ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ พ็อคเกตบุ๊ครวมผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนนักเขียน
ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕

เยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕ มีโอกาสโคจรมาพบกันอีกครั้งเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา  หลังห่างหายกันไปนานเกือบปี บรรยากาศในการพบกันคราวนี้แทบไม่ต่างไปจากเมื่อครั้งหัดจับปากกาเรียนรู้การเขียนงานสารคดี  เพียงแต่วันนี้ พวกเขามีผลงานรวมพิมพ์ในพ็อกเกตบุ๊กแล้ว

งานเปิดตัวหนังสือ บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ และการมอบรางวัลงานเขียนสารคดี ค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕ จัดขึ้นที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓  ในช่วงต้นเริ่มด้วยการเสวนาในหัวข้อที่หลายคนยังสงสัย… “นักเขียน (สารคดี) เรียนกันได้!?”

สกุล บุณยทัต อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่า “งานเขียนสารคดีเป็นงานเขียนประเภทที่ผมเรียกว่าเป็นปฐมฐาน คือเป็นฐานเริ่มต้นของการเรียนรู้ในเชิงการเขียน  หัวใจสำคัญของงานประเภทนี้คือการทำความรู้จักกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เพื่อสืบเสาะหาความจริงแล้วถ่ายทอดเป็นเรื่องราวออกมา  ปัจจัยสำคัญของงานสารคดีจึงมีที่มาจากการตั้งข้อสงสัยในสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัว  ยกตัวอย่างเมื่อเราขึ้นทางด่วน ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าพนักงานที่ด่านเก็บเงินเขาทำงานกันอย่างไร ถึงเวลาเที่ยงคืนเขารู้สึกเบื่อหน่ายบ้างไหม  หรือชีวิตของเด็กเชียร์เบียร์เป็นอย่างไร เป็นต้น  ประเด็นจากความสงสัยเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียนสารคดี  ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่างานสารคดีสามารถเรียนรู้กันได้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความอยากรู้อยากเห็นของเรา อีกทั้งการเรียนรู้งานสารคดีไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่เราเห็นว่าโลกใบนี้มีตัวละคร เหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่ไม่ได้รับการถ่ายทอด”

ด้าน ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระ มองว่า “สารคดีเรียนกันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเรียน คือเมื่อเรียนแล้วต้องลงมือปฏิบัติจริง เช่นเดียวกับการหัดขับรถหรือขี่จักรยาน  ไม่มีใครเป็นได้ด้วยการอ่าน ต่อให้อ่านเป็นร้อยเล่มก็สู้คนไม่อ่านแต่หัดจนหัวเข่าถลอกไม่ได้  หากอยากเป็นนักเขียนสารคดีจึงมีกฎปฏิบัติอยู่ ๒ ข้อ หนึ่งคือต้องลงมือเขียนเสียแต่วันนี้ สองคือหากมีข้อสงสัยอะไรให้ย้อนกลับไปดูข้อที่ ๑”

ขณะที่ วีระศักร จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ในฐานะ “ครู” ผู้มีส่วนบ่มเพาะทักษะการเขียนสารคดีให้แก่เยาวชนในโครงการค่ายนักเขียนสารคดี กล่าวว่า “แม้จะมีวาทะในแวดวงคนเขียนหนังสือว่างานเขียนเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้..แต่เรียนรู้ได้  แต่ก็ถูกย้อนแย้งด้วยข้ออ้างอิงที่ว่า นักเขียนที่ยิ่งใหญ่ไม่ว่าของเมืองไทยหรือของโลก มีสักคนไหมที่สำเร็จจากสถาบันสอนการเขียน  สิ่งที่ถ่ายทอดให้แก่กันในค่ายนักเขียนสารคดีจึงคิดว่าเป็นเหมือนการบอกทางจากผู้ที่เคยผ่านทางมาก่อน เป็นคำแนะนำและทำความรู้จักกับหลักการเบื้องต้นเพื่อช่วยให้เขาก้าวไปถึงที่หมายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น  หลายปีที่ทำค่ายกันมา ไม่ว่าท้ายสุดผู้เคยผ่านค่ายจะเลือกเดินไปตามเส้นทางใด ก็เชื่อได้ว่าเขารู้ความหมายและเข้าใจหลักการเบื้องต้นของงานเขียนประเภทสารคดี เป็นแนวทางพื้นฐานที่สามารถใช้พัฒนาตัวเองต่อไปบนเส้นทางสายนี้”


ครูประจำค่ายเยาวชนนักเขียนวิทยากร และคณะผู้จัดถ่ายภาพร่วมกัน
หลังพิธีมอบรางวัลงานเขียนสารคดี และเปิดตัวหนังสือ บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ

บรรยากาศ งานเสวนาหัวข้อ “นักเขียน(สารคดี) เรียนกันได้ !?”
โดยวิทยากร(จากซ้าย) ธีรภาพ โลหิตกุล, สกุล บุณยทัต, วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ดำเนินรายการโดย ศรัณย์ ทองปาน เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า

ค่ายนักเขียนสารคดีดำเนินการโดยนิตยสาร สารคดี และสำนักพิมพ์สารคดี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๗ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย โดยใช้กระบวนการเขียนงานสารคดีเป็นกิจกรรมพัฒนาความคิดในความเข้าใจตนเองและสังคม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์งานเขียนแนวสารคดี  ความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้โครงการค่ายนักเขียนสารคดีมีโอกาสต้อนรับคนหนุ่มสาวที่สนใจบ่มเพาะทักษะการเขียนสารคดีในปีต่อๆ มา

ค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕ นี้จัดขึ้นในปี ๒๕๕๒ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)มีระยะเวลาต่อเนื่องกว่า ๔ เดือนตั้งแต่เมษายนถึงสิงหาคม ๒๕๕๒  โดยเยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน ๙ คนนำเสนอหัวข้อสารคดีที่ตนสนใจแล้วลงพื้นที่เก็บข้อมูลและเขียนงานสารคดีชิ้นนั้น จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี  ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีหญิงรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๒  และ ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีแถวหน้าของไทย  หลังจากนั้นได้จัดให้มีการมอบรางวัลงานเขียนสารคดีและรวมพิมพ์ผลงานของเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง ๙ เรื่อง

นั่นเป็นที่มาของ บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ พ็อกเกตบุ๊กหนา ๑๘๘ หน้า รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนนักเขียนผู้ผ่านการเคี่ยวกรำทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการเขียนสารคดีในโครงการค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕

ผลงานจากเยาวชนนักเขียนทั้ง ๙ เรื่อง แม้จะมีที่มาจากความสนใจส่วนบุคคล แต่ประเด็นที่นำเสนอกลับสอดคล้องไปในทางเดียวกัน คือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ “บางสิ่งบางอย่าง” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของบุคคล สิ่งของ เหตุการณ์ หรือโอกาสเพียงครั้งหนึ่งครั้งเดียวของชีวิต อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือ บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ

งานเขียนสารคดีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ มี ๒ ผลงาน ได้แก่เรื่อง “เรือเกลือ ฤๅจะเหลือเพียงตำนาน” โดย น.ส.พลอยบุษรา ภัทราพรพิสิฐ  และเรื่อง “สัปเหร่อ : ผู้เปิดประตูสู่การเดินทางครั้งสุดท้าย” โดย น.ส.อมรรัตน์ รัตนวงค์  รางวัลชนะเลิศอันดับ ๓ เรื่อง “จากพงอ้อกอข้าวสู่ฝั่งคอนกรีต ‘แสนแสบ-บางขนาก’ แผลเก่าชาวกรุง” โดยนายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ส่วนรางวัลชมเชยมี ๖ ผลงาน ได้แก่เรื่อง “ความงาม…ครั้งสุดท้าย?” โดย น.ส. กรองกานต์ รอดพันธ์, “โหมโรง สุดจิตต์ ดุริยประณีต แม่ครูผู้บรรเลงเพลงแห่งอดีต” โดยนายไกรภพ สาระกูล, “วันวานในวันนี้ของชายขายบริการ” โดย น.ส.ชรินรัตน์ ขุนขำ, “แว่วเสียง ‘ขลุ่ยบ้านลาว’” โดย น.ส.ณัฏฐ์นรี
กระกรกุล, “องศาที่ต่างกัน” โดยนายสุรเดช บุญญ-ตนวที และ “สุดท้ายที่เหลือคือ ‘เถ้าถ่าน’ และคำกล่าวขานที่ยังคงอยู่…” โดย น.ส.อนัญญา คูเอี่ยม

พลอยบุษรา ภัทราพรพิสิฐ นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากผลงานเรื่อง “เรือเกลือ ฤๅจะเหลือเพียงตำนาน” กล่าวว่า “การได้รับรางวัลในวันนี้และได้เห็นหนังสือ บางสิ่งไม่เคยหวนกลับ ได้รับการตีพิมพ์ ทำให้รู้สึกว่าค่ายนักเขียนสารคดีที่พวกเราเข้าร่วมอบรมต่อเนื่องถึง ๕ เดือนจบลงโดยสมบูรณ์แล้ว หากแต่ความรู้รวมทั้งฝีมือในการเขียน พวกเรายังคงต้องฝึกฝนต่อไป โลกของงานสารคดียังมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอีกมาก”

ไกรภพ สาระกูล บัณฑิตจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของรางวัลชมเชยจากผลงานเรื่อง “โหมโรง สุดจิตต์ ดุริยประณีต แม่ครูผู้บรรเลงเพลงแห่งอดีต” ว่าด้วยอัตชีวประวัติของครูสุดจิตต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปี ๒๕๓๖ กล่าวว่า “ผมเริ่มเขียนงานตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เคยได้สมใจสักที กระทั่งมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในค่ายนักเขียนสารคดีครั้งที่ ๕ ทำให้พบว่าแนวทางการเขียนสารคดีที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร  ความภาคภูมิใจในครั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณครูผู้มีใจอารี…ครูอรสม ครูวีระศักร  ครูวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์  และที่ขาดไม่ได้คือเพื่อนๆ ร่วมค่ายที่น่ารัก ช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้กำลังใจมาโดยตลอด”

ด้าน อรสม สุทธิสาคร ในฐานะครูนักเขียนสารคดีและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “ความรู้ด้านการเขียนสารคดีที่ได้รับจากค่ายเป็นเพียงบันไดขั้นต้น วันเวลาที่ทอดยาวไกลในหนทางข้างหน้าอยู่ที่การพิสูจน์ตัวเองของแต่ละคน  ความอดทน มุ่งมั่น และการพัฒนาตนอย่างไม่ย่อท้อ คือปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จ  ประสบการณ์ที่ครูมีให้อาจแบ่งปันสู่กันได้ แต่หนทางสู่ ‘ดวงดาว’ เป็นสิ่งที่น้องๆ ต้องแสวงหาและพากเพียร ไขว่คว้ามาด้วยตนเอง”

แล้ววันหนึ่งข้างหน้า เมล็ดพันธุ์น้อยๆ เหล่านี้คงมีโอกาสงอกงามเป็นต้นกล้า และเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในวงการสารคดีต่อไปในอนาคต