เรื่องและภาพ กชพร สมวงษ์
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”

@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“จริงๆ ผมก็มีศักดิ์ศรีที่จะไม่ใช้สารเคมีให้พืชผลงอกงาม ของของผมดูแลดี ผมมั่นใจว่าปลอดภัย” 

สีฟ้า กรึงไกร หนุ่มชาวกะเหรี่ยงโปว์ เจ้าของไร่สีฟ้าแห่งบ้านอีมาดอีทรายประกาศกร้าว

ประโยคนั้นเสริมให้เขาเป็นเกษตรกรที่เท่ขึ้นอีกเป็นกอง

ไร่สีฟ้าเป็นไร่สวนผสมแห่งหนึ่งในตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 

เจ้าของไร่ทำเกษตรภายใต้หลักทฤษฎีใหม่ โดยนำความรู้ที่ศึกษาเองจากตำรามาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง

“ทำแบบทฤษฎีใหม่ก็คือสร้างความหลากหลายให้พื้นที่นั่นละ ไม่ได้ปลูกพืชอย่างเดียว” เขาให้ความรู้อย่างเข้าใจง่ายแก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวและเยี่ยมชมไร่ที่เขาตั้งใจพัฒนามาตลอด 5 ปี

สิ่งสำคัญที่ฉันสัมผัสได้จากเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของไร่คือความจริงใจ จะมีคนทำไร่อาชีพที่ขายผลผลิตที่ไหนบอกกับเราว่า “จริงๆ อย่างเราๆ น่ะปลูกผักไว้กินเองดีกว่า”

คล้ายกับเขาห่วงใยว่าผู้บริโภคอาจเจอเกษตรกรที่ปลูกแบบใช้สารเคมีเพื่อเร่งขายมากเกินไป ไม่ใช่ว่าสารเคมีไม่ปลอดภัย เพียงแต่ต้องรู้จักใช้อย่างเหมาะสม

“ถ้าใช้สารเคมีอย่างถูกต้องไม่ผิดวิธี ผมว่ามันปลอดภัยนะ แต่ถ้าแบบที่เขาอยากขายเยอะๆ เขาไม่เว้นช่วงก่อนเก็บมันก็จะมีสารตกค้าง… ทำเกษตรมันต้องใจรักนะ”

มากกว่านั้น ขณะทำหน้าที่นำชมไร่ด้วยตนเอง เขายังทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในตัวเขา “ผมว่าพอเพียงคือรู้จักใช้รู้จักประหยัด รู้จักตัวตนของมัน”

และนั่นคือคำตอบในตัวเองว่า เมื่อไม่ได้ทำไร่ขนาดใหญ่หรือมุ่งผลิตและขายจำนวนมากเพื่อเน้นหารายได้ ทำไมจึงอยู่รอด

“ทำให้มันถูกวิธี รู้จักปรับตัวและไม่ทำลายธรรมชาติ ถ้ารากฐานดี มันก็จะมั่นคง”

คำคมที่ออกจากปากสีฟ้า – เจ้าของที่ใช้ชื่อตนเป็นชื่อไร่ ทำให้ฉันเชื่อว่าเขาจริงใจต่อคำพูด

ถ้ามนุษย์เชื่อว่ารากฐานของการทำไร่คือเคารพธรรมชาติ เลือกที่จะปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ ไม่ใช่ปรับธรรมชาติเข้าหาตัว 

เราจะอยู่ได้อย่างพอดี…และได้หาอยู่หากินกับธรรมชาติตลอดไป

สีฟ้า ไม่ใช่ชื่อสี ไม่ใช่ชื่อไร่ แต่เป็นชื่อคน สีฟ้า กรึงไกร
บ้านไม่กว้าง แต่ใจกว้าง ก็ยังอยู่ได้
ก้มเก็บพืชผลอาจจะปวดหลัง แต่ไม่ปวดท้องเพราะไม่มีอะไรกินแน่ๆ
เยอะ ที่ไม่ใช่คำกริยา แต่เป็นคำวิเศษณ์
ไม่ได้อยู่แบบบ้านใครบ้านมัน เพราะเราเป็นคนบ้านเดียวกัน ญาติกันนั่นเอง