สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
เครดิตภาพ : มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
คนที่เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจำนวนมากรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ค่ายอาสา” มานานแล้ว
แต่ในยุคนี้ การออกค่ายในพื้นที่ห่างไกล สร้างสิ่งปลูกสร้างแล้วก็จบโครงการ ดูจะ “เก่า” ไปแล้วในบริบทโลกปัจจุบัน
ในปี ๒๐๑๖ นักศึกษา ๒๓๔ คน จาก ๓ มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์คือ Nanyang Technological University (NTU) National University of Singapore (NUS) และ Singapore Management University (SMU) ภายใต้การสนับสนุนของ ASEAN Foundation หน่วยงานภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน แบ่งกลุ่มคิดโครงการพัฒนาโดยได้รับเงินสนับสนุนกลุ่มละ ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๙.๔ แสนบาท) ภายใต้โครงการ Maybank’s empowering Youths และคัดเลือกชุมชนในอาเซียนเพื่อทำค่ายอาสาแนวใหม่
ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มคิดโครงการเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนในประเทศเป้าหมาย ใช้เวลาดำเนินโครงการทั้งหมด ๑ ปี จากนั้นนำเข้าสู่ระบบประเมินที่มีคณะกรรมการตัดสิน โดยนอกจากเป็นค่ายอาสาแนวคิดใหม่ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่การรวมกลุ่มนักศึกษาหลากหลายสาขาเพื่อนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้งานจริง โดยก่อนจะอนุมติเงินทุนนั้น กลุ่มที่เสนอโครงการจะมี workshop วางแผนอย่างรอบคอบ โดยมีตัวแทนจากองค์กรท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่และผู้ออกทุนเข้ามาร่วมประชุมด้วย
ในปี ๒๐๑๖ โครงการที่โดดเด่นได้รับรางวัลคือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตในสลัมบาเซโค (Baseco) ชุมชนแออัดที่มีประชากรราว ๒ แสนครอบครัวในพื้นที่ ๓๕๐ ไร่ (คล้ายชุมชนคลองเตยในกรุงเทพฯ) ของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยในชุมชนแห่งนี้ไม่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานคือน้ำประปา หากคนในชุมชนต้องการน้ำจะต้องจ่ายเงินเพื่อติดตั้งท่อประปาจ่ายน้ำเข้าบ้านเอง
เมื่อได้ชื่อว่าสลัม นั่นหมายถึงคนส่วนมากที่นี่ยากจน พวกเขาจึงถูกบังคับให้ซื้อน้ำอุปโภคบริโภคในราคาแพงโดยปริยาย อัตราราคาน้ำใช้ราคาตกแกลลอนละ ๕ เปโซ น้ำกินแกลลอนละ ๓๐ เปโซ ส่วนน้ำในบ่อบาดาลแม้จะฟรีแต่ก็ปนเปื้อนด้วยมลภาวะและน้ำเค็ม (เพราะอยู่ติดทะเล) แน่นอนว่าไม่กี่คนที่จะซื้อน้ำได้ตลอดเวลา การขับถ่ายของเสียชุมชนนี้ยังลงไปในแหล่งน้ำทั้งหมด ในชุมชนจึงเกิดอหิวาตกโรคและโรคระบบทางเดินอาหารระบาด
คนในสลัมแห่งนี้ส่วนมากมีรายได้จากการรับจ้างปอกกระเทียมซึ่งพวงหนึ่งมีน้ำหนักราว ๑๔ กิโลกรัม พวกเขาต้องใช้เวลาราวครึ่งวันต่อการแกะกระเทียม ๑ พวง และจะได้รับค่าจ้าง ๕๐ เปโซต่อหนึ่งพวง คนปอกกระเทียมส่วนมากเป็นผู้หญิง โดยมือและแขนของพวกเธอจะปรากฎร่องรอยกรดกระเทียมกัดอย่างชัดเจน
ทีมจาก NUS เข้าไปสร้างระบบน้ำประปาในชุมชน ประดิษฐ์เครื่องปอกกระเทียมที่ช่วยให้ทำงานได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น สร้างห้องครัว ห้องสุขา เพื่อปรับปรุงคุณความสะอาดในชุมชน ปลูกป่าชายเลนป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง สร้างระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งนำน้ำส่วนหนึ่งกลับมาใช้ได้ โดยพวกเขาใช้เวลาราว ๑๔ วันทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น นักศึกษาหลายคนยังสอนภาษาและทำงานอื่นให้ชุมชน เมื่อโครงการจบ คนในชุมชนก็รับช่วงดูแลต่อไป
จากปีเริ่มโครงการคือ ๒๐๑๕/๒๐๑๖ จนถึงตอนนี้ โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ทำงานหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา โดยในปี ๒๐๑๕/๒๐๑๖ มี ๖ โครงการ ปี ๒๐๑๖-๒๐๑๘ มี ๙ โครงการ
ในปี ๒๐๑๘/๒๐๑๙ มีการกำหนด กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นพื้นที่ทำงาน ขยายขอบเขตผู้เข้าร่วมโดยรับคนจากทั่วภูมิภาค และไม่จำกัดแค่นักศึกษา จึงมีทั้งนักศึกษาและผู้ที่มีประสบการณ์ในวัยทำงานเข้ามาร่วมโครงการจำนวน ๙๐ คน แบ่งเป็น ๙ กลุ่ม และในเดือนมกราคม ๒๐๑๙ ที่ผ่านมา พวกเขาร่วม workshop ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาโครงการและเตรียมแผนงาน
เอเลน ตัน (Elain Tan) ผู้บริหาร ASEAN Foundation ระบุว่าปรกติก่อนลงมือทำจะมีการฝึกอบรมและวางแผน โดยปีนี้มีแนวคิดสอดคล้องกับคำขวัญที่ไทยเสนอในฐานะประธานอาเซียนว่า “พัฒนาความร่วมมือสู่ความยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) “ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแค่ใส่เงินลงไปแล้วก็จบ สุดท้ายพอคนทำโครงการถอนตัว คนในท้องถิ่นก็ไม่ได้อะไร จึงต้องคิดกันใหม่ เราอยากให้งานนี้เชื่อมโยงคนอาเซียนเข้าด้วยกัน” ขณะที่ชารอน อึ้ง (Sharon Eng) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารเพื่อสังคมของ Maybank ระบุว่าธนาคารสนับสนุนสำนักเลขาธิการอาเซียนด้านเงินทุนเพราะ “เป็นการ ‘ให้เบ็ด แทนที่จะให้ปลา’ กับคนท้องถิ่น”
โจชัว เดล ซานโตส (Joshua Dale Santos) ลูกครึ่งไทย-ลาตินอเมริกา หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการจากไทย บอกเราว่า การร่วมโครงการในปีนี้ที่เพิ่งจะเริ่มทำให้เขาได้พบกับเพื่อนจากในภูมิภาคเดียวกัน “ได้คุยและทำงานกับคนหลากวัฒนธรรม ในอนาคตย่อมดีกับภูมิภาคนี้เพราะพวกเราจะได้เข้าใจกันมากขึ้น”
นี่จึงเป็น “ค่ายอาสา” แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ของอาเซียนที่ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ