เรื่องและภาพ : ชนาธิป บุญเกิด
“ไร่สีฟ้า” ตามที่ผมได้ยินมาคือเป็นไร่สตรอว์เบอร์รี ภาพแรกที่ผุดในหัวคือ คงไม่ต่างจากไร่ทั่วไปและไม่มีอะไรน่าสนใจพิเศษ เมื่อไปถึงก็ยังรู้สึกอย่างนั้น กระทั่งได้เดินชมทั่วไร่ผมจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด
นอกจากสตรอว์เบอร์รีที่นี่ยังปลูกพืชอื่นอีกเยอะมาก อย่างผักสลัด มะเขือเทศราชินี มะเขือเทศสวีตบอย ต้นหอมญี่ปุ่น แรดิช เบบี้แครอต กะหล่ำปม กะหล่ำหัวใจ ฯลฯ
สีฟ้า กรึงไกร กะเหรี่ยงโปว์ เจ้าของไร่สีฟ้า ผู้ทำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ในกรอบแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” เล่าให้ผมฟังว่าบางชนิดเขาปลูกไว้กินเอง บางอย่างเอาไว้ขาย แล้วยังมีที่ปลูกไว้ทำประโยชน์อื่นอีก อย่าง “ลูกกลอย” ก็ปลูกไว้เพื่อทำยาฆ่าแมลง ให้ธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ
แต่เดิมสีฟ้าก็เคยทำเกษตรแบบปลูกพืชชนิดเดียว ก่อนจะได้เรียนรู้ว่าวิธีแบบนั้นไม่เหมาะสมเพราะพืชจะดูดแร่ธาตุในดินชนิดเดิมๆ ไปจนหมดทำให้ระบบนิเวศเสียหาย มิหนำซ้ำเมื่อปลูกพืชชนิดเดียว ผลผลิตที่ได้ก็มากเกินจนขายไม่ทัน ราคาก็จะตก เขาจึงเริ่มต้นศึกษาการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ผลคือนอกจากช่วยสร้างรายได้ตลอดปียังทำให้แร่ธาตุในดินเกิดความสมดุล และเป็นการใช้สอยทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามศาสตร์พระราชา
ผลผลิตที่ไร่สีฟ้าสะท้อนความเอาใจใส่ของเกษตรกร ผ่านความสดกรอบของกะหล่ำ ความฉ่ำหวานของสตรอว์เบอร์รี และพืชอีกหลายชนิดที่สื่อสารผ่านรสอร่อยอย่างชัดเจน
ยังน่าสนใจที่การให้ความสำคัญกับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่วิถีเกษตรแบบกะเหรี่ยง อย่างการใช้เทคนิค “ปูผ้าดำ-คลุมหน้าดิน” เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของหญ้าหรือวัชพืชที่จะมาแย่งสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชหลัก โดยเลี่ยงการฆ่าหญ้าด้วยสารเคมีโดยไม่จำเป็น และมีการนำนวัตกรรมด้าน “ระบบน้ำหยด” เข้ามาใช้ เพื่ออาศัยประโยชน์จาก “น้ำบนภูเขา” ที่ต้องไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่างอยู่แล้วมาใช้ในไร่ของตัวเอง
“จะทำเกษตรต้องใจรักจริงๆ” เขาบอกแบบนั้นและผมก็เชื่อ “มีผลผลิตก็อาจขายไม่ได้ถ้าไม่มีความรู้เรื่องค้าขาย” นอกจากเป็นเกษตรกรแล้วจึงต้องหาความรู้อื่นมาพัฒนาให้เกิดพืชผลการเกษตรด้วย เกษตรกรกะเหรี่ยงสอนวิธีคิดไว้อย่างนั้น
“ไร่สีฟ้า” ตามที่ผมได้ยินมาคือเป็นไร่สตรอว์เบอร์รี ผมจำภาพแรกที่ผุดในหัวไม่ค่อยชัดแล้ว เพราะตอนนี้มีภาพใหม่ผุดแทนที่
…คุณค่าของบางสิ่งจะพิเศษก็ต่อเมื่อเราให้เวลากับมันมากพอ และเปิดใจมองลึกเข้าไปถึงความตั้งใจและที่มาที่ไปของสิ่งนั้น…