เรื่องและภาพ: สันติ ใจแสน
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”
@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“การปลูกผัก ดินดี ผลผลิตมันก็จะงาม เหมือนกับคนเราถ้ามีรากฐานที่ดีมันก็จะดี” นี่คือคำพูดของ สีฟ้า กรึงไกร ชายหนุ่มอายุ 31ปี เขาพูดกับพวกเราขณะที่พวกเรานั่งฟังการบรรยายของการทำไร่สีฟ้า ไร่สีฟ้าตั้งอยู่ที่ตำบลแก่นมะกูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

หลังจากที่พวกเรานั่งฟังการบรรยายของสีฟ้าเสร็จ พวกเราก็ได้รับการต้อนรับจากชาวหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ด้วยขนม “มีสิ” ซึ่งเป็นขนมที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ทำไว้สำหรับรับแขก

พี่วินัย กรึงไกร บอกกับพวกเราไว้ว่า “ขนมมีสิเป็นขนมที่ชาวกะเหรี่ยงจัดทำขึ้นเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเรือน รวมไปถึงรับประทานในชีวิตประจำวัน มีวัตถุดิบที่ใช้คือ งา เกลือ และข้าวเหนียว ซึ่งชาวบ้านจะนำทั้งสามอย่างนี้ลงไปตำในชูว์โช หรือที่รู้กันดีว่าเป็นครกของชาวบ้านที่นี่ หลังจากที่ผมได้ลองกินขนมมีสิ ผมรู้สึกคล้ายกับเวลาที่กินขนมข้าวโปง ซึ่งเป็นขนมของภาคกลาง แตกต่างกันก็ตรงที่ข้าวโปงมีไส้ตรงกลางนั่นเอง

เมื่อเราได้มีโอกาสเดินเล่นรอบๆ ไร่สีฟ้า เราเห็นการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเกษตรกรมักจะทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดเป็นจำนวนมากในประเทศไทย แต่ข้อเสียของการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวคือเกษตรกรมักจะทำไร่เป็นจำนวนมาก หากลงมือปลูกอ้อยก็จะปลูกอ้อยเหมือนกันหมด

บริเวณโดยรอบมีการปลูกพืชในลักษณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรก็จะไม่สามารถขายพืชพรรณได้ในราคาที่ต้องการ

เมื่อก่อนสีฟ้าทำไร่เลื่อนลอย แต่มีปัญหาเรื่องข้าวของราคาตกต่ำ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี เขาจึงกลับมาทำไร่ทำสวน ซึ่งความพิเศษของไร่สีฟ้าคือที่นี่มีความหลากหลายของพืชพรรณมากกว่าที่อื่น เพราะสีฟ้าน้อมรับเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เข้ามาปรับใช้

ไร่สีฟ้ามีพืชพรรณตัวอย่างเช่น มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี กะหล่ำหัวใจ และพวกพืชตระกูลสลัด สีฟ้าบอกพวกเราว่า “เราปลูกพืชหลายอย่างเพื่อป้องกันราคาไม่ดี ทำให้ขายผลผลิตได้ทั้งปี มีรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต”

ผมถามเขากลับไปว่าแล้วอะไรที่ทำให้เขาทำไร่นี้ให้ประสบความสำเร็จได้

“ความรู้กับการพึ่งตนเอง สิ่งสำคัญคือเกษตรกรต้องมีความรู้ในเรื่องการทำเกษตร เราต้องศึกษาหาความรู้ ทดลองด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากองค์กรต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเริ่มทำด้วยตนเอง สังเกต ลองผิดลองถูก พยายามทำอะไรด้วยตนเองให้มากที่สุด แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จในแบบที่เราพอใจ”

หลังจากที่ผมได้พูดคุยกับสีฟ้าพอสมควรและได้รู้ความเป็นไปเป็นมาของไร่สีฟ้า ผมปลีกมาเดินเล่นในสวนผสมผสานที่มีพื้นที่ 35 ไร่ ได้ลองชิมผัก ชิมสตรอว์เบอร์รีของสวนสีฟ้า และกะหล่ำหัวใจ

วินาทีแรกที่ผมได้กินกะหล่ำหัวใจ ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือกะหล่ำที่นี่มีรสชาติหวานมาก หวานมากกว่ากะหล่ำที่ผมเคยกินในถุงลูกชิ้นเสียอีก

บรรยากาศที่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่มาถึงที่แห่งนี้คือการได้เห็นที่ที่มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยพืชพรรณภายในไร่สีฟ้า ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามากันมากหน้าหลายตา ซึ่งสิ่งนี้เป็นการเพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับไร่สีฟ้านอกจากการส่งออกขายเพียงอย่างเดียว

“เมื่อเราปลูกผักลงบนดินที่ดีผลผลิตก็จะงาม เหมือนกับคนเราถ้ามีรากฐานที่ดีก็จะส่งผลดีตามมา” สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการมาไร่สีฟ้าในครั้งนี้คือ แท้จริงแล้วรากฐานชีวิตของคนเราก็เปรียบเสมือนกับดิน กว่าผักจะสามารถเจริญงอกงามได้ดี แร่ธาตุในดินก็ต้องมีคุณสมบัติที่ดี รากฐานของชีวิตก็เหมือนกัน คุณสมบัติที่ดีจะสามารถทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ เหมือนกับพี่สีฟ้า คนที่มีคุณสมบัติของการอยากได้ความรู้และมุ่งที่จะพึ่งตนเอง เขาจึงพอใจกับชีวิตเรียบง่ายที่ดำเนินไปอย่างมีความสุข

สีฟ้าไม่ได้กล่าว แต่สันติกล่าว

“จะบอว” (แปลว่าขอบคุณในภาษากะเหรี่ยงโปว์)

ไร่สีฟ้ากับสีฟ้า เขากำลังมองผลผลิตของตนเองที่เกิดมาจากความตั้งใจตลอด 5 ปีที่เป็นเจ้าของไร่ ชาวกะเหรี่ยงโปว์อายุ 31 ปี ชอบค้นหาความรู้ ชอบพึ่งตนเอง และทดลองการเกษตรด้วยตนเอง

ชาวกะเหรี่ยงโปว์กำลังตำมีสิ ซึ่งเป็นขนมต้อนรับพวกเรา ขนมเหล่านี้ใช้สำหรับรับแขกและรับประทานในชีวิตประจำวัน

วัตถุดิบในการทำมีสิ มีงา เกลือ ข้าวเหนียว และนมข้นหวาน เมื่อจิ้มกินแล้วให้รสชาติหอม อร่อย

สีฟ้าใส่ใจกับการทำเกษตรแบบผสมผสานที่มีความหลากหลายมากกว่าเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้ไร่ของเขามีผลผลิตตลอดทั้งปี เพื่อเพิ่มความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น

ผลผลิตจากไร่ผสมผสานหลากหลายชนิด มีความสดใหม่หอมหวาน

ผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไร่สีฟ้า เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ของไร่สีฟ้า และทำให้ไร่สีฟ้าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น