป็นลูกจ้าง
ก่อนหน้าเหตุการณ์สึนามิ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ชาวมอแกนมีหมู่บ้าน ๒ แห่ง คือที่อ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ ๑๖ หลังคาเรือน และอ่าวบอนเล็ก เกาะสุรินทร์ใต้ ๓๐ หลังคาเรือน จำนวนประชากรมอแกนบนเกาะสุรินทร์เปลี่ยนแปลงตามรอบฤดูกาลและรอบปี บางครอบครัวยังคงเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะอื่น ๆ ในน่านน้ำพม่า หรือระหว่างเกาะสุรินทร์กับเกาะพระทองหรือชายฝั่งในประเทศไทย บางทีก็ย้ายไปมาระหว่าง ๒ ชุมชนในหมู่เกาะสุรินทร์
แต่หลังเกิดสึนามิหมู่บ้านทั้ง ๒ แห่งได้รับความเสียหายทั้งหมด แม้ว่าชาวมอแกปลอดภัย เพราะเมื่อผู้เฒ่ามอแกนเห็นน้ำทะเลแห้งไปอย่างผิดสังเกตก่อนเกิดสึนามิก็นึกถึงตำนาน “คลื่นเจ็ดชั้น” คาดการณ์ว่าจะมีคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า “ละบูน” จึงร้องเตือนคนในหมู่บ้านให้ปีนขึ้นที่สูง เหตุการณ์ครั้งนั้นชาวมอแกนยังได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว คนหนุ่มที่กำลังขับเรือรีบขับเรือออกจากชายหาดเพราะรู้ว่าถ้าอยู่ใกล้ชายหาดจะถูกคลื่นและกระแสน้ำที่ปั่นป่วนกระแทกเรือ
เหตุการณ์นี้ยังทำให้ชาวมอแกนกลายเป็นคนไร้บ้าน ก่าบางและฉ่าพันที่จอดอยู่ริมหาดพังเสียหาย
ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ทั้งหมดต้องอพยพไปอยู่บนฝั่งที่วัดสามัคคีธรรมในอำเภอคุระบุรี แต่หลังความวุ่นวายก็ย้ายกลับมายังหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้ง
๑๐
เมื่อกลับมาอยู่หมู่เกาะสุรินทร์หลังสึนามิมีอาสาสมัครมาสร้างบ้านให้ที่อ่าวบอนใหญ่ ต่อมามีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่เป็นอาคารถาวร เริ่มปลูกพืชผักตามที่มีคนนำเมล็ดพันธุ์มาให้ อ่าวบอนใหญ่กลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้วเป็นจะกลายเป็นหมู่บ้านถาวรของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านใหม่มีลักษณะต่างจากเดิมมาก บ้านที่สร้างเรียงกันเป็นแถวขนานกันทำให้บ้านที่อยู่ด้านหลังค่อนข้างจะอับลม และคนในบ้านไม่สามารถมองเห็นทะเล ไม่สามารถสังเกตเรือของตัวเองหรือเรืออื่นที่แล่นเข้ามาได้ นอกจากนี้ตัวบ้านก็มีลักษณะเหมือนกันและมีขนาดเดียวกันจนเกินไป
ถึงตอนนี้ วิถีชีวิตชาวมอแกนถูกจำกัด ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดต้นไม้ใหญ่มาต่อเรือ เนื่องจากขัดกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกาะแก่งและชายฝั่งทั่วเกาะสุรินทร์และโดยรอบถูกจับจอง มีทั้งภาครัฐและเอกชนแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของ แทบไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างชาวมอแกนอยู่อาศัยและหากิน
โครงการนาร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า
“หมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่และประกอบไปด้วยประชากรจำนวนมากเช่นนี้ (ประมาณ ๖๐ หลังคาเรือน) อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวในหลายด้าน อาทิเช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เนื่องจากมีความแออัดมากขึ้น มีขยะ ของเสีย น้ำทิ้งที่มีปริมาณมากขึ้น จึงอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของมอแกน
“ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มอแกนมักจะหาอาหารบริเวณชายฝั่งที่ใกล้กับหมู่บ้าน เมื่อประชากรกระจุกตัวอยู่บริเวณเดียว การใช้ทรัพยากรก็จะเข้มข้นเน้นหนักอยู่ในบริเวณเดียว และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
“ด้านสังคม ในอดีต การกระจายตัวของประชากรและความยืดหยุ่นของการโยกย้ายชุมชนเป็นกลไกทางสังคมที่ทำให้มอแกนสามารถจัดการกับความขัดแย้งในชุมชนได้ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนใหญ่ ความขัดแย้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน การอพยพโยกย้ายออกนอกชุมชนที่เคยเป็นกลไกที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งและความบาดหมางในชุมชนก็ถูกจำกัดลง”
๑๑
ช่วงหัวค่ำวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เกิดเหตุเพลิงไหม้หมู่บ้านมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ที่อ่าวบอนใหญ่
รายงานข่าวแทบทุกสำนักระบุว่าหมู่บ้านมอแกนแห่งนี้ปลูกอยู่ติดๆ กันเกือบร้อยหลัง สภาพบ้านมุงและกั้นด้วยจากซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติจึงกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี
ผลการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่พบว่าเหตุเกิดจากเครื่องปั่นไฟที่ชาวมอแกนใช้ในการซ่อมเรือบริเวณใต้ถุนบ้านเกิดระเบิดขึ้น ส่งประกายไฟลามไปที่ตัวบ้านซึ่งทำด้วยไม้ทั้งหลัง ช่วงเกิดเหตุยังมีลมพัดแรง เพลิงจึงลุกลามไปยังบ้านของชาวมอแกนที่อยู่ติดกันอย่างรวดเร็ว
หลังเพลิงลุกไหม้อยู่นานประมาณ ๖ ชั่วโมง ทำลายบ้านเรือนของชาวมอแกนหมดสิ้นก็สงบลง คงเหลือเพียงกลุ่มบ้านประมาณ ๑๕ หลังที่ตั้งอยู่ห่างออกไป
แม้อัคคีภัยครั้งนี้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ แต่เป็นรอยแผลที่สร้างความรวดร้าวให้กับชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์อย่างชนิดไม่มีวันลืม
เอกสารประกอบการเขียน
- ชาวเลอันดามัน ชาติพันธุ์ที่ถูกลืม โดย ฐิติพันธ์ พํฒนมงคล นิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๗๑ มกราคม ๒๕๕๙
- มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน โดย จักรพันธุ์ กังวาฬ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๒๐ มิถถุนายน ๒๕๔๖
- ข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตำบลเกาะพระทอง อาเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)