ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
หนึ่งในเครื่องรางของขลังที่นิยมแขวนไว้บูชาตามร้านอาหารคือพระบรมฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) ในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะภาพที่เป็นพระราชอิริยาบถประทับพระเก้าอี้ทรงปรุงอาหารอยู่หน้าเตา คงเพราะพระองค์ทรงกระทำสิ่งเดียวกันกับบรรดาพ่อครัวแม่ครัว จึงเท่ากับทรงเป็นองค์อุปภัมภ์แห่งการครัว (หรือร้านอาหาร) ไปโดยปริยาย
การประดับภาพรัชกาลที่ 5 ในฐานะเครื่องรางตามร้านค้าน่าจะเพิ่งนิยมแพร่หลายกันไม่เกิน 20-30 ปีมานี้ และคงเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อซึ่งนักวิชาการขนานนามว่า “ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5”
ความเชื่อนี้แพร่ขยายตั้งแต่ราวทศวรรษ ๒๕๓๐ ในยุคที่เฟื่องฟูถึงขีดสุด ทุกคืนวันอังคารซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ผู้คนมากมายหลายร้อยคนจะขับรถยนต์ไปจอดแล้วลงไปกราบไหว้บูชาพระปิยมหาราช ณ “พระบรมรูปทรงม้า” ลานพระราชวังดุสิต โดยมีการกำหนดเครื่องบูชาว่าจะต้องเป็นกุหลาบสีชมพู สุราอาหารต่างประเทศ ซิการ์ ฯลฯ
ที่จริงตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง คือเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็มีการประดับพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้บูชาตามบ้านเรือนร้านค้ากันมาแล้ว อย่างหนึ่งคงมาจากว่า “รูปในหลวง” เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากแล้ว อันสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการ “มองเห็น” และถวายสักการะแก่เจ้าชีวิต ผู้ซึ่งทรงมีสถานะใหม่คือ “ศูนย์รวมดวงใจ” เป็น “ที่รัก” ดังพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช”
ถ้าใครเคยอ่านผ่านตาเรื่องการเสด็จประพาสต้นของในหลวงรัชกาลที่ 5 อาจพอจำได้ว่าในระหว่างการเสด็จประพาสต้นครั้งหนึ่งที่เมืองราชบุรี ทรงปลอมตัว คือไม่แสดงพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ทำทีเหมือนกับเป็นกลุ่มผู้ดีชาวบางกอกออกไปเที่ยวเล่นต่างจังหวัดกัน แต่ระหว่างทางที่ไปแวะบ้านชาวบ้าน ก็ยังอุตส่าห์มีเด็กหนุ่มมานั่งๆ ดู แล้วอุทานขึ้นว่า “คล้ายนักขอรับ!” เมื่อถามว่าคล้ายอะไร เขาบอกว่าคล้ายรูปอย่างที่ตั้งไว้บนที่บูชา ว่าแล้วก็ก้มลงกราบ
กลับมาที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ยอดนิยมรูปนี้อีกครั้ง จะเห็นว่าเป็นพระราชอิริยาบถลำลอง ทรงเพียงภูษาโจง (โจงกระเบน) หรือไม่ก็นุ่งลอยชาย พระหัตถ์ขวาทรงจับตะหลิวอันเล็กที่พาดคาอยู่ในกระทะ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงคีบพระโอสถมวน (บุหรี่) ปัญหาที่คนมักสงสัยกันก็คือกำลังทรงปรุงพระกระยาหารอย่างใดอยู่ในกระทะหนอ ?
เคยคุยเรื่องนี้กับเพื่อนผู้เป็นพ่อครัว เขาชี้ประเด็นว่าเมื่อดูจากว่าพระองค์ประทับนั่งสบายๆ จนสามารถทรงพระโอสถมวนไปด้วยได้ แสดงว่าของที่อยู่ในกระทะนั้นต้องใช้เวลาปรุงสักระยะหนึ่ง ไม่ใช่กับข้าวที่ต้องทำเร็วๆ (เช่น สมมติว่าทำผัดผักบุ้ง
ไฟแดงย่อมไม่อาจนั่งชิลๆ แบบนี้) รวมทั้งน่าจะเป็นกับข้าวที่ต้อง “เฝ้า” จับตาดูอยู่ จึงย่อมไม่ใช่อะไรประเภทแกงจืดหรือแกงเผ็ด เพราะนั่นก็ไม่ต้องมานั่งหน้าเตาขนาดนี้ อีกทั้งรอบพระองค์ก็ไม่มีเครื่องปรุงอะไรวางไว้ให้ทรงหยิบฉวยลงกระทะได้อีก ดังนั้นที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือการทอดปลา
หลายคนก็คงคิดอย่างเดียวกันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเห็นมีผู้ที่ใช้ต้นแบบจากภาพถ่ายรูปนี้ ไปสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวองค์เล็กๆ พร้อมทั้งเก้าอี้ เตา และกระทะ ซึ่งก็จะต้องจัดการแก้ปัญหาสำคัญว่าจะมีสิ่งใดอยู่ในกระทะ
ปรากฏว่าช่างหรือผู้ออกแบบเลือกปั้นปลาทูเล็กๆ สองตัวไว้ให้พระองค์ท่านทรงพลิก!