เรื่องและภาพ ภาณุพงศ์ ศานติวัตร
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”
@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
มุมมองจากท้ายรถสองแถวมุ่งหน้าสู่ไร่อุ๊ยกื๋อ ภาพภูเขาหัวโล้นที่ต้องแสงแดดยามเช้า ไร่อ้อยที่แห้งผากและเจือด้วยกลิ่นควัน ฝุ่นเพื่อนเก่าที่รอต้อนรับเราตลอดสองข้างทาง มันเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปตามต่างจังหวัด สะท้อนการใช้ชีวิตของชาวไร่ชาวนาที่วนเวียนในวังวนของทุนนิยม
ความชุ่มชื้นคือสัมผัสแรกเมื่อเรามาถึงไร่ของคุณลุงวันนบ ขอสุข ชาวกะเหรี่ยงที่พลิกฟื้นผืนดินแห้งแตกระแหงบนเชิงเขาเมื่อ 3 ปีก่อนมาสู่ “ไร่อุ๊ยกื๋อ” สถานที่ท่องเที่ยวรับอากาศยามหน้าหนาวและพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่
คุณลุงวันนบค่อยๆ อธิบายถึงขั้นตอนต่างๆ นานาที่ใช้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ โดยมีโจทย์ว่า จะกักเก็บ “น้ำ” หัวใจหลักของงานเกษตรอย่างไรให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองได้มากที่สุด จนได้มารู้จักกับโมเดล “โคก หนอง นา”ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ) ตามด้วยการปลูกต้นกล้วย ต้นไม้พี่เลี้ยงที่มีคุณสมบัติปลูกง่ายและอุ้มน้ำ
หลังฟังบรรยายเราเดินเท้าต่อเข้ามาในสวนที่ไม่มีชื่อ จะเป็นสวนกล้วยคงไม่ได้เพราะมีต้นส้มโอ จะเรียกสวนส้มโอก็ไม่ได้เพราะยังมีกาแฟ กระเจี๊ยบ และพืชอีกหลายชนิด เห็นทีจะต้องเรียกว่า “การปลูกพืชแบบผสมผสาน” หลังจากชมสวนเรียบร้อยก็ตามด้วยแปลงนาข้าว ซึ่งเราได้พบกับคุณลุงที่กำลังเหวี่ยงแหจับปลา …ปลาอะไรก็ตามที่จะกลายเป็นมื้อกลางวันของพวกเรา
เกือบค่อนชีวิตของคุณลุงศักดิ์ชัย พูลศรี วัย 62 ปี ที่เลี้ยงชีพด้วยการเป็นชาวนาบนพื้นที่เกือบ 30 ไร่แถบอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี จนเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย ด้วยเหตุว่าสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าว ตลอดเวลาที่ผ่านมาลุงศักดิ์ชัยปลูกแค่เพียงพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเก็บเกี่ยวส่งขายให้นายทุน วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ และเมื่อขายไม่ได้ราคาก็เปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอ้อยกว่า 30 ไร่ ซึ่งปกติเคยสร้างรายได้ถึง 300,000 บาท กลับราคาตกเหลือเพียง 50,000 บาท ลูกสาวของคุณลุงจึงเสนอให้เปลี่ยนมาใช้วิธีจัดการพื้นที่แบบโคก หนอง นา และเป็นคนบอกเล่าวิธีการให้คุณลุง
เรื่องราวของคุณลุงศักดิ์ชัยใกล้เคียงอย่างมากกับคุณลุงวันนบ เพราะเป็นชีวิตของชาวนาชาวไร่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถึงเวลาก็ส่งขายนายทุนวนเวียนอยู่ซ้ำๆ ในทุกๆ ปี แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือต้นทุนที่มากกว่าปีก่อน ตามมาด้วยการสร้างหนี้ จนท้ายที่สุดคุณลุงทั้งสองก็เริ่มเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ ของหนี้ และเข้าถึงหนทางละลายหนี้และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการใช้หลักการโคก หนอง นา ตามด้วยการพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางต่างๆ เมื่อเราถามถึงอนาคตของที่ดินหลังนำหลักการโคกหนองนามาใช้ คำตอบของคุณลุงศักดิ์ชัยคืออยากมีโฮมสเตย์อย่างคุณลุงวันนบ
หลังจากเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่วนเวียนอยู่กับต้นทุน ความซ้ำซาก และความสิ้นหวัง จนเรียกได้ว่าตกอยู่ในวังวนของทุนนิยมวนเวียนอยู่กับการกังวลเรื่องเงิน เมื่อคุณลุงทั้งสองน้อมนำศาสตร์พระราชาที่เกิดจากการเข้าใจและเข้าถึง ก็ทำให้เราเห็นความสุข อนาคต และการหลุดพ้นจากความตายซากของวังวนแห่งทุนนิยม