ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง / ภาพ พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์
ภาพ :พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์ และ โตณณาการ ยิ่งยงค์

หลายคนใฝ่ฝันจะมาฝากรอยเท้าไว้บนสันคมมีด แต่น้อยนักจะได้รับโอกาส

ด้วยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จำกัดให้นักท่องเที่ยวเยือน “เขาช้างเผือก” ได้วันละไม่เกิน ๖๐ คน และกำหนดให้ขึ้นเขาได้แค่ฤดูเหมันต์ โดยติดต่อจองคิวล่วงหน้าได้เพียง ๗ วัน

ดูเหมือนยิ่งยากยิ่งท้าทายให้ใครต่อใครอยากสัมผัสเสน่ห์เจ้าคชสารยักษ์

จึงตั้งใจว่าวันนี้จะขอผลัดเสื้อกาวน์ที่สวมอยู่ในโรงพยาบาลทองผาภูมิมาสวมชุดปีนเขาสักที

เมื่อพลพรรคร่วมอุดมการณ์พร้อม การเดินทางแต่เช้าตรู่ของวันจึงเริ่มจากลงทะเบียน ซื้อประกันชีวิต ฟังกฎระเบียบจากเจ้าหน้าที่อุทยาน แล้วเดินทางจากสำนักงานไปอีก ๙ กิโลเมตร เพื่อพบเจ้าหน้าที่ยังจุดนัดพบในหมู่บ้านอีต่อง สุดชายแดนไทยในอำเภอทองผาภูมิ กลุ่มชายหญิงวัยฉกรรจ์สวมเสื้อสีเขียวสะท้อนแสงรอพวกเราอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็ก ข้าวของจำเป็นต่อการยังชีพบนดอยถูกอัดใส่กระสอบ แบกขึ้นหลังและใช้ศีรษะช่วยรั้ง ผ้าขาวม้าขาดริ้วของ “ลูกหาบ” ที่โพกอยู่พอบอกได้ว่าผ่านการทูนของหนักนักต่อนัก

“ไปถึงจุดกางเต็นท์แล้วมองหาพวกผม เบอร์ ๖ เบอร์ ๗ นะครับ”

หนึ่งในสองลูกหาบว่าอย่างนั้น ก่อนรัดเชือกมัดกระสอบอีกครั้งแล้วเดินล่วงหน้าขึ้นเขาไป

บรรยากาศช่วงแรกของทางเดินเป็นป่าโปร่ง มีจังหวะให้สังเกตพรรณไม้รอบตัว นั่นต้นส้าน นี่ต้นคะเนียง กระทั่งเดินเรื่อยไปจนถึงระดับความสูงเหนือน้ำทะเล ๑,๐๖๒ เมตร ยังจุดพัก “เขาช้างน้อย” จึงเริ่มเห็น “ช้างเผือก” ตัวที่เรามองหา จากจุดนี้เสมือนเดินบนหลังช้าง ต้นไม้ข้างทางเริ่มเปลี่ยนเป็นกอหญ้าไร้ร่มเงา เมื่อใดเจอไม้ใหญ่สักต้นจึงต้องขอความอารีจากกิ่งก้านใบพักน่องมองทิวทัศน์ให้คลายเหนื่อยล้า

“มีลูกหาบทั้งหมด ๗๒ คน แต่ช่วงนี้เหลือแค่ ๕๗ คน”

แม้จะแบกของหนักเดินขึ้นเขาเป็นอาชีพจนคุ้นชิน แต่ร่างกายมนุษย์ก็ต้องการพักเพื่อเติมเต็มพลังงานเช่นกัน ขณะพักพวกเขาชวนคุยถึงจำนวนเพื่อนร่วมอาชีพที่ลดลงสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยว

“ที่หายไปก็ท้องป่องกันอยู่ครับ”

หนุ่มๆ หยอกถึงหญิงลูกหาบที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งก็เป็นภรรยาของพวกเขา แล้วผลัดเล่าต่อว่าอาชีพนี้แต่ละวันต้องแบกของขั้นต่ำคนละ ๓๐ กิโลกรัม ได้ค่าตอบแทน ๑,๕๐๐ บาท เป็นตัวเลขที่ประเมินแล้วว่ากำลังตนรับไหวและนักท่องเที่ยวยินดีจ่ายแลกแรงงาน หากเกินกว่านั้นค่อยคิดเพิ่มกิโลกรัมละ ๓๐ บาท

“เคยแบกหนักสุดก็ ๖๕ กิโลกรัม”

ลูกหาบอีกคนเสริมทัพถึงสถิติที่ทำไว้

“เพราะตอนนั้นเหลือลูกหาบในหมู่บ้านแค่ ๒ คน แต่สัมภาระของนักท่องเที่ยวยังเหลืออื้อ”

สำคัญกว่านั้นคือฤดูกาลที่จะหารายได้เสริมเลี้ยงปากท้องมีจำกัด พวกเขาจึงเลือกกัดฟันสู้

ในฐานะหมอแม้วันนี้จะสวมวิญญาณนักท่องเที่ยวก็ตามได้ฟังตัวเลขแล้วถึงกับผงะ เพราะการแบกของหนักเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังในระยะยาว ยิ่งต้องแบกขึ้นๆ ลงๆ ภูเขายิ่งแล้วใหญ่ หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการหาบเพียงครั้งเดียวอาจได้ไม่คุ้มเสีย

“ไม่มีหรอกครับหมอ ของหนักแค่ไหนถ้าไม่ไหวก็แค่วาง”

พูดไม่ทันขาดคำเจ้าตัวก็หาบของเดินขึ้นเขาต่อ

แม้จะดูเหมือนไม่มีอะไรน่ากังวลเพราะพวกเขาต่างก็ระวังตนเสมอ แต่นั่นเป็นเพราะวันนี้ร่างกายคนหนุ่มสาวยังไม่แสดงอาการประท้วงปัญหาสุขภาพจากการยกของหนักต่างหาก

ครั้งหนึ่ง ฉันพบคนไข้วัย ๔๐ ปี ที่มีอาชีพแบกกระสอบปูนทุกวันตั้งแต่อายุเพียง ๑๗ ปี ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังจนกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงและแสดงอาการชาที่ขาทั้งสองข้าง ภาวะแบบนี้เรียก “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมาทับไขสันหลังซึ่งเป็นระบบสั่งการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของขาทั้งสองข้าง ซึ่งหากยังโดนกดทับเพียงเล็กน้อยก็อาจกินยาแก้ปวดให้ทุเลาได้ จนกว่าร่างที่สะสมความเรื้อรังนั้นไม่อาจสงบได้ด้วยฤทธิ์ยาก็ต้องรีบปรึกษาหมอกระดูก

ห่วงพวกเขาอยู่เต็มอก แต่ก็รับรู้ในความจำเป็นของชีวิตมนุษย์ที่มีทางเลือกต่างกัน

วันนี้ฉันเลือกมาในฐานะนักท่องเที่ยว จึงน่าจะต้องพักวางความเป็นหมอไว้ก่อน อย่างน้อยเวลานี้ ชายผู้บรรทุกช้างบนหลังช้างเผือกนั้นก็ดูแข็งแรงคล่องแคล่วกว่าเราที่เดินตัวเปล่า

ทรงตัวบนบนสันหลังช้างลูกนี้ก็หวาดเสียวแล้ว ไม่ควรแบกอะไรที่เป็นการเพิ่มภาระให้หัวใจอีก


แพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑

…….

สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน