ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


นิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายในเมืองไทยมาตั้งแต่โบราณคือ “สังข์ทอง” อันมีต้นเค้าจาก “สุวรรณสังข์ชาดก” ในชุดปัญญาสชาดก หรือที่เรียกกันว่า “ชาดกนอกนิบาต” คือเป็นเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่พระเถระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นพม่าและล้านนา ได้จับเอานิทานพื้นบ้านดั้งเดิมมา “บวช” ให้กลายเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา

เรื่อง “สังข์ทอง” ฉบับที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดคือบทละครนอก “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีการนำไปเล่นเป็นละครกันมาช้านาน จนถึงยุคโทรทัศน์ก็ยังถูกหยิบยกไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาหลายยุคหลายสมัย และยังออกอากาศอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้

ส่วนในระดับชาวบ้านทั่วไป เรื่อง “สังข์ทอง” ก็ซึมซาบจนถูกนำไปผูกโยงกลายเป็น “ภูมินาม” ชื่อสถานที่ในท้องถิ่นของตัว อย่างเช่นเขานางพันธุรัตน์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่ดูคล้ายรูปคนนอน ซึ่งมีตำนานเล่าว่านั่นแหละคือนางยักษ์พันธุรัตน์ที่ตายแล้วกลายเป็นหิน

เมื่อราว ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยพบเห็นครั้งแรกที่วัดแห่งหนึ่งแถวสมุทรสาครว่ามีการสร้างเครื่องรางพระสังข์ทอง และปั้นรูปพระสังข์ทองตัวเท่าคน โผล่ออกมาจากหอยสังข์ ไว้ให้ญาติโยมบูชา

ประเด็นสำคัญก็คือพระสังข์ทองมีคาถาวิเศษที่เรียนมาจากนางยักษ์พันธุรัตน์ผู้เป็นแม่เลี้ยง คือมนต์มหาจินดา ซึ่งใช้เสกเป่าเรียกเนื้อ (หมายถึงสัตว์จำพวกเก้งกวาง) เรียกปลา ซึ่ง “ถึงที่ตาย” ให้มาหาได้ เมื่อเป็นดังนั้น เวลาจะสร้างเป็นวัตถุมงคล มนต์มหาจินดา หรือ “จินดามณี” (แก้วสารพัดนึก) จึงถูกให้ความหมายใหม่ ว่าเป็นมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ “เรียกลูกค้า” หรือ “เรียกทรัพย์”

นึกดูอีกทีก็อาจมีความเชื่อมโยงกับคติที่ถือเสมือนว่า “ลูกค้า” เปรียบเสมือน “ปลา” อย่างที่ตั้ง “ไซดักทรัพย์” ไว้ตามหน้าร้าน

แต่ที่ดูหนาตาในระยะหลังมานี้ แพร่หลายอยู่ตามหน้าร้านค้าร้านก๋วยเตี๋ยว คือรูปเจ้าเงาะ (หรือพระสังข์ทอง-ซึ่งก็เป็นตัวละครเดียวกัน แต่เวลาพรางตัวจะสวมหัวเป็นเงาะป่า)

รูปเจ้าเงาะที่เห็นส่วนใหญ่ทำด้วยปูนระบายสี เป็นรูปเด็กอ้วนๆ ตัวดำปี๋ หัวหยิก ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าแดง และมักมีการลงยันต์กำกับไว้ด้วย สังเกตว่าบางสำนักยังสร้างให้แบกปลาอย่างที่เล่าไว้ในต้นเรื่อง แต่ก็เห็นมีบ่อยๆ ที่เจ้าเงาะ “เรียกทรัพย์” แบกถุงเงินถุงทอง ทำนองเดียวกันกับพระสังกัจจายน์หรือนางกวัก ที่ถูกจับให้ถือถุงเงินถุงทองเป็นอุปกรณ์ประจำตัวกันไปหมด

นอกจากนั้นแล้วยังเคยเห็นมีทั้งเจ้าเงาะที่เป็นเด็กผู้ชาย และเจ้าเงาะเด็กผู้หญิงด้วย ซึ่งอันหลังนี้ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่ามายังไง ?

ยิ่งไปกว่านั้น บางอาจารย์ท่านอาจรู้สึกว่า เมื่อกลับไปอ่านในเรื่อง “สังข์ทอง” แล้ว พระสังข์หรือเจ้าเงาะ ว่าที่จริงก็เป็นแค่ “ลูกศิษย์” ที่เรียนวิชามนต์มหาจินดามาจากนางยักษ์พันธุรัตน์ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ไหนๆ จะบูชาเรื่องคาถาเรียกทรัพย์กันทั้งที ก็ควรต้องย้อนกลับไปหา “ตัวแม่” กันเลยดีกว่า จึงมีการสร้างเครื่องรางรูปแบบเดียวกับนางกวัก แต่ทำเป็นนางยักษ์ร่างอ้วนล่ำ นั่งยกมือขึ้นกวักเหมือนนางกวัก แล้วขนานนามให้ใหม่ว่าเป็น รูป “นางพันธุรัตน์”

สุดแท้แต่จะมีจินตนาการกันไป…


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี