เรื่องและภาพ : กฤษฏ์ นงนิ่ม
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”

@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“โอ ชุง ลา ไซ” ภาษาที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ทักทายกันในความหมาย “สวัสดี”

ใครจะไปคิดว่าไร่ผักของชาวกะเหรี่ยงจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพียงเพราะเริ่มต้นจากศูนย์ ลองผิดลองถูกลองปลูกไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าความกล้าลองนั้นกลับทำให้ประสบความสำเร็จ

“ไร่สีฟ้า” ที่บ้านอีมาดอีทรายในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี คือสถานที่กำเนิดเรื่องราวนั้น “ปี้” ที่แปลว่าตัวเล็ก คือชื่อในภาษากะเหรี่ยงโปว์ของ “สีฟ้า กรึงไกร” เจ้าของไร่ชื่อเดียวกับชื่อไทยของตนเอง แต่เดิมเขาเป็นเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบวิถีดั้งเดิมของกะเหรี่ยง ไม่ได้อาศัยหลักวิชาการใด กระทั่งได้อ่านหนังสือ ศึกษาดูงาน เข้าอบรม และเรียนรู้เกี่ยวกับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ตามศาสตร์พระราชา จึงเริ่มนำแนวทาง “การปลูกพืชแบบผสมผสาน” มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ตน 

ผ่านมาถึงตอนนี้เป็นเวลา 5 ปี ผืนดินเกษตรของเขามีทั้งแครอต บีตรูต หอมญี่ปุ่น เบบี้แครอต มะเขือเทศราชินี สตรอว์เบอร์รี และอื่นๆ เป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้อุดหนุนอย่างหลากหลาย ถึงอย่างนั้นก็ยังถือแนวคิดตามวิถีกะเหรี่ยง “พอเพียง รู้จักใช้ รู้จักประหยัด รู้จักชุมชน”

ผลผลิตของไร่สีฟ้าเน้นเรื่องคุณภาพ ใส่ใจด้านความปลอดภัย สำคัญคือแม้จะใช้สารเคมี แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ผลผลิตปลอดจากสารพิษก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างสตรอว์เบอร์รีที่จะออกผลดีในช่วงสิงหาคม-ตุลาคมก็จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อเร่งบำรุงเพิ่มความหวานให้ผลมีรสอร่อย ตอบสนองความต้องการของลูกค้า  ถึงอย่างนั้นหากไม่จำเป็นก็จะพยายามเลี่ยงสารเคมีโดยใช้คุณสมบัติจากธรรมชาติแก้ปัญหาธรรมชาติ เช่น ปลูก “ปอเทือง” ช่วยปรับสภาพดิน หรือใช้พืชผลทางการเกษตรมาเป็นส่วนผสมในการกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืช อย่างการใช้ “สะเดา” ซึ่งมีสรรพคุณในการกำจัดหนอนแมลงได้ดีมาฉีดพ่นเคลือบใบ

เมื่อรู้ว่าต้นทางผลผลิตของตนปลอดภัยจึงกล้านำมาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกินเอง ชาวกะเหรี่ยงโปว์มีขนมมงคลชนิดหนึ่งชื่อ “มีสิ” นิยมใช้ในงานแต่งงาน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำมาคนละชิ้นแล้วมากินด้วยกันในพิธีก่อนส่งตัวเข้าห้องหอ ตามความเชื่อว่าจะทำให้ความรักเหนียวแน่น และยังใช้แจกจ่ายต้อนรับแขกเหรื่อให้กินร่วมกันตามความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรักสามัคคี 

วัตถุดิบหลักของขนมหวานพื้นถิ่นนี้ทำจาก “ข้าวเหนียวและงา” ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่มักปลูกกันอยู่แล้วบนผืนดินตน ไม่จำเป็นต้องซื้อ เพียงนำมาปรุงร่วมกับเกลือให้ได้รสชาติ หวาน มัน เค็ม อาจจับคู่กินกับนมข้นหวานเพิ่มรสอร่อยละมุนลิ้นด้วยก็ได้

นอกจากเรื่องอาชีพ อาหาร ไร่สีฟ้าแห่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพอเพียงผ่านเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงยังทอผ้าใช้เองในชีวิตประจำวัน

วิถีต่างๆ ของพวกเขาล้วนแสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวิตไม่จำเป็นต้องอยู่ดีมีสุขเหมือนใคร ขอแค่เราพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ พอใจกับสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้เป็นแบบอย่าง และรู้จักนำมาต่อยอดในชีวิต ความสุขทุกอย่างก็สร้างได้ด้วยมือเรา

ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จากวารสารชัยพัฒนา ความว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำ”

ความสำเร็จในการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ไร่สีฟ้า ไม่เพียงสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ยังเป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปเห็นว่าการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานความพอดี พอมี พอกิน พอใช้ และพอใจในสิ่งที่ตนมี…เป็นไปได้จริง


ผลผลิตคุณภาพคัดสรรอย่างดีจากไร่สีฟ้า

พี่สีฟ้า กรึงไกร เจ้าของไร่ที่มาพร้อมแนวคิดทฤษฎีใหม่

ผักปลอดสารพิษย่อมให้สิ่งที่ดีแก่ร่างกาย

ไร้สตรอว์เบอร์รีรสเลิศ


สตรอว์เบอร์รีแดงฉ่ำเปรี้ยวอมหวาน ความอร่อยที่ตามหา

งาขี้ม่อนอุดมไปด้วยสารอาหาร หนึ่งในส่วนผสมของขนมหวานที่ขึ้นชื่อ

ขนมมีสิ ของดีของมงคลบ้านอีมาดอีทราย