ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


นอกจากเครื่องรางของขลัง ปฏิปทา และการบำเพ็ญสาธารณกุศลเป็นอเนกอนันต์แล้ว เหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนนับถือหลวงพ่อคูณ (พระเทพวิทยาคม คูณ ปริสุทฺโธ ๒๔๖๖ – ๒๕๕๘) กันมาก คงเพราะชื่อท่านมีความหมายอันเป็นมงคลว่า เพิ่มขึ้น มากขึ้น

แต่ที่ต้องนับถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง คือคติใหม่ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นไม่กี่สิบปีมานี้ ในการนำเอารูปพระเกจิอาจารย์ผู้มีมงคลนาม มาวาดให้เรียงเข้าแถวกันหรือซ้อนไหล่คล้ายรูปหมู่ อ่านได้เป็นเหมือนคำอวยพร เช่น “แก้ว-แหวน-เงิน-ทอง” / “เงิน-ทอง-มั่น-คง” / “รวย-เพิ่ม-พูน” ฯลฯ

บางแผ่นยังสร้างความหมายใหม่เพิ่มขึ้นด้วยการเลือกพระเถระจำนวน ๙ รูป ให้เป็นเลขมงคลซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง อย่าง “แก้ว-แหวน-เงิน-ทอง-มั่น-คง-เจริญ-สุข-สด-ชื่น” หรือ “แก้ว-แหวน-เงิน-ทอง-เจริญ-สุข-เกษม-มั่น-คง”

เคยพบเห็นบางรายระดมพระคณาจารย์เป็นชุดใหญ่ ๑๒ รูป “อยู่-ดี-มี-ศุข-เงิน-ทอง-เพิ่ม-พูล-จง-รวย-มั่น-คง” บางชุดถึงกับไปผนวกรวมเอาพระนามสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอีกหลายพระองค์เข้าไปด้วยคือ “จง-รวย-เงิน-ทอง-มั่น-คง-อยู่-เกษม-เจริญ-ศุข-สด-ชื่น”

ส่วนจำนวนสูงสุดที่ผ่านตานั้น ดูแทบจะเป็นภาพถ่ายเนื่องในการประชุมพระสังฆาธิการ คือเป็นชุด ๑๘ “จง-เจริญ-รวย-เงิน-สด-เพชร-ทอง-มั่น-คง-อยู่-ดี-มี-ศุข-ชื่น-ฉ่ำ-เกษม-สำราญ-ใจ”

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ชุดภาพรวมพระเกจิฯ ที่ถือได้ว่าสั้น กระชับ และ “ตรงประเด็น” ที่สุดสำหรับคนค้าขายคือ ชอบ-เงิน-สด

เราท่านอาจเคยเห็นป้ายลายมือมีข้อความประเภท “จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง” หรือ “พรุ่งนี้เซ็นได้” เขียนติดเสาติดฝาร้านชำร้านโชห่วยตามตรอกซอกซอยต่างๆ หรืออีกอย่างหนึ่งที่เคยเห็นบ่อยๆ สมัยก่อนคือโปสเตอร์ก็อปปี้ภาพพิมพ์ฝรั่งรุ่นศตวรรษที่แล้วซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก วาดเป็นรูปพ่อค้าสองคน คนหนึ่งผอมซูบ เสื้อผ้าเก่าขาด ตู้เซฟว่างเปล่า มีหนูวิ่งวนรอบตัว พร้อมคำบรรยายว่า “I sold on credit! พ่อค้าเงินเชื่อ” ในกรอบติดกัน มีพ่อค้าอีกคน อ้วนพี มั่งคั่งร่ำรวย เงินอัดแน่นเต็มตู้ อธิบายว่า “I sold in cash! พ่อค้าเงินสด”

ภาพพิมพ์ที่ว่านี้คงไม่ได้เป็นเครื่องรางอะไร แต่เป็นเครื่องเตือนใจพ่อค้าแม่ขายให้ดูแลกระแสเงินสดมากกว่า

แต่นวัตกรรมในระยะไม่กี่ปีมานี้ ที่ยังคงความหมาย “จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทอง” หรือ “พ่อค้าเงินสด” พร้อมบวกสถานะ “เครื่องรางเรียกทรัพย์” เข้าไปด้วย ได้แก่ “ชอบ-เงิน-สด”

ยังค้นไม่พบประวัติว่าเป็นความคิดของท่านผู้ใดที่ทำเป็นรูปพระเกจิอาจารย์สามรูป ได้แก่ หลวงปู่ชอบ วัดป่าสัมมานุสรณ์ จังหวัดเลย หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร และหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งว่าที่จริง ภิกษุทั้งสามรูปอาจมิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ หากแต่ถูกจับมารวมกันเรียงกันเพราะชื่อที่ “ใช่”

มีทั้งที่พิมพ์เป็นภาพ ปั๊มเป็นเหรียญ หล่อประติมากรรมลอยตัว แถมยังมีการทำรูปพระเกจิสามองค์นี้รวมกันอยู่บน “กำไล” เครื่องประดับที่ถูกลากเข้าความว่าเป็นคำเดียวกับ “กำไร” อีกด้วย!


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี