ข่าวภูมิทัศน์สื่อออนไลน์
สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน

หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของไทยในปี ๒๕๕๔ หลังเวลาผ่านไป ๘ ปี ในปี ๒๕๖๒ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ อันเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง กฎกติกาที่ได้รับการจับตามองและวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง สถานการณ์ของ “สื่อมวลชน” โดยเฉพาะสื่อมวลชนไทยที่ตกอยู่ในภาวะไม่มีเสรีภาพมาอย่างน้อย ๕ ปี ภายใต้คำสั่งและประกาศต่างๆ ของรัฐบาล คสช. ก็ได้รับการจับตามองเช่นกัน

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาคมเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “การเลือกตั้งและการรายงานข่าวในประเทศไทย ความท้าทายและโอกาสในการขยายกรอบวาทกรรมสาธารณะ” ( A Public Forum on Election and Media Coverage in Thailand : Challenges and Opportunities for Broadening Public Discourse) โดยเชิญตัวแทนจากภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรสื่อ เข้ามาแสดงความเห็นร่วมกัน โดยมีวงเสวนาย่อยหลายวง

สื่อไทยในภาวะ “แบ่งข้าง”

ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ หนึ่งในกรรมการบริหารของกลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out) องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวของสื่อไทยที่กำลังทำวิจัยเรื่อง “บทบาทสื่อในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย” ระบุว่าสถานการณ์ของสื่อไทยในห้วงวิกฤตการเมืองนั้น “แบ่งขั้ว/ข้าง” ชัดเจน โดยเลือกดูจากสองเหตุการณ์ คือ การเลือกตั้งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ และการรัฐประหารวันที่ ๒๒ พฤษภาคมปีเดียวกัน วิเคราะห์จากสื่อสิ่งพิมพ์ ๓ ตัวอย่าง โทรทัศน์ ๓ ตัวอย่าง และสื่อออนไลน์ ๒ ตัวอย่าง

ดร.อุบลรัตน์พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างท่าทีของสื่อมวลชนไทยต่อการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ แบ่งได้ ๓ กลุ่ม คือ “สนับสนุนการเลือกตั้ง” มติชน วอยซ์ทีวี และประชาไท… แสดงท่าทีผ่านข่าว บทบรรณาธิการ ว่าการเลือกตั้งเป็นวิถีประชาธิปไตย กลุ่มที่ ๒ “เป็นกลาง” ไม่แสดงท่าทีชัดเจน ได้แก่ บางกอกโพสต์ และไทยพับลิก้า รายงานข่าวแบบพยายามให้เกิดสมดุลของเนื้อข่าว ไม่สนับสนุนฝ่ายใดแบบเปิดเผย และ “กลุ่มไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง” ได้แก่ ไทยรัฐ ช่อง 5 และไทยพีบีเอส มีน้ำเสียงไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ไม่แสดงท่าทีอย่างเปิดเผย

“ส่วนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ แบ่งได้ ๔ กลุ่ม คือ ‘คัดค้านรัฐประหาร’ ได้แก่ มติชน วอยซ์ทีวี และประชาไท เสนอว่าต้องแก้ปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยแสดงท่าทีผ่านข่าว บท บก. ว่าเป็นการทำนอกกติกา ประเทศเสียหาย ส่วนบางกอกโพสต์มีบทบรรณาธิการว่า ‘Coup offers no solution’ หรือ ‘รัฐประหารไม่ใช่ทางแก้’ แต่ไม่ชี้นำและแสดงทัศนะไม่สนับสนุน กลุ่มที่ยอมรับความจำเป็นในการรัฐประหารคือไทยรัฐ ที่แสดงท่าทีว่าความขัดแย้งของนักการเมืองเป็นสาเหตุให้กองทัพทำรัฐประหาร… ถัดมาคือกลุ่มที่พยายาม ‘เป็นคนกลาง’ ได้แก่ไทยพีบีเอส มีความพยายามรายงานเสียงคัดค้านรัฐประหารและคนที่ได้รับผลกระทบ พยายามสร้างสมดุลในห้องข่าว แต่อีกส่วนหนึ่งมีน้ำเสียงยอมรับว่ารัฐประหารเป็นทางออก ขณะที่ไทยพับลิก้าไม่เสนอประเด็นการเมือง แต่ระยะหลังแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร สุดท้าย ‘กลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร’ คือช่อง ๕ เป็นกระบอกเสียงให้กองทัพ เป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสัญญาณ สร้างภาพลักษณ์ของกองทัพว่ามีเจตนาดี”
ดร.อุบลรัตน์มองว่าสิ่งสำคัญคือการกำหนด “กรอบข่าว” ที่ปัจจัยสำคัญคือสื่อต้องหาทางเพิ่มยอดคลิกเปิดดูข่าวทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่างกับชนชั้นนำทางการเมืองพยายามหาเสียงสนับสนุนวาระของตน ส่วนนักกิจกรรมทางการเมืองก็ต้องการระดมคนให้ได้มากที่สุด และสื่อจะมีผลกับการกำหนดมุมมองของคนบางส่วน

“การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่แปลกคือ กระทั่งสื่อเองยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งแม้ว่าจะมีการหนดวันเลือกตั้งไว้แล้ว”

“ข้อเท็จจริง” และ “คุณภาพ”

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่าเขามีโจทย์ทั้งหมด ๓ ข้อ คือ “หนึ่ง สื่อตรวจสอบตัวเองว่ามีความคิดความเชื่อทางการเมืองแบบใด สอง สื่อเห็นปัญหาสังคมแบบใด สาม อยากให้สังคมไทยเป็นแบบใด ซึ่งคำตอบของ ๓ ข้อนี้จะนำไปสู่บทบาทของสื่อเอง”

เขามองว่าที่ผ่านมาแนวคิดเรื่อง “เป็นกลาง” นั้น “ไม่แน่ใจว่าหมายถึงสถานะทางข้อมูลหรือความเป็นกลางทางการเมือง ผมมองว่าสื่อคิดอย่างไรก็ได้ แต่ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง สื่อมีหลายแบบและจะถ่วงดุลกันเองอยู่แล้ว ผมมองว่าหลักการถกเถียงอย่างเท่าเทียมกันนั้นสำคัญกว่า…ถ้าเราคิดว่าจะเป็นประชาธิปไตย จะทำอย่างไรที่จะไปถึงตรงนั้น อะไรคืออุปสรรคขัดขวาง…ผมเห็นข้อจำกัดจากคำสั่งและกฎหมายที่ออกโดย คสช. แต่คิดว่าสื่อควรหาทางออกไม่ใช่ขังตัวเองเอาไว้ อาจจะใช้การนำเสนอทางออนไลน์ช่วยก็ได้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คิดว่าเราต้องการสื่อที่จัดทัพดูการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ”

ขณะที่ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมืองมองว่า จากการที่เธอเป็นแหล่งข่าวทำให้เห็นว่าสื่อจำนวนมากรายงานไม่ตรง “คิดว่าเป็นปัญหาจากเรื่องทักษะของนักข่าว การจับประเด็น การใช้ภาษา หลายสำนักไม่ผ่าน และเรื่องง่ายๆ อย่างการสะกดก็ผิดจำนวนมาก… สื่อยังนำเสนอแต่ข้อความจากคนมีอำนาจไม่ว่าจะไร้สาระแค่ไหน ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามพูดกลับมีพื้นที่น้อยกว่าและบางครั้งก็ไม่ได้รับการปล่อยเสียง สื่อบางแห่งยังทำตัวไม่ดี แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบกันเอง”

เธอมองว่าที่สำคัญคือสถานการณ์ในการทำงาน “สื่อต้องเข้าใจว่าภายใต้รัฐบาลทหารนั้นต่างกับสถานการณ์ในสมัยรัฐบาลพลเรือน จะทำงานอย่างเดิมได้หรือไม่ เพราะรัฐปิดสื่อได้ นายกฯ จะสั่งอะไรก็ได้…ทำไมสื่อไม่ประท้วง กสทช. ที่ปิดสถานีโทรทัศน์ เราอยากเห็นสปิริตการต่อสู้ตรงนั้น และการให้ความรู้กับประชาชนคืออาวุธที่สำคัญมากในช่วงนี้”

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมองว่า ในห้วงเวลาก่อนเลือกตั้งยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลคือ “นักโทษ” เธอเล่าว่า “เคยเข้าไปในเรือนจำปรากฏมีการตัดข่าวหนังสือพิมพ์บางข่าวออก บอกว่านักโทษไม่ควรเข้าถึงข้อมูลบางอย่างเพราะกระทบความมั่นคงเรือนจำ ดิฉันมองว่าเขาโดนจำกัดเสรีภาพ แต่ไม่ควรถูกจำกัดเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่อย่างนั้นคนกลุ่มนี้เมื่ออกจากเรือนจำจะแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกภายนอก” เธอมองว่า “สื่อควรเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านและสังคมคาดหวังมากว่าจะได้ความรู้จากสื่อ ไม่ควรนำเรื่องเพศมาลดทอนเครดิตทางการเมืองของนักการเมือง แม้ว่าเขาจะเป็นบุคคลสาธารณะก็ควรได้รับการเคารพในจุดนี้”

เสียงตอบจากสื่อ

พิมพ์ผกา งามสม บก.ข่าวออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ระบุว่า ปัจจุบันวิธีการทำงานแบบเก่าของนักข่าวกำลังจะตายเพราะสภาพแวดล้อมของสื่อใหม่ “มันต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก แต่เราก็ไม่สามารถที่จะขาดคนที่รายงานข้อมูลชั้นต้นได้ โจทย์ในตอนนี้คือการสมดุลข้อมูลข่าวสาร แต่บอกเป็นกลางก็ยากเพราะเรามีทรัพยากรจำกัดไม่สามารถไปได้ทุกที่ ทุกฝ่าย เรามีสี แต่เป้าของเราคือเรารายงานได้อย่างรอบด้าน”

พิมพ์ผกามองว่าข่าวออนไลน์อาจจะก้าวหน้าขึ้นได้หากมีการวิเคราะห์มากขึ้น แต่ในสภาพที่ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ “สื่อเองบางทีก็โดดเดี่ยว วอยซ์เราโดน กสทช. สั่งลงโทษมาแล้วกว่า ๒๐ ครั้ง โดนเรียกไปคุยแทบทุกสัปดาห์ โดนกฎหมายจาก คสช. ที่คลุมเครือ ใช้แบบไม่เสมอหน้ากัน”

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ บก.ข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สะท้อนว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวทั้งหมดมีประโยชน์ แต่เขาก็ยอมรับว่าคุณภาพนักข่าวลดลงมาก “คนมักง่ายมากขึ้น เรียนรู้น้อยลง ค้นหาข้อมูลลดลง เรื่องนี้กระทบกับการทำงานของนักข่าวด้วยที่พวกเขามักง่ายมากขึ้น” เขาอธิบายว่าไทยพีบีเอสพยายามรักษาสมดุลด้วยการให้พื้นที่กับทุกฝ่าย “เรายอมรับว่าอายเช่นกันที่เพื่อนในวงการสื่อดิ้นรนทางธุรกิจแต่เราไม่ต้องดิ้นรน แต่ที่เราเจอคือการจับตาแบบเข้มงวด เรามีระบบภายในของเราเอง มีระบบสภาผู้ชม ผมต้องไปชี้แจงแทบทุกสัปดาห์ว่าทำไมฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ไม่ปรากฏในข่าวที่นำเสนอ บางทีเราแก้ปัญหาด้วยการนำมาลงออนไลน์ แต่ข้อจำกัดคือเราไม่สามารถคุยกับคนทุกฝ่ายในเวลาเดียวกันได้ทั้งหมด”

มงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองสถานการณ์ปัจจุบันว่า “เราไม่มีอะไรจะตอบโต้กับข้อเรียกร้อง” โดยเขามองว่า “สื่อยังต้องเป็นกลางภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องอธิบายที่มาของข่าวสารแบบไม่ตัดตอน ไม่ตัดโอกาสในการรับรู้ข่าวสาร” เขายอมรับว่าสื่อเองตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน “สื่อหลายแห่งยังระแวงและกลัวเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ดูเหมือนสิ่งที่ทุกคนยอมรับแบบไม่ต้องกล่าวออกมาอย่างชัดเจนคือ “สื่อไทย” อยู่ในสภาวะที่ไม่ปรกตินักกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา