ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
อโรคยศาล วัดคำประมง จัดพิธีต้มยาสมุนไพรหม้อแรก
ให้กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารักษาตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน
ฤดูฝน ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓
เราเดินทางมาถึงอโรคยศาล วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร ในยามสายของวันที่ฝนตกพรำ เมฆฝนสีเทาหม่นปกคลุมทั่วผืนฟ้า
บรรยากาศสลัวมัวมนอาจไม่ต่างจากสภาพจิตใจของหลายคนที่มาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ เพราะพวกเขาล้วนเป็น
ผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติที่ตามมาคอยดูแล
กานดา จันทิมา อายุ ๔๙ ปี ผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกคนหนึ่งที่เพิ่งมาถึงวัดคำประมงเมื่อ ๒ วันก่อน บอกกับเราว่า
“พี่เป็นมะเร็งเต้านม รู้ตัวเมื่อตอนอายุ ๔๗ มันเป็นก้อนแข็งๆ ที่เต้านมข้างซ้าย ให้หมอตรวจเขาบอกว่าเป็นมะเร็ง แนะนำให้ผ่าตัด พี่เข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัดประจวบฯ แล้วเข้ารักษาด้วยการให้คีโมและฉายแสงที่โรงพยาบาลราชวิถี พี่ได้รับคีโม ๖ ครั้ง รู้สึกร่างกายแสบร้อน ผมร่วงหมดเลย นี่เพิ่งงอกขึ้นมาใหม่ หมอที่โรงพยาบาลบอกว่าพี่เป็นมะเร็งระยะสอง ตอนนี้ก็ปรกติดี แต่อยากมารักษาทางนี้ต่อ”
พี่กานดาได้รับคำชวนจากพี่สามีให้เดินทางจากบ้านที่จังหวัดนนทบุรีมาที่วัดคำประมงด้วยกัน พร้อมกับพ่อสามีที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย
พี่สามีของพี่กานดาเล่าว่า “เมื่อ ๒ ปีที่แล้วโรงพยาบาลตรวจพบว่าพ่อของพี่เป็นมะเร็งที่ปอดข้างขวา หมอยังบอกว่าโชคดี เจอระยะแรกหายแน่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่พออีกปีหนึ่งพบว่ามะเร็งลุกลามมาที่ปอดข้างซ้ายแล้วอยู่ๆ มาบอกว่าเป็นระยะสุดท้าย มะเร็งกระจายเต็มไปหมดแล้ว หมอบอกว่าเสียใจด้วยนะ ของเราโดนแจ็กพอต”
เธอรับรู้เรื่องราวของอโรคยศาล วัดคำประมง จากคลินิกแพทย์แผนไทยแห่งหนึ่งที่พาพ่อไปรักษาตัว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อโรคยศาล วัดคำประมง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะสถานบำบัดทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ป่วยโรคมะเร็งจากทุกสารทิศ หลายคนสิ้นหวังจากการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะหลายคนแสวงหาการรักษาแบบทางเลือกที่เขาจะไม่ต้องทนทุกข์จากการผ่าตัด ฉายแสง หรือการให้คีโมอีก
“มะเร็งเขาเล่นงานจะเอาคุณตายนะ แต่ทีนี้ทำยังไงจึงจะเจรจาต่อรองกับเขาได้ บอกว่า เอ้า พบกันครึ่งทางนะ เราอยู่ได้ คุณอยู่ได้ คุณไม่ตาย ฉันไม่ตาย ต่างคนต่างอยู่จนกระทั่งหมดอายุขัย อย่าทำร้ายกัน คืออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของหลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง ผู้ก่อตั้งอโรคยศาล หลังจากท่านเคยอาพาธเป็นมะเร็งโพรงจมูก แล้วรอดชีวิตจากการกินยาสมุนไพรและทำสมาธิ
ยาสมุนไพรในหม้อดินเผาที่ผ่านการต้มบนเตาฟืนกระทั่งเดือด
ถูกตักใส่หม้อเคลือบผ่านผ้าขาวบางขึงปิดปากหม้อเป็นผ้ากรอง
หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง
ผู้ก่อตั้งอโรคยศาล ขณะเป็นผู้นำการนั่งสมาธิของผู้ป่วยและญาติ
ที่เห็นด้านหลังคือภาพวาดหมอชีวกโกมารภัจจ์
หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม มีชื่อเดิมขณะครองเพศฆราวาสว่า พัลลภ ภิบาลภักดิ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่จังหวัดกาญจนบุรี สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรม-ศาสตร์ สาขาการชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นเข้าทำงานที่กรมชลประทาน เป็นวิศวกรประจำโครงการชลประทานน้ำอูนทางภาคอีสานตอนบน แต่ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงตัดสินใจลาออกจากราชการมาอุปสมบทเมื่อปี ๒๕๒๐ ณ วัดสันติสังฆาราม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชลประทานน้ำอูนนั่นเอง
เมื่อปี ๒๕๓๙ หลวงตาปพนพัชร์ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดคำประมงแล้ว อาพาธด้วยโรคมะเร็งโพรงจมูกอาการหนักขนาดมีเลือดออกทางปาก
หลวงตาเล่าให้เราฟังว่า พี่สาวซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์แนะนำให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ท่านผ่านการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการฉายแสงและให้คีโมติดต่อกันหลายรอบ ครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลาร่วมครึ่งปี ถึงขนาดที่หลวงตากล่าวว่า
“มันปวด ทรมาน ปวดตามร่างกายทุกขุมขน กระทั่งทำเคมีบำบัดมาถึงคอร์สสุดท้าย เขาให้ยาทั้งวันทั้งคืนเป็นอาทิตย์ติดต่อกัน วันที่เขาจะฉีดยาให้เป็นเข็มสุดท้าย รู้สึกว่าความเจ็บปวดนี้มันรุนแรงมาก พยายามทำสมาธิภาวนาพุทโธ จนสุดท้ายคิดว่าไม่ไหว ยอมตายแล้ว ปล่อยวางทุกอย่าง จิตมันก็หลุดออกจากตรงนั้นเลย ความเจ็บปวดมันก็หาย แบบไม่มีอะไรจะเบาไปกว่านั้นอีก แล้วก็หมดสติไปเลย พอฟื้นมาอีกทีไม่รู้ว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว”
หลวงตาปพนพัชร์เล่าต่อว่า วันแรกที่ท่านกลับจากโรงพยาบาลมาถึงวัดคำประมง ก็มีอาการหายใจไม่สะดวก แล้วมีเลือดไหลออกจากปากและจมูก
“ตอนนั้นไม่มีใครช่วยเราได้แล้ว ต้องช่วยตัวเอง ผลสุดท้ายก็นั่งสมาธิตอนตีสาม เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง พอจิตมันรวมจนนิ่ง จิตละเอียด จึงถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วเอาตำรายาสมุนไพรที่มีอยู่เล่มเดียวในวัดมาศึกษา บวกกับสมาธิที่มีอยู่ ก็คิดสูตรยาสมุนไพรขึ้นมาได้
“รุ่งขึ้นเอาสูตรยาไปบอกให้โยม แม่ชี และพระในวัดไปหาสมุนไพรแต่ละชนิดมา ได้ต้มยาหม้อแรกเมื่อตอนหัวค่ำ ฉันยาแก้วแรกตอนสี่ทุ่ม รู้สึกโล่งเลย วันต่อมาก็ฉันข้าวได้ หายใจสะดวก หลังจากหายใจไม่ออกมาเป็นอาทิตย์ เมื่อฉันยาครบ ๕ หม้อ อาการทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้น ภายหลังอาตมาไปตรวจที่โรงพยาบาลด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ ก็ไม่พบค่ามะเร็งอีก ก้อนเนื้อขนาดประมาณ ๑ เซนติเมตรด้านในโพรงจมูกก็หายไปด้วย
“ตัวยาหลัก หรือ ‘ยอดยารักษามะเร็ง’ ที่ใช้รักษาผู้ป่วยวัดคำประมง ก็คือยาสมุนไพรตามสูตรที่อาตมาคิดได้หลังจากนั่งสมาธิในคืนนั้น ไม่ได้เปลี่ยนเลย เป็นสูตรยาที่สแกนด้วยจิต ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้”
หลวงตาปพนพัชร์เล่าว่า หลังจากรักษาตนเองจนหายจากอาการของโรคมะเร็ง ชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือญาติที่ทราบข่าวต่างพากันมาขอความช่วยเหลือ หลวงตาไม่อาจปฏิเสธจึงนำยาสมุนไพรรักษามะเร็ง รวมทั้งประสบการณ์เรื่องสมาธิบำบัดมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกประเภท เป็นที่มาของการสร้างอโรคยศาลภายในวัดคำประมง ซึ่งแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๙
“ภายหลังผู้ป่วยมามากเข้า จึงต้องมาทำอโรคยศาล ให้เขามีที่พัก ที่อยู่ ที่กิน มันเหมือนกับเราถูกสั่งให้มาทำงานตรงนี้ เพราะในปัจจุบันคนไทยตายเพราะมะเร็งปีละประมาณ ๖๕,๐๐๐ คน และคงเพิ่มเป็นปีละแสนคนภายใน ๑๐ ปี”
หลวงตาปพนพัชร์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายรักษาโรคมะเร็งของคนไทยในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามหาศาล แต่ที่วัดคำประมงรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทุกวันนี้ อโรคยศาล วัดคำประมง จึงกลายเป็นที่พักพิงและรักษาตัวแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทั้งผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านท้องถิ่น คนต่างจังหวัดที่เดินทางมาไกลๆ คนเมืองขับรถเก๋ง หรือผู้ป่วยที่เป็นคนยากไร้
ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการรักษาตามแนวทางการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งเน้นเรื่องของสมาธิบำบัดและธรรมชาติบำบัด ได้แก่การใช้ยาสมุนไพร ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทัศนคติ และการกินอยู่ให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักธรรมะของพุทธศาสนา นอกจากนั้นยังไม่ปิดกั้นการรักษาทุกแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ไม่ว่าการแพทย์แบบตะวันตก การแพทย์แผนจีน ดนตรีบำบัด การฝึกโยคะ ฯลฯ
“เราให้ความสำคัญกับธรรมะและธรรมชาติ” หลวงตาปพนพัชร์อธิบาย “เราต้องเอาพลังที่มีอยู่ในตัวเรามารักษาตัวเอง ซึ่งเป็นพลังที่เราดึงมาจากธรรมชาติ ทั้งยาสมุนไพรและอาหารที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น การฝึกสมาธิจะช่วยให้จิตเขามีพลัง นอกจากนั้นยังสอนให้เขารู้จักดูแลตัวเอง ดูแลอารมณ์ให้ดี ไม่รู้สึกว่าเป็นมะเร็งแล้วเป็นทุกข์ คือเป็นมะเร็งแล้วอาจเห็นธรรมก็ได้ นี่แหละ หลวงตาว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นยอดพุทธโอสถที่ไม่มีใครเสมอเหมือนในโลกนี้”
หลวงตายังเสริมว่า “เราต้องดูทั้งองค์รวม ไม่ใช่คุณกินยา แต่คุณไม่ดูอารมณ์ ไม่ดูเรื่องอาหาร ไม่ดูเรื่องสภาวะทางจิตใจของตนเอง คุณเครียด คุณอยากได้ อยากมี อยากเป็น โรคมะเร็งก็ไม่ทุเลา”
ผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติเข้าร่วมพิธีต้มยา
ด้วยอิริยาบถสำรวม ผู้ป่วยแต่ละคน
จะถือห่อยาสมุนไพรของตนไว้บนตัก
มีพระสงฆ์เป็นผู้นำสวดมนต์ นั่งสมาธิ
และแผ่เมตตาแก่เจ้ากรรมนายเวร
อโรคยศาล เป็นอาคาร ๓ ชั้น ด้านหน้าอาคารเป็นลานระเบียงปูกระเบื้องมีหลังคาคลุม สร้างโอบล้อมศาลาหลังเล็กกลางบ่อน้ำ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไภษัชย-คุรุไวฑูรยประภา รวมทั้งรูปเคารพของหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระแม่ธรณี และพระอินทร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ป่วยทั้งหลาย
อาคารชั้นล่างประกอบด้วยส่วนลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ห้องตรวจคนไข้จำนวน ๒ ห้อง ซึ่งมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เบื้องต้น เช่น เครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็ก ตู้ไฟอ่านฟิล์ม ถัดไปเป็นห้องเก็บและจ่ายยา ทั้งยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน
ชั้น ๒ ของอาคารมีห้องพระขนาดใหญ่และส่วนทำงานเอกสาร และชั้น ๓ จัดไว้เป็นห้องพักเตียงรวม เพื่อรองรับคณะผู้มาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ
วันที่เรามาถึงวัดคำประมง ก็เห็นกลุ่มผู้ป่วยและญาตินั่งกันอยู่ในบริเวณระเบียงด้านหน้าอโรคยศาล รอคิวเรียกเข้าพบหลวงตาปพนพัชร์ซึ่งอยู่ในห้องตรวจ เพื่อให้ท่านซักถามอาการและจ่ายยาสมุนไพร
ผู้ป่วยมะเร็งเหล่านี้มีทั้งรายใหม่ที่เพิ่งมาถึงวัดคำประมงเมื่อไม่กี่วันก่อน และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า ๑ สัปดาห์แล้ว
ตามระเบียบของวัดคำประมง ผู้ป่วยที่ต้องการมาพักรักษาตัวต้องมีญาติมาอยู่ด้วยอย่างน้อยคนหนึ่ง เพื่อคอยดูแลในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเตรียมอาหารให้ผู้ป่วยในแต่ละมื้อ
จากบริเวณด้านหลังอาคารอโรคยศาล เดินขึ้นสะพานไม้ข้ามคูน้ำเล็กๆ ก็จะถึงบริเวณที่พักผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งอาคารตึก เรือนแถวไม้ เรือนฝาขัดแตะ และบ้านดิน ปลูกสร้างกระจัดกระจายในพื้นที่กว้าง ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ทั่วบริเวณ
กิจกรรมในแต่ละวันของผู้ป่วย เริ่มจากตอนเช้าตรู่หลังเสียงไก่ขัน ผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนักและพอมีกำลังจะมารวมตัวกันเพื่อออกกำลังกายเบาๆ เสร็จแล้วพักเหนื่อยและนั่งสมาธิ หลังจากนั้นนำอาหารที่เตรียมไว้ตักบาตรหลวงตาพร้อมกรวดน้ำและฟังธรรมเทศนา ก่อนไปยังอโรคยศาลเพื่อรับยาช่วงเช้า
หลังจากนี้ผู้ป่วยกลับเรือนพักของตนเพื่อพักผ่อนหรือทำกิจธุระส่วนตัว ระหว่างนี้ไปถึงตอนเย็นเป็นช่วงเวลาว่าง พวกเขาอาจนั่งสมาธิตามที่หลวงตาสอนให้ปฏิบัติ หรือพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนทุกข์สุขระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน
ระหว่างวันญาติผู้ป่วยก็อาจช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณที่พัก และเตรียมทำอาหารให้ผู้ป่วย โดยทางวัดจัดสร้างโรงครัวไว้ให้ญาติผู้ป่วยหุงต้มกันเองแยกตามเรือนพักแต่ละหลัง พร้อมแจกข้าวสารให้ด้วย แต่ญาติผู้ป่วยต้องไปซื้อของสดที่ตลาดมาทำกับข้าวเอง
พวกเขาเล่าให้เราฟังว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยต้องทำตามสูตรอาหารต้านมะเร็งที่อโรคยศาลแนะนำ นั่นคือเป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งพืชบางชนิดโดยเฉพาะที่มีรสหวานจัด เช่น ขนุน ลำไย กล้วยหอม ข้าวขัดขาว และพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กะทิ หรือพืชบางอย่างที่แสลง เช่น หน่อไม้ งดใช้เครื่องปรุงที่มีวัตถุกันเสีย ผงชูรส เช่น น้ำปลา น้ำตาลทรายขาว ของหมักดอง และงดเครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ
ส่วนอาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ ข้าวกล้อง กับข้าวที่ปรุงจากพืชผัก รวมทั้งผักสด ผลไม้ และน้ำผักที่ปั่นด้วยเครื่องปั่นแยกกาก
จากนั้นช่วงเย็นผู้ป่วยจะไปรวมกันที่อโรคยศาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำกิจกรรมและรับยา
ที่บริเวณระเบียงด้านหน้าอโรคยศาล เพื่อร่วมกันสวดมนต์
ร้องเพลง ออกกำลังกาย ยึดเหยียดกล้ามเนื้อ และนั่งสมาธิ
บางคืนหลวงตาปพนพัชร์ เป็นผู้นำออกกำลังกายด้วยตนเอง
๓
ใกล้ค่ำวันนั้นเมื่อเราเข้าไปที่อโรคยศาล ผู้ป่วยทั้งชายหญิงและญาติประมาณ ๑๕ คนนั่งสวดมนต์อยู่ที่ระเบียงด้านหน้าอาคาร ผู้ป่วยสวมชุดเสื้อกางเกงผ้าเนื้อบางที่ทางวัดแจกให้ พวกเขานั่งเรียงแถวเป็นระเบียบ แต่ละคนพนมมือก้มหน้า สายตาจดจ่ออยู่ที่หน้าหนังสือบทสวดมนต์ที่เปิดกางอยู่ที่พื้น เปล่งเสียงสวดมนต์บทแล้วบทเล่าอย่างพร้อมเพรียงกังวาน โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคนหนึ่งของวัดเป็นต้นเสียงนำสวดมนต์
เมื่อการสวดมนต์เสร็จสิ้น ผู้ป่วยและญาติเก็บหนังสือสวดมนต์เข้าตู้ แล้วหยิบหนังสือเพลงออกมาแทน แต่ละหน้าหนังสือบรรจุบทเพลงต่างๆ ทั้งเพลงประจำวัดคำประมงและเพลงที่มีเนื้อหาให้กำลังใจ เช่นเพลง “เก็บตะวัน” ของ อิทธิ พลางกูร
หลังเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์เปิดเครื่องขยายเสียง พวกเขานั่งล้อมวงร้องเพลงตามเสียงเพลงจากลำโพง บรรยากาศอันสงบสำรวมขณะสวดมนต์เปลี่ยนเป็นสดชื่นและผ่อนคลายตามเสียงเพลงที่ถูกขับร้อง
หลวงตาปพนพัชร์มาถึงอโรคยศาลราวสองทุ่ม ไล่เลี่ยกับผู้ป่วยและญาติอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งตามมาสมทบ
หลวงตาบอกให้ทุกคนลุกขึ้นยืนเรียงแถว ท่านจะเป็นผู้นำออกกำลังกายด้วยท่วงท่าที่ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุทำได้โดยไม่เหนื่อยหนักเกินกำลัง
“คนไข้และญาติคนไข้ทำพร้อมๆ กันได้ เอ้า ยืนขึ้นทุกคนเลย แล้วยกมือขึ้น ให้สองแขนแนบหู พนมมือเหนือศีรษะ” หลวงตาพูดเสียงดังฟังชัดไปถึงคนยืนแถวหลังสุด
“แล้วหายใจเข้ายาวๆ เวลาหายใจเข้า นับ ๑-๒-๓-๔-๕ กลั้นหายใจ นับ ๑-๒-๓ แล้วหายใจออกเบาๆ นับอีก ๑-๒-๓-๔-๕ กลั้นไว้ นับ ๑-๒-๓ หายใจเข้าก็นับ ๑-๕ เหมือนเดิม ทำให้ได้สัก ๑๐ นาทีไหวไหม ง่ายๆ เนาะ ไหวนะ ยกมือให้สุดแขนเลย หลับตาด้วย…ทุกคนหลับตา ทำสมาธิไปพร้อมๆ กัน คิดว่าโลกนี้ไม่ใช่ของของเราแล้ว ต่อไปนี้พวกเราทุกคนต้องตายจากโลกนี้ไป…”
สิ้นเสียงหลวงตา บรรยากาศก็ตกอยู่ในความเงียบ ทุกคนอยู่ในท่ายืนกางขาพอเหมาะ ยกแขนแนบหูพนมมือเหนือศีรษะ หลับตานิ่ง หายใจเข้าและออกตามจังหวะที่หลวงตาบอก
ผ่านไปสักพักใหญ่ เสียงหลวงตาจึงดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
“เอาแขนลงได้ ไม่ได้เอาลงพรวดพราดเลยนะ ค่อยๆ เอาลงพร้อมกับหายใจเหมือนเดิม ให้เอาแขนลงแนบลำตัวภายใน ๕ นาที ค่อยๆ เอาลงทีละนิดๆ จนครบ ๕ นาทีนะ”
หลวงตาค่อยๆ ลดแขนลงอย่างช้าๆ กระทั่งแนบลำตัว พร้อมกับทุกคนที่ทำตามท่าน
“หน้าแดงเลยเห็นไหม มีเรี่ยวมีแรงเลยใช่ไหม” หลวงตากล่าวกับผู้ป่วยอย่างอารมณ์ดี “ทำท่านี้แล้วสุขภาพจะดีขึ้น อยู่ที่บ้านก็ต้องทำอย่างนี้นะ ตื่นขึ้นมาก็ทำในห้องนอน ทำได้ไหม”
ท่านไล่ถามผู้ป่วย ทุกคนพยักหน้ารับ สีหน้าพวกเขาดูสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น
หลังการออกกำลังกายเป็นช่วงเวลาของการนั่งสมาธิ
หลวงตาพูดด้วยเสียงเนิบช้า “ต่อไปนั่งสมาธิ เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย หลับตา หายใจเข้าท่อง พุท หายใจออกท่อง โธ ให้เราปล่อยวาง ไม่ต้องคิดถึงอดีต ไม่ต้องคิดถึงอนาคต จะเป็นจะตายยังไงก็ช่าง”
บรรยากาศรอบกายกลับสู่ห้วงแห่งความเงียบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทุกคนนั่งสมาธิและหลับตา แต่ละค่ำคืนหลวงตาจะสอนให้ผู้ป่วยและญาตินั่งสมาธิเป็นเวลา ๙ นาที เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงความสงบในจิตใจตนเอง
เมื่อสิ้นสุดการนั่งสมาธิ เจ้าหน้าที่รินน้ำสมุนไพรที่ชื่อว่า “น้ำสาบาน” สีน้ำตาลใส ใส่ถ้วยแจกทุกคน
“น้ำสาบาน ให้ถือถ้วยไว้ก่อน อย่าเพิ่งกินนะ เดี๋ยวสวดมนต์ก่อนแล้วค่อยกิน ยาสมุนไพรตัวนี้จะช่วยให้หลับดี เพราะว่ามีหลายคนที่นอนไม่ค่อยหลับ เดี๋ยวกินยาตัวนี้ กลับไปแล้วจะหลับไม่ตื่นเลย”
สิ้นเสียงหลวงตา ทั้งผู้ป่วยและญาติหัวเราะชอบใจกันใหญ่
หลวงตาปพนพัชร์บอกให้ทุกคนสวดมนต์ จากนั้นเปล่งเสียงคำว่า “โอม ไภษัชเย” พร้อมกัน ๓ รอบ แล้วอธิษฐานจิต ก่อนดื่มยารวดเดียวให้หมดถ้วย
“ทีนี้หัวเราะดังๆ เลยนะ ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้”
ผู้ป่วยและญาติประสานเสียงหัวเราะตามที่หลวงตาบอก
“ดังๆ กว่านั้นอีก” หลวงตากระตุ้น
“ฮ่าๆๆๆๆ” เสียงหัวเราะดังลั่นยิ่งกว่าเดิม
“เราไม่ตายแล้ว” หลวงตาพูดนำเสียงดัง
“เราไม่ตายแล้ว” ทุกคนตะโกนขึ้นพร้อมกัน
“เราชนะแล้ว” หลวงตาพูดอีก
“เราชนะแล้ว” คราวนี้พวกเขาประสานเสียงกระหึ่ม แต่ละคนท่าทางกระตือรือร้น แววตาแจ่มใสขึ้น
“นี่คือกิจกรรมคลายเครียด ทุกคนไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าพรุ่งนี้ตายก็เผาโลด” คำกล่าวของหลวงตาเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนอีกครั้งหนึ่ง
กิจกรรมสำหรับค่ำคืนนี้ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ผู้ป่วยถือตะกร้าของตนเข้าไปรับยาในห้องจ่ายยาตามลำดับที่เจ้าหน้าที่เรียกชื่อ
ในตะกร้าของแต่ละคนบรรจุแก้วน้ำกระเบื้องหลายใบ เมื่อเข้าไปในห้องจ่ายยา เจ้าหน้าที่จะดูบัตรประจำตัวผู้ป่วยซึ่งมีรายชื่อตัวยาที่หลวงตาสั่งจ่ายไว้ จากนั้นตักยาสมุนไพรจากหม้อต่างๆ ใส่แก้วจนครบตามรายการ
ตัวยาสมุนไพรหลักก็คือ “ยอดยารักษามะเร็ง” ตามสูตรที่หลวงตาปพนพัชร์คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ส่วนยาสมุนไพรในหม้อใบอื่นๆ ที่ตั้งเรียงเป็นแถวชิดผนัง เป็นยาที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการเฉพาะด้านต่างๆ เช่นอาโปธาตุ กินแก้อาการท้องบวม หรือยาแก้คันกันเหลือง กินแก้อาการคันหรือตัวเหลือง เป็นต้น
ผู้ป่วยเริ่มทยอยถือตะกร้ายาเดินกลับที่พัก เขาต้องทานยาที่ได้รับให้หมดก่อนเข้านอนพักผ่อน พร้อมที่จะตื่นขึ้นมาเผชิญชีวิตในเช้าวันใหม่
คุณตาศิริ ชาวจังหวัดมหาสารคามมาถึงวัดคำประมงครั้งแรก
ด้วยสภาพร่างกายผ่ายผอมไร้เรี่ยวแรง หลังผ่านพิธีต้มยา
และกินยาสมุนไพรได้สักพักอาการก็เริ่มดีขึ้น
๔
วันต่อมา พี่ยุ้ย-ทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง อาสาสมัครอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยงานด้านต่างๆ ของอโรคยศาล เป็นคนพาเราเข้าไปเยี่ยมชมบริเวณที่พักของผู้ป่วยและญาติ
ระหว่างเดินไปด้วยกัน พี่ยุ้ยให้ข้อมูลกับเราว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคมะเร็งแทบทุกประเภทมารักษาตัวที่อโรคยศาล ทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกมะเร็งท่อน้ำดี แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดคือผู้ป่วยมะเร็งตับ
“ที่นี่รองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดประมาณ ๖๐ เตียง” พี่ยุ้ยอธิบาย “ผู้ป่วยจะถูกจัดให้กระจายไปอยู่ตามเรือนพักต่างๆ ได้แก่ อาคารสงฆ์อาพาธ อาคารกตปุญโญ อาคารเหลืองรังสี เรือนพักมิถิลา ๑-๓ และบ้านดินแต่ละหลัง”
อาคารกตปุญโญ เป็นเรือนพักผู้ป่วยที่สร้างขึ้นหลังแรก เมื่อปี ๒๕๔๕ ก่อนก่อตั้งอโรคยศาล ลักษณะเป็นอาคารปูน ๒ ชั้น ปัจจุบันชั้นล่างเป็นห้องพักของผู้ป่วยอาการหนัก เพราะตั้งอยู่ติดถนน สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวกหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งมีถังออกซิเจนจัดวางเตรียมไว้ตรงระเบียงหน้าห้องพัก ส่วนชั้นบนเป็นห้องเก็บสมุนไพรและจัดยา
อาคารสงฆ์อาพาธและเหลืองรังสีเป็นอาคารไม้ ขณะที่เรือนพักมิถิลาทั้ง ๓ หลังเป็นเรือนฝาขัดแตะหลังคามุงจาก
พี่ยุ้ยพาเราเดินไปถึงกลุ่มบ้านดิน เมื่อขอเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง พบว่าภายในมีเตียงผู้ป่วย ๒ เตียง ทว่าขณะนี้มีผู้ป่วยอาศัยอยู่เพียงรายเดียว คือ คุณตาศิริ คูเจริญ และกลุ่มลูกหลานชายหญิงที่มาเฝ้าดูแล
คุณตาศิริเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม อายุ ๘๒ ปี มารักษาตัวที่อโรคยศาลตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม เพราะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี คุณตาจึงอยู่ที่นี่มาเกือบครบเดือนแล้ว
ญาติคุณตาเล่าว่า ก่อนหน้านี้คุณตาไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อยู่ ๑ เดือน ปรากฏว่าร่างกายคุณตาผ่ายผอมลงทุกที
“ตัวมันเหี่ยวลงๆ จนคล้ายมีแต่หนังห่อกระดูกซี่โครงตัวเอง” คุณตาย้อนความทรงจำ “ตอนผมมาถึงที่นี่ เขาต้องอุ้มลงมาจากรถ เพราะผมไม่มีแรงจะลุกขึ้น แค่นอนพลิกตัวยังไม่ไหวเลย จากเดิมเคยมีน้ำหนัก ๔๘-๔๙ กิโลฯ ลดลงมาเหลือแค่ ๓๔ กิโลฯ”
คุณตาเล่าต่อว่า มาอยู่ที่วัดคำประมง ๓ วันแรก ได้กินยาสมุนไพร ปรากฏว่ามีอาการท้องเสียทั้ง ๓ วัน ทำให้ยิ่งหมดแรง
“แต่พอวันที่ ๔ หลวงตาจัดพิธีต้มยา ผมจึงได้ยาต้มหม้อแรกที่ผ่านพิธี กินเข้าไปแก้วเดียว ตื่นเช้าอีกวันผมลุกขึ้นนั่งได้เลย เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ไม่น่าเชื่อ พอกินยาต่อไป ๔-๕ วัน ตัวที่เคยซีดก็เริ่มมีเลือดฝาดแดงเรื่อขึ้นมา หลังจากนั้นมาก็ฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ดีวันดีคืน พอกินยาหม้อถึงวันที่ ๗ ผมลุกลงจากเตียง เดินได้ ตอนแรกยังต้องใช้ที่ค้ำ ๔ ขา (walker) จนตอนนี้ใช้ไม้เท้าข้างเดียวได้แล้ว แต่ว่าเดินไวไม่ได้ ต้องค่อยๆ เดินไปก่อน”
คุณตาศิริเล่าถึงอาการของตนเองที่ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังได้กินยาสมุนไพรที่ผ่านพิธีต้มยา
จากนั้นเราเดินไปที่อาคารกตปุญโญ พี่ยุ้ยพาขึ้นบันไดไปชั้น ๒ ซึ่งเป็นห้องเก็บและเตรียมยา ได้กลิ่นสมุนไพรหอมอวลมาแตะจมูก คล้ายกลิ่นในร้านขายยาแผนโบราณ
พี่พัดณี รุนจักร ผู้ดูแลเรื่องการเตรียมยาพาเราเข้าไปดูในห้องเก็บสมุนไพร มีถุงและกล่องบรรจุสมุนไพรหลากชนิดวางเรียงเต็มชั้นวางของเป็นแถวยาว ส่วนถุงใบใหญ่วางอยู่ที่พื้นห้อง สมุนไพรเหล่านี้มีทั้งที่เป็นแก่นไม้ รากไม้ เปลือกไม้ ส่วนของลำต้น ใบ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบส่วนผสมที่นำไปต้มเพื่อปรุงยาแต่ละประเภทนั่นเอง
พี่พัดณีแกะเชือกมัดปากถุงให้เราดูสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ “ยอดยารักษามะเร็ง” สูตรที่หลวงตาปพนพัชร์คิดค้นขึ้น ได้แก่ หัวร้อยรู ไม้สักหิน ข้าวเย็นเหนือ-ข้าวเย็นใต้ โกศจุฬา-โกศเชียง กำแพงเจ็ดชั้น ทองพันชั่ง เหงือกปลาหมอ ผีหมอบ และหญ้าหนวดแมว
ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงตาปพนพัชร์ยินดีเปิดเผยสูตรยาดังกล่าวโดยไม่เคยคิดปิดบัง อีกทั้งนำไปใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งคนแล้วคนเล่า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
พี่พัดณีและลูกมือมีหน้าที่จัดสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิดบรรจุห่อกระดาษสีน้ำตาล ส่วนหนึ่งส่งไปให้ผู้ป่วยที่กลับบ้านไปแล้วได้ต้มกิน กับอีกส่วนไว้ให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่จะเข้าพิธีต้มยา ตามที่คุณตาศิริเล่าให้เราฟังเมื่อครู่
หลวงตาปพนพัชร์จะจัดพิธีต้มยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของอโรคยศาล โดยผู้ป่วยแต่ละรายที่เข้าร่วมพิธีจะนำห่อบรรจุตัวยาสมุนไพร “ยอดยารักษามะเร็ง” ที่ได้รับแจกมาต้มในขณะมีการประกอบพิธีกรรม หลังจากนั้นพวกเขาก็จะมียาหม้อประจำตัวไว้กินตามเวลา
หลังกิจกรรมช่วงหัวค่ำเสร็จสิ้น ผู้ป่วยทยอยเข้าห้องจ่ายยา
ไปรับยาสมุนไพรตามอาการของแต่ละคน
อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของอโรคยศาลช่วยกันทำงานในวันฝนพรำ
วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
วันนี้เรามีโอกาสเข้าร่วมพิธีต้มยา ซึ่งอโรคยศาล วัดคำประมง จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน ๑๓ ราย
หลังจากบรรดาผู้ป่วยและญาตินำอาหารมาตักบาตรหลวงตาปพนพัชร์ในตอนเช้าตามปรกติ ราวเก้าโมงเช้าผู้ป่วยทั้ง ๑๓ คนและญาติทยอยเดินเข้าสู่ศาลาซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีกรรม
ตัวศาลาเปิดโล่ง โครงสร้างเป็นเสาไม้และหลังคามุงจาก ปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย หน้ากว้างประมาณ ๒ เมตรครึ่ง ด้านยาวทอดแนวหักเป็นมุมฉาก ติดริมฝั่ง ๒ ด้านของบ่อน้ำกว้างซึ่งเรียกว่าสระอโนดาต มองออกไปจากศาลาจะเห็นบัวเต็มสระกำลังออกดอกสีชมพูงามสะพรั่ง
ปีกหนึ่งของศาลาเป็นบริเวณต้มยา มีเตาฟืนตั้งบนพื้นดินเรียงกันเป็นแนวยาวเหยียด ๒ แถว ส่วนใต้หลังคาจากนั้นเคลือบด้วยสีคล้ำเข้มเพราะถูกรมควันไฟอยู่ชั่วนาตาปี
ส่วนอีกปีกหนึ่งเป็นที่นั่งของผู้เข้าร่วมพิธี หลวงตาปพนพัชร์นั่งเก้าอี้ไม้เป็นประธานในพิธีอยู่ด้านหน้าสุด ด้านขวามือของหลวงตาตั้งโต๊ะหมู่บูชาและโต๊ะตั้งเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พานบายศรี ขันหมากเบ็ง ขันแปด ขันห้า ขันหมากพลู ดอกไม้ ๗ สี พานผลไม้ พานใส่แก้วน้ำ ๙ ใบ และพานใส่แก้วยาสมุนไพรน้ำสมานฉันท์ ๙ ใบ ส่วนอ่างดินเผาใส่น้ำมนต์ตั้งอยู่ขอบศาลาด้านซ้ายของหลวงตา
ผู้ป่วยรายใหม่ รวมทั้งพี่กานดา จันทิมา ที่เราพบในวันแรก สวมชุดเสื้อกางเกงผ้าเนื้อบางสีน้ำตาลอ่อน นั่งเรียงเป็นแถวบนพื้นปูเสื่อ ขณะที่ผู้มีอาการหนักและผู้สูงอายุนั่งบนแถวเก้าอี้ด้านข้างศาลา แต่ละคนถือห่อกระดาษบรรจุยาสมุนไพรวางบนตัก
ถัดจากกลุ่มผู้ป่วยเป็นแถวนั่งของญาติ ปะปนกับกลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาวจากคณะวิทยาศาสตร์ โปรแกรมวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่มาศึกษาดูงานในวันนี้
ด้ายสายสิญจน์ถูกส่งต่อให้ทุกคนพันรอบศีรษะ ๓ รอบ โดยปลายสายสิญจน์ข้างหนึ่งอยู่ในมือหลวงตา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เริ่มใส่ฟืนในเตาแล้วติดไฟ สักพักควันสีเทาเริ่มโชยขึ้นมา
“ขอให้ทุกคนทำจิตใจตัวเองให้มีสมาธิ และทำใจให้สบายๆ คือมาที่นี่ไม่ต้องไปทุกข์เรื่องอะไรแล้ว เพราะว่าทุกข์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ทำให้โรคภัยหาย เสียใจก็ไม่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมาได้” หลวงตาปพนพัชรเทศนาผู้เข้าร่วมพิธีต้มยา
“ยาที่เราต้มจะมีความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีจิตวิญญาณของสมุนไพร มีจิตวิญญาณของพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ จิตใจของเราต้องบริสุทธิ์และมีสมาธิ มีพุทโธในใจเราเสมอ สิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงเราก็ทิ้งไปให้หมด ไม่ต้องเก็บไว้ในใจเรา ให้มีแต่สิ่งที่ดี เพราะสุขภาพกายและสุขภาพจิตต้องดีไปด้วยกัน การที่จะทำให้สุขภาพจิตดีเราก็ต้องภาวนา ทำใจให้สงบ และทำใจให้สบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ว่าโรคภัยไข้เจ็บจะมากหรือน้อยขนาดไหน จิตใจเราก็ต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิให้ได้ พร้อมที่จะเผชิญกับความจริง พร้อมที่จะก้าวต่อไปในชีวิต ถึงเราป่วยหรือไม่ป่วย ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าข้างหน้ามันจะยาก เราก็ต้องปฏิบัติ ดีกว่านอนรอเฉยๆ ไม่ได้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าเราภาวนาทุกวันๆ ใจเรามีสมาธิทุกวัน เดี๋ยวมันก็ดีเอง ก็เป็นสุขเองได้”
จากนั้นหลวงตาบอกให้ทุกคนกราบพระและสวดมนต์ โดยมีอาสาสมัครหญิงเป็นผู้นำสวด ผู้ป่วยทั้งชายหญิงก้มหน้าสำรวม สายตาเพ่งมองหน้าหนังสือสวดมนต์ ต่างเปล่งเสียงสวดมนต์โดยพร้อมเพรียงจากบทหนึ่งไปสู่อีกบทหนึ่ง ขณะเดียวกันทางฝั่งที่ต้มยา ไฟในเตาฟืนกำลังลุกแรงจนมองเห็นมวลอากาศเหนือเตาสั่นพร่าเต้นระริก
“ต่อไปให้ทุกคนตั้งนะโมดังๆ พร้อมๆ กัน ๓ จบนะ เริ่มต้นได้” หลวงตากล่าว
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” เสียงผู้ป่วยและญาติสวดพร้อมกัน ๓ จบ
หลวงตาพูดขึ้น “เอาใหม่ ให้ดังกว่านี้ ท่องนะโมเสียงเบาอย่างนี้แล้วพระอินทร์จะลงมาช่วยได้ยังไง”
หลังเสียงสวดมนต์ผ่านไปอีก ๓ จบ หลวงตากล่าวขึ้น
“ครั้งที่ ๓ จะต้องดังกว่าครั้งที่ ๒ ให้เรียกพลังมาให้มากกว่านี้ ที่จริงแต่ละคนมีพลังอยู่เยอะแยะ แต่พอเป็นมะเร็งแล้วใจมันไม่สู้”
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” คราวนี้เสียงสวดมนต์ดังประสานกันอย่างหนักแน่น
หลวงตากล่าว “นี่ยังดังได้อีก แสดงว่าเรายังมีแรงอีกเยอะที่จะสู้ชีวิต ให้ชีวิตก้าวต่อไปได้ แล้วโรคมะเร็งนี่ไม่ได้แพ้ชนะกันด้วยยานะ แต่แพ้ชนะกันด้วยใจ ถ้าใจเราไม่สู้ เราก็แพ้ไปแล้ว แต่ถ้าใจเราสู้ เรายังมีโอกาสรอด แต่ถ้าหากว่าเราจะต้องตาย เราก็ต้องเข้าใจ ตายก็คือตาย ใครจะปฏิเสธมันได้ ใครจะหนีมันได้ ก็ต้องยอมรับมัน”
หลังจากนั้นหลวงตาสวดคาถาสักกัตวาฯ แล้วบอกให้ผู้ป่วยยกห่อยาสมุนไพรขึ้นอธิษฐานจิต ค่อยนำยาไปเทลงในหม้อต้ม
อโรคยศาลกำหนดไว้ว่าผู้ป่วยที่ต้องการมารักษาตัวจะต้องนำหม้อเคลือบสำหรับใส่ยาต้ม เบอร์ ๓๒ จำนวน ๑ ใบติดตัวมาด้วย บัดนี้หม้อเคลือบของผู้ป่วยทั้ง ๑๓ คนวางอยู่คู่กับหม้อดินเผาที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ ใกล้กับเตาฟืนแต่ละเตา
ผู้ป่วยทยอยลุกขึ้นเดินไปที่หม้อต้มยาของตนเอง แกะห่อกระดาษแล้วเทส่วนผสมของ “ยอดยารักษามะเร็ง” ลงในหม้อดินเผา เจ้าหน้าที่ตักน้ำฝนใสสะอาดใส่ลงในหม้อดินเผาแต่ละใบจนท่วมสมุนไพร ระหว่างนั้นหลวงตาสวดคาถาพาหุง
“พระสวดชยันโตแล้ว ยกหม้อขึ้นตั้งเตาได้เลยค่ะ” เสียงเจ้าหน้าที่ร้องบอก
ญาติผู้ป่วยช่วยยกหม้อดินเผาขึ้นตั้งบนเตาฟืนที่เปลวไฟสะบัดร้อน
เมื่อพวกเขาเดินกลับไปที่นั่ง หลวงตาบอกให้ทุกคนนั่งสมาธิ
“ให้ทำสมาธิคนละ ๙ นาที เพื่อแผ่เมตตาไปให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายที่เราเคยเบียดเบียนเขาด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เขาเกิดความทุกข์ เกิดโทษ เกิดภัยพิบัติต่างๆ นานา ก็ขอให้เราแผ่เมตตา เจริญจิตภาวนาไปให้คนและสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นที่เราได้เคยเบียดเบียนเขา ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็ตามที ทั้งที่ระลึกได้และระลึกไม่ได้ก็ตามที”
หลวงตาและทุกคนหลับตาในท่านั่งสมาธิ บรรยากาศในศาลาริมน้ำอยู่ในความเงียบสงัด เวลาผ่านไปเริ่มมีไอสีขาวโชยขึ้นจากหม้อดินเผาต้มยาแต่ละใบ ความร้อนกำลังดึงตัวยาจากพืชสมุนไพรซึมซ่านออกมาสู่น้ำฝนในหม้อต้ม พร้อมกับที่จิตใจของผู้ทำสมาธิค่อยๆ เข้าสู่ภวังค์แห่งความสงบ กระทั่งน้ำในหม้อต้มทุกใบเริ่มเดือดดังปุดๆ ส่งไอขาวคลุ้งเป็นสายยาว พร้อมกลิ่นหอมของยาสมุนไพรเข้มข้นคลุ้งตลบไปทั่วบริเวณ หลวงตาจึงลืมตาและบอกให้ทุกคนถอนจิตออกจากสมาธิ
“การต้มยาในวันนี้สำเร็จด้วยดี” ท่านกล่าวพร้อมอธิบายว่า “ยาหม้อแรกนี้ให้กินครั้งละ ๔๕๐ ซี.ซี. วันละ ๓ ครั้งก่อนอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง แล้วต้องอุ่นยาทุกวัน ก่อนอุ่นยาให้สวดคาถาสักกัตวาฯ ๓ จบ และนึกถึงพ่อหมอชีวกโกมารภัจน์ อธิษฐานจิตแล้วกินยาด้วยความเคารพ”
หลังจากนั้นผู้ป่วยและญาติกลับไปที่บริเวณต้มยา ใช้กระบวยตักน้ำยาสมุนไพรสีน้ำตาลเข้มในหม้อดินเผาใส่หม้อเคลือบเบอร์ ๓๒ ที่ใช้ผ้าขาวบางเป็นผ้ากรองขึงปิดปากหม้อ
ยาสมุนไพรห่อหนึ่งนำมาต้มในหม้อดินเผาได้สามน้ำ ก็จะได้ปริมาณน้ำยาสมุนไพรเต็มหม้อเคลือบพอดี
เมื่อผ่านพิธีต้มยาครั้งนี้แล้ว ผู้ป่วยรายใหม่กลุ่มนี้ก็ได้ยาหม้อของตนไว้อุ่นกินตามเวลา ส่วนใหญ่แต่ละคนดูหน้าตาผ่องใส อาจเป็นเพราะเชื่อมั่นในสรรพคุณของยาสมุนไพร หรือศรัทธาในพิธีกรรมที่สร้างบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ จนพวกเขาเกิดความหวังและมีกำลังใจเพิ่มขึ้น พร้อมจะเผชิญกับโรคมะเร็งที่คุกคามชีวิตตน
วัดคำประมงจัดพิธีศพให้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตภายในวัด
ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาเผชิญวาระสุดท้ายอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย
หลังจากพิธีต้มยาในวันนี้สิ้นสุดลง หลวงตาปพนพัชร์ยังนั่งอยู่ในศาลาริมน้ำ พูดคุยกับบรรดาผู้ป่วยและญาติ
กระทั่งเราได้เข้าไปกราบหลวงตา จึงถือโอกาสถามท่านว่า หากผู้ป่วยโรคมะเร็งอยากรู้ว่าถ้าเขามารักษาตัวที่อโรคยศาล วัดคำประมง เขามีโอกาสหายจากมะเร็งมากน้อยแค่ไหน หลวงตาจะตอบเขาว่าอย่างไร
หลวงตาบอกเราว่า “มีคนถามหลวงตาอยู่ตลอดเวลาว่า เขาหรือญาติที่เป็นมะเร็งจะหายไหม ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาที่นี่เป็นมะเร็งระยะที่ลุกลามไปมาก กระจายไปทั่วแล้ว มันควบคุมยาก ถ้าเราบอกว่าหาย มันเหมือนเราจะหลอกเขาหรือเปล่า แต่หากบอกว่าไม่หาย ไม่ดีขึ้น มันก็เหมือนหลอกเขาเพราะมีผู้ป่วยหลายรายมาที่นี่แล้วอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้าบอกไม่หาย เขาก็หมดกำลังใจ
“เอาเป็นว่า บอกเขาว่า หายก็หาย ตายก็ตาย ต้องยอมรับนะเพราะคุณตัดสินใจมาทางนี้แล้ว หากหลวงตาบอกว่ารักษาโรคมะเร็งหายแน่ๆ หลวงตาก็เป็นซูเปอร์เทวดาน่ะสิ ไม่ได้ แต่ให้ยอมรับความจริงว่า ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นมันก็ต้องตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตามสภาวะของมันอยู่แล้ว”
หลวงตากล่าวต่อว่า “แต่สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับจากที่นี่ก็คือ จิตวิญญาณของความเป็นพุทธะ จิตวิญญาณของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่จะเข้าใจชีวิตมากกว่าที่เคยเป็น เช่นเมื่อก่อนคุณขี้โรค เอาแต่หาเงินทั้งวันทั้งคืน พอคุณได้เงินปุ๊บ คุณก็เป็นมะเร็ง เป็นโรคเครียด โรคนั้นโรคนี้ สารพัดโรค แต่พอคุณมาอยู่ที่นี่ คุณเข้าใจว่าทำไมเราต้องโลภขนาดนั้น ทำไมเรามีความอยากขนาดนั้น ทำไมเราไม่ใช้ชีวิตที่พอดี ที่เป็นธรรมชาติบ้าง ที่เราสามารถอยู่กับทุกคนได้อย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ
“แล้วเราก็จะอยู่ร่วมกับมะเร็งได้อย่างมีความสุขด้วย ถ้าหากคุณบอกว่าคุณต้องหาย คุณก็เครียดแล้ว เหมือนคุณจะไปรบกับข้าศึก คุณคิดว่าจะชนะ แล้วข้าศึกไม่คิดว่าเขาจะชนะคุณเหรอ ที่มะเร็งเขาเล่นงานคุณ เขาจะเอาคุณตายนะ แต่ทีนี้จะทำยังไงจึงจะเจรจาต่อรองเขาได้ บอกว่า เอ้า พบกันครึ่งทางนะ เราอยู่ได้ มะเร็งอยู่ได้ เราไม่ตาย มะเร็งไม่ตาย ต่างคนต่างอยู่ จนกระทั่งหมดอายุขัย อย่าทำร้ายกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แล้วมะเร็งจะได้อานิสงส์จากการที่เราทำบุญ สวดมนต์ภาวนา ตักบาตรสร้างกุศลผลบุญให้เขาทุกวันๆ เราทำบุญให้มะเร็ง มะเร็งก็อ่อนข้อ ไม่ทำร้ายเราแล้ว เจรจาต่อรองกันได้อย่างดี มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่ว่าเป็นมะเร็งแล้วมีความทุกข์”
“มันไม่ง่ายขนาดนั้นนะคะ หลวงตาเจ้าขา” พี่ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมกล่าวขึ้น
“ไม่ง่ายก็ทำให้มันง่ายสิ จะไปยากอะไรล่ะ”
“รู้สึกว่าตัวเองบาปค่ะ เพราะบางครั้งอยากตาย”
“ไม่ต้องอยากหรอก มันตายอยู่แล้ว” หลวงตาพูดยิ้มๆ “แต่ว่าก่อนที่จะตายเราควรจะทำจิตให้เป็นกุศล ให้จิตพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น พ้นจากความทุกข์ ถ้าคุณตายเพราะคุณทำร้ายตัวเอง คุณก็ต้องเกิดมาทำร้ายตัวเองใหม่อีก ก็ไม่จบไม่สิ้นสักที แต่ถ้าคุณเอาชนะความทุกข์ในชาตินี้ ชนะด้วยจิตใจตนเอง ชนะด้วยธรรมะในตัวของคุณ ชนะด้วยการภาวนา คุณก็หลุดพ้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาทุกข์อีก
“นี่คือจุดหมายของอโรคยศาล เพื่อให้คนไข้พ้นจากทุกข์ด้วย ไม่ใช่ว่าคุณหายจากโรคมะเร็งแล้วก็กลับมาทุกข์เหมือนเดิม คุณโกรธง่าย โลภ หลง เหมือนเดิม แล้วก็กลับมาเป็นมะเร็งอีก ไม่จบซะที แต่ถ้าคุณทำสมาธิภาวนา คุณพ้นทุกข์ สบาย อยู่อย่างมีความสุข คุณจะได้สิ่งที่มีค่าในชีวิต” หลวงตากล่าวในท้ายที่สุด
โครงการจิตอาสา วัดคำประมง
อโรคยศาล วัดคำประมง เปิดรับบุคคลทุกสาขาอาชีพมาเป็นจิตอาสา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในทุกๆ ด้าน ตามความสามารถหรือความถนัดของแต่ละคน โดยใช้เวลาเพียงคนละ ๑ วันต่อปี หรือมากกว่านั้นก็ได้ อาทิเช่น
สำหรับบุคคลทั่วไป มีงานที่สามารถช่วยได้ดังนี้
ติดต่อวัดคำประมง
การเดินทางมาที่วัดคำประมง
* สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารักษาที่อโรคยศาล วัดคำประมง ควรโทร. ติดต่อแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง |