วนันต์ญา ดวงตานน (นักศึกษาฝึกงาน) : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
ตั้งแต่ปลายธันวาคมปี ๒๕๖๑ จนเข้ากุมภาพันธ์ปี ๒๕๖๒ ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ยังคงอยู่ ทางภาครัฐได้บอกกับสื่อมวลชนอยู่เสมอว่ากำลังจัดการกับปัญหานี้ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น เข้มงวดในการตรวจรถควันดำ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ลดใช้รถส่วนตัวแล้วหันมาใช้รถสาธารณะ หรือออกคำสั่งให้สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน แต่มาตรการที่ภาครัฐค่อนข้างให้ความสำคัญ คือการฉีดน้ำไล่ฝุ่น ทั้งใช้เครื่องฉีดน้ำ รถดับเพลิง โดรน พร้อมทั้งประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำฝนเทียม
รศ.ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรในงานเสวนา “จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ว่า
“ในการแก้ไข ต้องกลับมาดูปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น ต้องมีมาตรการที่จัดการต่อแหล่งกำเนิด ทางด้านรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพฯ ก็มีมาตรการแก้ไขออกมามากมาย แต่ในช่วงวิกฤตนี้ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น หรือต้องเตรียมการล่วงหน้า เพราะการแก้ปัญหา หรือลดมลพิษทางอากาศจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เห็นผล”
รศ.ดร.ศิริมายังไขข้อข้องใจเกี่ยวกับมารตรการของรัฐที่ใช้จัดการกับปัญหาฝุ่น ในส่วนของการทำฝนเทียมและการฉีดน้ำว่า
“ในการทำฝนเทียมนั้น มีเงื่อนไขของการเกิดฝนเทียมคือ ต้องมีความชื้นมากพอที่จะทำให้เกิดฝนเทียมได้ และถ้าฝนตก ต้องตกหนัก เพื่อให้น้ำสามารถจับและล้างฝุ่นออกไป แต่ถ้าฝนตกเพียงเล็กน้อย มันมีโอกาสน้อยที่ฝนจะไปจับโดน PM 2.5 ที่เล็กกว่าเส้นผม ๒๐ เท่า”
ทางด้าน รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ หัวหน้าโครงการขออากาศดีคืนมา โครงการหนึ่งของกรีนพีซ ประเทศไทยได้พูดเสริมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “ลองคิดว่าน้ำฝนเป็นลูกบาส ส่วนฝุ่นเป็นเข็มที่ลอยไปมาในอากาศ ถ้าอยากให้ฝุ่นหมดไป เราต้องโยนลูกบาสด้วยความถี่และจำนวนมาก เพื่อให้โดนเข็มพวกนั้น”
รศ.ดร.ศิริมา ได้ยกสถานการณ์ที่มีการฉีดน้ำ ล้างถนนในกรุงเทพฯ มาอธิบายว่า “มาตรการนี้จะช่วยลดฝุ่นใหญ่ ซึ่งในฝุ่นใหญ่ก็จะมีฝุ่นเล็กรวมอยู่ด้วย แต่ถ้าจะลดให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น ถ้าต้องการลด PM 2.5 จาก ๖๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลงมาที่ระดับมาตรฐาน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะต้องใช้เครื่องฉีดน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพฯ มี ๕๐ เขต พื้นที่ทั้งหมด ๑,๕๖๙ ตารางกิโลเมตร จะต้องใช้เครื่องฉีดน้ำ ๒๐ เครื่องต่อตารางกิโลเมตร ก็ประมาณ ๓๐,๐๐๐ เครื่อง ฉีดพ่นพร้อมกัน”
ส่วนคุณรัตนศิริได้กล่าวว่า “การฉีดน้ำนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้ เป็นแค่เพียงการบรรเทาในระยะสั้นเท่านั้น การจะแก้ปัญหาต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุคือ หยุดกิจกรรมที่มีการปล่อยมลพิษ”
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน และก็มีประเทศที่ใช้การฉีดน้ำมาช่วยในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ รศ.ดร.ศิริมายกสถานการณ์ของประเทศอินเดียว่า “มีการใช้เจ็ท หรือเครื่องบินขนาดเล็ก ในการฉีดพ่นละอองน้ำขนาดเล็กกว่า PM 2.5 เพื่อที่น้ำจะสามารถจับ PM 2.5 ให้ตกลงมาได้”
ประเทศจีนก็มีการใช้วิธีฉีดน้ำเพื่อบรรเทาฝุ่นเช่นกัน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการแก้ฝุ่นด้วยการฉีดน้ำของประเทศจีนว่า “รัฐบาลจีนขอความร่วมมือให้ตึกสูงที่อยู่ในเมืองติดตั้ง Skyscraper sprinkler system ซึ่งเป็นเครื่องพ่นละอองน้ำฝอยที่มีขนาดอนุภาค ๐.๑-๓.๐ ไมครอน เพื่อช่วยพ่นละอองน้ำสู่บรรยากาศในวันที่มี PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และจีนยังได้ผลิต water cannon หรือปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ ใช้พ่นน้ำละอองฝอยขนาด ๐.๑-๓.๐ ไมครอน เพื่อช่วยลด PM 2.5 ในวันที่อากาศปิดและมีค่าฝุ่นสูงประกอบกัน”
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองต่อสื่อมวลชนว่า “ได้มีการประสานงานร่วมกับชมรมโดรนของจังหวัดนครราชสีมา นำโดรนขนาดเล็ก ๕๐ ตัว ที่สามารถบรรทุกน้ำได้ ตัวละ ๑๐ ลิตร มาพ่นน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง โดยน้ำที่จะนำมาใช้จะเป็นโมลาส หรือกากน้ำตาล โดยให้เหตุผลว่า น้ำหวานโมลาสจะช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศ เมื่อตกลงมาบนพื้นจะเป็นหยดน้ำสีดำ”
มาตรการใช้โดรนพ่นน้ำผสมน้ำหวานนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกอินเทอร์เน็ต และเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อ Workpoint News เกี่ยวกับกรณีการใช้โดรนพ่นน้ำหวาน ว่า “การใช้น้ำหวานฉีดพ่นแทนน้ำธรรมดานั้น ผลที่ได้อาจไม่ต่างกัน เนื่องจากการฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อให้สามารถดักจับ PM 2.5 ได้นั้น น้ำต้องมีละอองขนาดเล็กมาก และใช้แรงดันน้ำอยู่ที่ประมาณ ๗๐-๒๐๐ บาร์ ฉีดสูงขึ้นไป ๑๐๐ เมตร แต่อุปกรณ์ที่ไทยใช้อยู่ปัจจุบัน เช่น รถดับเพลิง มีแรงดันน้ำสูงสุดอยู่ที่ ๕๐ บาร์ จึงสามารถจับได้แค่ฝุ่นขนาด PM 10 เท่านั้น นอกจากนี้ ความหวานในน้ำตาลที่ตกลงบนพื้นถนน หรือตามใบไม้ จะทำให้เกิดเชื้อรา เพราะน้ำตาลเป็นสารอินทรีย์ ที่ต้องมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย”
เมื่อเกิดกระแสที่ไม่ดีนี้ ในที่สุด เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “จะยกเลิกการพ่นของเหลวจากโมลาส และใช้น้ำเปล่าแทน เนื่องจากลักษณะการบินโปรยละอองโมลาสจะต้องบินในพื้นที่ต่ำจึงจะได้ผล แต่ด้วยสภาพอากาศฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างสูงจึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีผลงานการวิจัยจากหน่วยงานใดที่ระบุว่า โมลาสสามารถจับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ จึงสรุปยกเลิกการใช้โมลาส”
ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ อยู่มานานร่วมเดือนแล้ว มีหลายฝ่ายต่างเสนอแนวคิด แนวทาง มาตรการการต่าง ๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา เห็นได้ชัดว่าเมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ในการประชุมระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมีประธานคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในงานมีนักวิชาการมากมายมาร่วมกันเสนอแนวทางในการแก้ปัญหานี้จนล้นห้องประชุม ทำให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ต้องการให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง