วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


สารคดีเป็นงานเล่าข้อมูล ไม่ใช่สัจธรรมในลักษณะความจริงแท้ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากเป็นเพียงข้อเท็จจริงตามการรับรู้ของผู้เขียน สำหรับนักสารคดีที่ทำงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ แน่นอนว่าเรื่องที่เขียนส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่เขารู้จักดีสัมผัสคลุกคลีอยู่โดยตรง ตามธรรมดาของคนเราที่มักจะรู้ลึกรู้ดีกับเรื่องคุ้นเคยใกล้ตัว แต่นักสารคดีมืออาชีพสามารถเขียนในเรื่องที่เขาอาจไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยก็ได้โดยอาศัยการเก็บข้อมูล ซึ่งสารประโยชน์ ความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของงานเขียนสารคดีชั้นหนึ่งชิ้นใด ก็มาจากความหนักแน่นและรอบด้านของข้อมูลนั่นเอง

นอกจากการสรรหารวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการตรวจทานความถูกตรงของข้อมูล

ข้อมูลค้นคว้า อาศัยการเทียบเคียงจากหลายๆ แหล่ง โดยอาจดูน้ำหนักความน่าเชื่อของข้อมูลด้วยได้จากที่มา ระเบียบวิธีการในการศึกษารวบรวมองค์ความรู้นั้น ความใกล้ชิดเหตุการณ์ทั้งในแง่ระยะเวลาและตัวบุคคล ฯลฯ

ข้อมูลสัมผัส ตัวผู้เขียนต้องฝึกวางใจให้เปิดกว้าง ทัศนะ ความเห็นส่วนตัว การเลือกข้างอาจมีอยู่ในใจตน แต่ในประเด็นที่ต้องเก็บข้อมูลเพื่อการเขียน ต้องฝึกวางใจให้เที่ยงธรรมเป็นหลัก เพื่อให้สัมผัสพื้นที่และแหล่งข้อมูลอย่างไม่มีอคติ หรือตั้งธงในใจไว้ก่อนแล้ว นักสารคดีต้องสัมผัสข้อมูลทั้งหลายด้วยใจที่เปิดกว้าง เพื่อเปิดรับทุกสิ่งที่จะได้รับรู้และนำมาเขียนเล่า ตามหลักพื้นฐานที่มักกล่าวสอนใจกันไว้ว่า “ความจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด”

ข้อมูลสัมภาษณ์ เป็นธรรมดามากที่แหล่งข้อมูลอันหลากหลายจะไม่ใช่นักพูดที่เอาการเอางานทั้งหมด เขาอาจเป็นนักโม้แบบน้ำท่วมทุ่ง พูดจาดีเพื่อเอาใจผู้สัมภาษณ์ คุยโม้เพื่อให้ตัวเองดูดี พูดโกหกเพื่อประโยชน์แอบแฝงบางอย่าง จึงในขั้นการนำมาใช้ในงานเขียน ผู้เขียนต้องกุมประเด็นให้แม่น นำคำสัมภาษณ์มาใช้ให้ตรงตามประเด็นของเราได้ อย่างไม่หลุดหลงไปตามการหว่านล้อมหรือชักนำไปของแหล่งข้อมูล-ไม่ว่าโดยที่เขาจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

——

ในขั้นการเขียน หากถือตามพื้นฐานว่างานสารคดีเป็นการเล่าข้อมูล ผู้เขียนมือใหม่ก็อาจเล่าทุกอย่างไปตามที่รับรู้มาก็ได้ แต่จะดีขึ้นกว่าถ้าหากได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้เขียนก่อนเขียนเล่าออกไป

การกรองหรือตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลทำได้หลายช่องทางและไม่ได้ยากเกินไป สำคัญที่นักสารคดีควรตระหนักว่าเป็นสิ่งต้องทำอย่างไม่น่าละเลย

ความจำและข้อมูลปากเปล่าที่แหล่งข้อมูลให้สัมภาษณ์ ย่อมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มากกว่าที่บันทึกไว้ในลักษณะเอกสารอ้างอิง หากผู้เขียนสงสัยในความถูกต้องแม่นยำของคำให้สัมภาษณ์ ทางหนึ่งก็สามารถตรวจสอบกับข้อมูลค้นคว้า

ขณะเดียวกันข้อมูลค้นคว้า ก็สามารถถูกตรวจสอบโดยแหล่งข้อมูลบุคคลได้ เพราะข้อมูลทุกกลุ่มมีโอกาสผิดพลาดขาดพร่องกันทั้งนั้น อีกทั้งข้อมูลทุติยภูมินั้นเป็นข้อมูลแห้งและนิ่ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจไม่ทันสมัย ความถูกต้องของบางเรื่องขึ้นกับคามเป็นปัจจุบันด้วย หากผู้เขียนสงสัยและให้ทันสมัยที่สุดก็อาจตรวจทานกับแหล่งข้อมูลบุคคลด้วยการสัมภาษณ์ ซึ่งการสัมภาษณ์นั้นยังใช้ตรวจทานกันเองได้ด้วยจากหลายๆ แหล่งข้อมูลคานกันเองด้วย อาจโดยใช้วิธีถามคำถามเดียวกัน หรือวางคำตอบของคนอื่นให้สนับสนุนหรือโต้แย้ง

ในกรณีที่ไม่สามารถสรุปความถูกต้องของข้อมูลได้แบบเบ็ดเสร็จ หรือผู้เขียนต้องการวางข้อมูลให้คนอ่านตัดสินเอง ก็สามารถลงข้อมูลที่ขัดแย้งแตกต่างกันไว้ทั้งหมดให้คนอ่านพิจารณา

คล้ายว่ากลับไปสู่พื้นฐานแรกสุดที่ว่า สารคดีเป็นงานเล่าข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนไม่แต่งเติม และเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลใหม่ที่น่าเชื่อถือว่ามาลบล้าง

ไม่ว่าจะเลือกเล่าโดยทางใด หากเข้าใจวิธีจัดการ ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอออกไป ก็ถือได้ว่าเป็นนักเขียนสารคดีที่เท่าทันข้อมูลและแหล่งข้อมูลแล้ว


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา