วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี

1

จริงๆ เป็นเรื่องยากที่จะเอากลุ่มไปสวมให้ว่างานสารคดีเรื่องหนึ่งจัดอยู่ในประเภทไหน แต่การกำหนดหมวดหมู่มีข้อดีที่จะช่วยให้คนเขียนยึดกุมชัดเจนอยู่กับประเด็นที่จะสื่อ และเป็นการบอกกับคนอ่านเป็นเบื้องต้นต่อเรื่องที่จะได้อ่าน

แต่เท่าที่เห็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอ้างต่อๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ทฤษฎีที่ยกมาอ้างอิงกันนั้นไม่ได้หนุนเสริมเรื่องนี้เลย มีแต่ยิ่งทำให้มึนงงจับต้นชนปลายไม่ได้

ถ้ามองจากโลกจริง เราจะเห็นประเภทของงานสารคดีได้จากนิตยสารหลายหัว

งานสารคดีแบบที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร อสท. คือประเภท สารคดีท่องเที่ยวทั้งเล่ม

ก่อนนี้ยังมีนิตยสาร ค คน ที่เน้นงาน “สารคดีชีวิต” และในนิตยสาร อัพเดท ที่เป็นสารคดีวิทยาศาสตร์

นิตยสาร สารคดี เน้นสารคดี ๕ ประเภทคือ สารคดีชีวิต สารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สารคดีวิทยาศาสตร์ สาคดีประวัติศาสตร์ สารคดีศิลปวัฒนธรรม

ดังนั้นหากยึดตามแนวเนื้อหาเป็นแกนหลัก ประเภทของงานสารคดีจึงน่าจะพอจำแนกแจกแจงได้ดังนี้

2

สารคดีชีวิต เนื้อหาเล่าเรื่องราวชีวิตบุคคล ชุมชน หรือเรื่องราวชีวิตของผู้เขียนเองที่เรียกว่าอัตชีวประวัติ ก็จัดอยู่ในสารคดีชีวิตทั้งสิ้น

สารคดีท่องเที่ยว บางทีเรียก สารคดีสัญจร เล่าการเดินทางที่เชื่อมโยงกับสถานที่ มักมีการบรรยายภาพ ความรู้สึก ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัส เป็นสารคดีประเภทหนึ่งที่นิยมเขียนกันมากในยุคนี้

สารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ป่าไม้ สัตว์ป่า การอนุรักษ์ ดูแลรักษา การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องทางกายภาพรอบๆ ตัว

สารคดีประวัติศาสตร์ งานเขียนแนวย้อนรอย สืบเสาะเจาะค้นเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ความทรงจำ วัตถุหลักฐาน พยานบุคคล และร่องรอยอื่นๆ มาประมวลตีความเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ในปัจจุบัน

สารคดีวิทยาศาสตร์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิทยาการ การค้นพบใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เป็นต้น

สารคดีศิลปวัฒนธรรม มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะแขนงต่างๆ ประเพณี วิถีชีวิต การแสดง หัตถกรรม งานที่สะท้อนมิติทางวัฒนธรรม
ฯลฯ

3

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว การแบ่งประเภทเป็นเรื่องยาก และยังไม่เด็ดขาดตายตัว อีกทั้งบ่อยครั้งที่งานสารคดีเรื่องหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับหลายด้าน อย่างยากต่อการจะจัดเข้าประเภทหนึ่งใดได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ประเภทของงานสารคดียังมีอีกหลายหลากมากมายกว่านี้ หมวดหมู่ ๖ ประเภทที่ยกมาอ้าง เป็นเพียงการแบ่งแบบหลวมๆ เพื่อสื่อสารเบื้องต้นระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน มีเป้าหมายเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ไม่มั่ว และเป็นแนวทางให้เดินตามได้ง่ายสำหรับนักเขียนหัดใหม่

เป็นเพียงความพยายามที่จะแยกแยะให้เห็นผลจากการขับเน้น เลือกหยิบเหลี่ยมมุมไหนขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง เนื่องจากหัวเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ผู้เขียนสามารถเลือกนำเสนอได้ในหลายด้านตามแต่จะเลือกมาเล่าผู้อ่าน

การรู้จัก “ประเภท” ของงานสารคดีไว้บ้าง อาจช่วยให้ผู้เขียนเจาะจงประเด็นหลักของเรื่องได้แม่นยำขึ้น

4

กรณีตัวอย่าง หากจะทำสารคดีเรื่อง ภูทับเบิก อดีตไร่กะหล่ำปลีใหญ่สุดในอีสาน ที่อำเภอหล่มเก่า เพชรบูรณ์ ที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ รถติดหนาแน่นที่สุดช่วงเทศกาลในทุกวันนี้

ในหัวเรื่องหรือพื้นที่เดียวกันนี้ หากจะทำสารคดีท่องเที่ยว ประเด็นหลักและการเก็บข้อมูลของผู้เขียนก็จะมุ่งไปที่บรรยากาศของการท่องเที่ยว ภาพนักท่องเที่ยว ความงามและความรู้สึกต่อสถานที่ การเดินทาง จุดเช็คอินที่เป็นไฮไลน์ ของกินที่ไม่ควรพลาด แบบให้คนอ่านรู้สึกสนุกร่วม เห็นภาพ ไปเที่ยวตามได้

ถ้าทำสารคดีชีวิตคนทับเบิก ก็ต้องเน้นไปที่วิถีของผู้คนท้องถิ่น ชีวิตแบบเดิม ความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบทั้งดี-ร้าย โดยควรมีตัวละครหลัก ที่เป็นคนในพื้นที่ คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นตัวนำเรื่อง จะช่วยให้สารคดีมีน้ำเนื้อมีชีวิตชีวา โดยยึดกุมเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ คือชีวิตคนในพื้นที่กลุ่มนั้น

ถ้าจะทำสารคดีประวัติศาสตร์ ก็จะเกี่ยวพันกับเหตุการณ์และช่วงเวลา ต้องเจาะค้นว่ามีหลักหมาย ความเป็นมาที่สำคัญอย่างใดบ้าง อย่างน้อยก็อดีตที่เคยเป็นที่ทำกิน แปลงปลูกกะหล่ำ หรือย้อนไปไกลกว่านั้นโดยบริบทพื้นที่อันต่อเนื่องอยู่กับภูหินร่องกล้า แถบนี้อาจเป็นเขตเคลื่อนไหวของ “ทหารป่า” และหลายคนในพื้นที่อาจเป็นสหายนักรบเก่าด้วยก็เป็นได้ สุดแท้แต่ผู้เขียนจะเจาะลึกลงไปได้

หรือถ้าจะทำสารคดีสิ่งแวดล้อม ก็อาจเจาะไปที่เรื่องการสูญเสียหรือคงอยู่ของพื้นที่ป่าเขา ดิน-น้ำที่อาจสะอาดขึ้นจากที่ก่อนนี้หนักหน่วงด้วยการใช้สารเคมีจากการปลูกกะหล่ำปลี หรือยิ่งเสื่อมโทรมจากปฏิกูลการท่องเที่ยว และรุกป่าของบรรดารีสอร์ท

ในแง่นี้ จะเห็นว่าประเภทของสารคดีช่วยให้ผู้เขียนและผู้อ่านชัดเจนต่อประเด็นที่จะเจาะและจะเล่า ทำให้ทำงานง่าย และง่ายต่อคนอ่านด้วย

ความพยายามที่จะแบ่งให้เห็นประเภทของงานสารคดีก็เพื่อประโยชน์ดังว่านี้

ทฤษฎีมีส่วนช่วยหนุนเสริมภาคการปฏิบัติแน่นอน แต่ต้องเป็นหลักที่รัดกุม ชัดเจน และใช้ได้จริง ถึงควรได้รับการอ้างและส่งต่อกันอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา