ส. พลายน้อย
เมื่อละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่ง นำเหตุการณ์เกี่ยวกับการยกเสาหลักเมือง หรือประตูเมืองว่ามีการฝังคนทั้งเป็นออกเผยแพร่ ทำให้คนสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวมีจริงหรือไม่ และในฉากนั้นมีพระสงฆ์นั่งทำพิธีอยู่ด้วย ดูไม่เป็นการสมควร เท่ากับนำพระเข้าไปรู้เห็นเป็นใจกับการฆ่าคน จึงเกิดความสงสัยถามไถ่กันขึ้น บางคนก็ว่าเคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้น ทำท่าจะเชื่อ แต่บางคนก็สงสัยว่าได้หลักฐานมาจากตำราใด และเชื่อได้หรือไม่
ความเชื่อเรื่องฝังคนทั้งเป็นนี้ เข้าใจว่าจะมีการบอกเล่าสืบต่อกันมา เป็นการเชื่อแบบชาวบ้านโดยที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน และคนที่รับฟังก็เชื่อโดยไม่ได้ไตร่ตรอง จนถึงกับนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ก็มี เท่าที่พบมีอยู่แห่งหนึ่ง คือการฝังหลักเมืองของเมืองถลาง ในหนังสือ ประวัติจังหวัดภูเก็ตฉบับฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า ‘บ้านเมืองใหม่’ เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมือง โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม ๓๒ รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง (ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า สี่หูสี่ตา คือกำลังมีครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องเรื่อย ๆ ไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหนมาไปประจำที่ ในที่สุดจึงไปได้ผู้หญิงชื่อนางนาค ท้องแก่ประมาณ ๘ เดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบขึ้น ๓ ครั้ง แล้วได้เดินตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลัก เป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง”
ตามเรื่องข้างต้นนี้ไม่มีในพงศาวดาร คนเขียนขึ้นตามที่เคยฟังเขาเล่ากัน หรือจับเอาเรื่อง ราชาธิราช เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทมาเป็นพิธีฝังหลักเมือง ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ครั้นวันฤกษ์พร้อมกันคอยหาฤกษ์ และนิมิตกึ่งฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์ แล้วก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุม จึงยกเสาปราสาทนั้นลงหลุม”
บางทีจะเป็นเรื่องนี้เองก็ได้ ที่คนเอาไปโจษขานเล่าลือกัน แล้วเลยหลงเข้าใจผิดไปว่า การฝังหลักเมือง หรือประตูเมืองนั้นต้องฝังคนท้องทั้งเป็น หรือคนที่มีชื่อว่า อิน จัน มั่น คง จนพวกฝรั่งฟังไม่ได้ศัพท์ จึงเอาไปเขียนอธิบายกันยืดยาว และที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ หนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ตเล่มดังกล่าว ได้ตีพิมพ์เรื่องตอนนี้ไปได้อย่างไร คนอ่านไม่ได้คิด ก็จำเรื่องผิด ๆ ไป
ตามตำราพระราชพิธีฝังหลุมพระนคร หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตำราพระราชพิธีนครฐาน ฉบับโบราณก็มีอยู่หลายฉบับ ได้พรรณนาพิธีการตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายอย่างละเอียดพิสดาร ก็ไม่มีตอนใดกล่าวถึงคนชื่อ อิน จัน มั่น คง หรือคนมีท้อง มีแต่ให้เอาดินจากทิศทั้ง ๔ มาปั้นเท่าผลมะตูม สมมุติว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีคนถือก้อนดินคนละก้อน ยืนปากหลุมทั้ง ๔ ทิศ เมื่อทำพิธีมีโหรผู้ใหญ่ถามถึงก้อนดินแต่ละก้อนนั้นมีคุณประการใด ผู้ที่ถือก้อนดินก็ตอบไปตามลำดับคือธาตุดิน มีพระคุณจะทรงไว้ซึ่งอายุพระนครให้บริบูรณ์ ด้วยคามนิคมเป็นที่ประชุมประชาชนพลพาหนะ ตั้งแต่ประถมตราบเท่าอวสาน, คนถือธาตุน้ำตอบว่า มีพระคุณให้สมเด็จบรมกษัตริย์ แลเสนาอำมาตย์ราษฎรทั้งหลาย เจริญอายุวรรณะสุขะพละสิริสวัสดิมงคลทั้งปวง, คนที่ถือธาตุไฟตอบว่า มีพระคุณให้โยธาทหารทั้งปวงแกล้วกล้า มีตบะเดชะแก่หมู่ข้าศึก, คนที่ถือธาตุลมตอบว่า มีพระคุณจะให้เจริญสมบัติธนธัญญาหาร กสิกรรมวาณิชกรรมต่าง ๆ เมื่อกล่าวตอบครบแล้วก็ทิ้งก้อนดินนั้นลงในหลุม แล้วเชิญแผ่นศิลายันต์ลงในหลุม และเชิญหลักตั้งบนแผ่นศิลานั้น อัญเชิญเทวดาเข้าประจำรักษาหลักพระนคร
พิธีสำคัญก็มีเพียงเท่านี้ ไม่มีการฝังคนทั้งเป็นแต่อย่างไรเลย
ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ ๑๙๐ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๓