วิวาห์ชาติพันธุ์ ร้อยสิ่งสำคัญวันมงคล
ถึงวัยหนึ่ง ทุกคนล้วนอยากชวนใครสักคนใช้เงินเดือนไปด้วยกัน
ครั้นยุคเปลี่ยนมีเหตุมากมายที่โน้มนำให้ผู้คนหมางเมินแต่งงาน
บ้างมองจุดเริ่มต้นการสร้างครอบครัวที่ดีเป็นคนละเรื่องกับพิธีสมรสที่ค่อนไปทางตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถือคติว่ารักเป็นเรื่องของสองคน ส่วนครอบครัว เพื่อนพ้อง และพิธีกรรมเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง
ถามผู้อาวุโส ไม่มีใครอยากเห็นลูกหลานปฏิบัตินอกจารีต เพราะมากกว่าหน้าตาทางสังคมยังเป็นการเคารพวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษทุกชาติพันธุ์คิดสรรกุศโลบายอันชาญฉลาด ทำแล้วดีจึงส่งต่อ
เราใช้เวลาเกือบ ๒ ปี คลุกวง “พิธีสมรส” ของฮุนเล่ (บ้าบ๋า), แซนการ์ (เขมร), เอาะมู (ปกาเกอะญอ), ชิ่ง จา (เมี่ยน), นิกะห์ (มุสลิม), เวดดิ้ง (คริสต์), ช้ง กอ (ม้ง), แต่งดอง (ลาว), กิ๋นแขก (ล้านนา), ร่วมหอลงโรง (ไทย)
บางชาติพันธุ์เก็บข้อมูลมากกว่าหนึ่งครั้งให้แน่ใจว่าธรรมเนียมปฏิบัติ
ที่เห็น-ฟังมา สิ่งใดคือแก่นแท้หรือคือพิธีกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะบุคคล
ยิ่งศึกษาเรื่องราวยิ่งกระจ่างในสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความรัก เปี่ยมด้วยความหมายซ่อนในลำดับพิธีอย่างแยบคาย
ก่อนตัดสินใจหลีกห่างการแต่งงาน ชวนพิจารณาคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง
“พิธีผู่” โอบกอดผู้หญิงม้งเมื่อชีวิตคู่ล้มเหลว
จารีตครอบครัวและขนบแต่งงานที่บรรพบุรุษม้งส่งต่อลูกสาว
ทำให้ชีวิตหลังแต่งงานของผู้หญิงม้งเปรียบดั่งฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงในรอบปีโดยขึ้นอยู่กับความเอื้ออารีของฝ่ายชายและครอบครัวใหม่ที่จะทำให้ฝ่ายหญิงมีสภาพชีวิตที่อบอุ่นหรือเหน็บหนาว
หากชีวิตคู่ล้มเหลว ประสบปัญหาใหญ่หลวง ถูกทารุณ หย่าร้าง หรือสามีเสียชีวิต จะถือเป็นตราบาปติดตัวหญิงม่ายที่ไม่อาจปลดเปลื้องและไม่มีสิทธิ์คืนอกพ่อแม่ให้เป็นเสนียดจัญไร
ผู้ให้กำเนิดเลือดเนื้อก็ทำได้เพียงกลืนน้ำตาลงอก-รับกฎสังคมที่ยึดมั่นใน “โครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่และเชื่ออำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ”
เมื่อขาดที่พึ่งยังถูกชุมชนร่วมกดดันจนสิ้นหนทางทำกินให้ต้องเร่ร่อนอย่างคนไร้ญาติ ตายเอาดาบหน้าในเมือง พยายามหาสามีใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ้างจำใจขายบริการทางเพศจนติดโรคซ้ำเติมโชคชะตา
จารีตโหดร้ายส่งให้ผู้หญิงม้งหมดที่ยืนโดยไม่เคยมีใครสนว่าร่างที่ยังหายใจบนความจริงที่แสนเจ็บปวดนั้นจะเผชิญชีวิตต่ออย่างไร ที่ผ่านมาผู้หญิงหลายคนจึงฆ่าตัวตายเพราะไร้ทางออก
กระทั่งวันหนึ่งมีผู้รื้อฟื้น “พิธีผู่ – รับลูกสาวกลับบ้าน” เพื่อเปลี่ยนชะตากรรมทางเพศ