ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


“มันคล้ายความฝันที่แปลก และสวยงาม ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นมันบ่อยครั้งนัก”

นั่นคือคำกล่าวของ ทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับชื่อดังซึ่งเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ ๖๔ ภายหลังการมอบรางวัลปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดประจำเทศกาล ให้กับ ลุงบุญมีระลึกชาติ หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งของไทย ผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชนะรางวัลนี้

เทศกาลหนังเมืองคานส์จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่หาดริเวียร่า ประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุด เป็นตลาดซื้อขายสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก ภาพยนตร์ทั้งที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวดและที่ได้รับรางวัลนี้ล้วนเป็นที่ยอมรับถึงวิสัยทัศน์ด้านศิลปะ หลายเรื่องได้กลายเป็นผลงานอมตะสร้างชื่อให้นานาประเทศ อาทิ Blow-Up จากอิตาลี, Taxi Driver จากอเมริกา, Kagemusha จากญี่ปุ่น, The Piano จากนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการงานศิลปะชุดดึกดำบรรพ์ (Primitive) เพื่อระลึกความทรงจำต่อผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในเหตุการณ์สู้รบระหว่าง พคท. กับทางการไทยหลังวันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. เสมือนเป็นการอุทิศให้แก่ภาพยนตร์ที่กำลังจะตายแล้ว เล่าเรื่องของ “บุญมี” ชายชาวอีสานที่ป่วยด้วยอาการไตวาย เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวาระสุดท้าย และฝันเห็นอดีตชาติของตนผ่านฉากที่ตัดสลับเข้ามาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมคิดเอาเองว่าชาติที่แล้วของชายผู้นี้คืออะไร ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนเปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้ว่ามีความงดงามราวบทกวี

อภิชาติพงศ์หรือเจ้ยเติบโตในจังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความที่สนใจด้านภาพยนตร์จึงเข้าศึกษาต่อปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้กำกับไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำงานหนังขนาดยาวนอกระบบสตูดิโอ ตั้งแต่ผลงานชิ้นแรก ดอกฟ้าในมือมาร เมื่อปี ๒๕๔๓ และเป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้ ทั้ง สุดเสน่หา (รางวัล Un Certain Regard)ในปี ๒๕๔๕ และ สัตว์ประหลาด (รางวัล Jury Prize สายประกวดหลัก) ในปี ๒๕๔๗ รวมถึงเป็นศิลปินไทยที่ได้รับรางวัลศิลปาธรประจำปี ๒๕๔๘ ในสาขาภาพยนตร์

รางวัลที่เขาได้รับจากผลงานเหล่านี้เสมือนเป็นการกรุยทางให้คนได้รู้จักวงการหนังอิสระ–ภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งนำเสนอมุมมองและเล่าเรื่องผิดแผกไปจากภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ เอกลักษณ์ในผลงานของเขาอยู่ที่การเล่าเรื่องซึ่งผสมผสานระหว่างการถ่ายทำแบบสารคดีกับเหตุการณ์เหนือจริง ผ่านชีวิตคนชายขอบ ทั้งแรงงานต่างด้าว กลุ่มรักร่วมเพศ ชาวบ้านในชนบท ฯลฯ อีกทั้งนักแสดงก็ล้วนเป็นคนธรรมดาๆ แหวกขนบหนังไทยที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

อภิชาติพงศ์ไม่เพียงทำงานผลิตหนังของตนเท่านั้น เขายังทำกิจกรรมทางด้านภาพยนตร์อีกหลายอย่างเพื่อเปิดโลกให้คนเห็นแง่มุมอื่นๆ ของศิลปะแขนงนี้ ทั้งการจัดเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ มาแล้วถึง ๕ ครั้ง การก่อตั้งเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ เพื่อประท้วงกรณีที่หนังเรื่อง แสงศตวรรษ โดนตัดหลายฉาก พร้อมกับได้สะท้อนปัญหาการเซ็นเซอร์หนังของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนก่อให้เกิดการผลักดันพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเวลาต่อมา ล่าสุดเขาและ มานิต ศรีวานิชภูมิ ยังส่งจดหมายคัดค้านการที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรเงินทุนสนับสนุนถึง ๑๐๐ ล้านบาทผ่านงบไทยเข้มแข็งให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สองกรณีหลังนี้เองที่ทำให้ชื่ออภิชาติพงศ์ปรากฏเป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่างๆ มากกว่าผลงานภาพยนตร์ของเขาเสียอีก

นอกจากบทบาทของเขาในวงการภาพยนตร์ ทัศนะความคิดความเห็นของอภิชาติพงศ์ที่มีต่อเรื่องอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ไม่น้อย ล่าสุดเมื่อบทสัมภาษณ์ของเขาจาก The Hollywood Reporter (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓) ถูกนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต อภิชาติพงศ์ก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเห็นต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คือ ‘สงครามชนชั้น’ ในประเทศไทย…ผมคิดว่าทักษิณได้กลายสถานะเป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้ไถ่ชีวิตของคนเหล่านั้น พวกเขาสามารถมีตัวตนขึ้นได้เพราะทักษิณ และต้องพึ่งพาอาศัยทักษิณ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลไทยรักไทย มีงบประมาณที่หลั่งไหลไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในชนบท งบประมาณเหล่านั้นจะโปร่งใสหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด คนยากจนก็มีโอกาสได้เห็นเงินและการพัฒนาในภูมิภาคของพวกเขา นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนเสื้อแดงจึงสนับสนุนทักษิณ”

อีกหลายคนยังตั้งคำถามกับรางวัลที่เขาได้รับ เพราะคนจำนวนมากเห็นว่าหนังของเขา “เข้าใจยาก” และ “น่าเบื่อ” แม้แต่นักวิจารณ์ไทยบางคนก็มองว่าเขายัง “ทำหนังไม่เป็น”

สายของวันในเดือนกรกฎาคม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านไม้กลางบรรยากาศร่มรื่นในชุมชนเล็กๆ คือที่ซึ่งเรากับอภิชาติพงศ์ได้สนทนากันถึงเส้นทางของคนทำหนังอิสระตัวเล็กๆ ที่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ  ซึ่งคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้


บางส่วนจากศิลปะติดตั้งจัดวางชุด “ดึกดำบรรพ์”(Primitive)
จัดแสดงที่ Haus der Kunst เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๐๘
(ภาพจากแฟ้มส่วนตัวของอภิชาติพงศ์)

โดยส่วนตัวคุณเจ้ยมีความประทับใจอย่างไรในโลกภาพยนตร์
ผมเกิดที่กรุงเทพฯ มาโตที่โรงพยาบาลที่ขอนแก่นตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ค่อนข้างจะเป็นคนผจญภัย คือเขาเป็นคนภาคกลาง จบหมอก็เลือกมาทำงานที่ขอนแก่นซึ่งตอนนั้นไม่มีใครอยากมา แล้วก็มาปิ๊งกันที่ขอนแก่น แต่ก่อนขอนแก่นยังเป็นป่า ครอบครัวผมมาอยู่ที่โรงพยาบาลซึ่งยังเป็นเรือนไม้ เป็นยุคบุกเบิกของโรงพยาบาล ชาวบ้านยังนอนกางเต็นท์เกะกะเต็มระเบียง ความเป็นอยู่กันดารพอสมควร ผมโตมาในรั้วโรงพยาบาลที่เป็นเหมือน housing ของหมอ เป็นบ้านไม้ จำได้ว่ายังใช้ถ่านหุงข้าวทำอาหารอยู่เลย ในวัยเด็กโลกเราก็แค่นั้น โรงพยาบาลก็เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของเรา เราไม่ได้คิดเรื่องปรัชญาหรือความตายอะไรที่วนเวียนอยู่ในนั้น ในขอนแก่นตอนนั้นมีโรงหนังอยู่ไม่กี่โรง คุณพ่อคุณแม่ก็ชอบพาไป คือคุณแม่เป็นคนรักสนุก ตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาดูหนังทุกเรื่องเลยนะ ชอบแต่งตัวไปกับเพื่อนไปดู The Sound of Music และ West Side Story พอมาอยู่ขอนแก่นเขาก็คงพยายามดำเนินวิถีชีวิตเหมือนเดิม ก็พาลูกไปด้วย แล้วเหมือนเขาพยายามจะเปิดโลกให้เราเห็นว่ามันไม่ได้มีโลกในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยใช้หนังเป็นตัวเปิดโลกให้เรา ก็เลยทำให้เราหลงใหลในโลกภาพยนตร์

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากมาทำงานด้านนี้
เป็นช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเปลี่ยน ช่วงปี ค.ศ.๑๙๘๒-๑๙๘๓ มีหนังพวกสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เข้ามา เราลิงก์ได้เยอะมาก ตอนเด็กเราชอบดูหนังไทยหนังฝรั่ง ชอบความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ เช่นเรื่อง แผ่นดินวิปโยค (๑๙๗๘) คนภูเขา (๑๙๗๙) หรือหนังที่น่ากลัวอย่าง โคตรไอ้เคี่ยม (Alligator ๑๙๘๐) แต่พอฮอลลีวูดเปลี่ยนไปเป็น สตาร์วอร์ส (๑๙๗๗) เป็น อี.ที. (๑๙๘๒) รู้สึกว่านี่มันโลกใหม่ คือเหมือนกับว่าเป็นวัยที่กำลังสนใจในชีวิตว่าเราชอบอะไรจริงๆ คิดว่าตัวเองน่าจะชอบภาพยนตร์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเราจะเข้าไปได้ยังไงเพราะโลกของเรามันห่างไกลอยู่

นั่นเป็นเหตุผลให้เลือกเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ
เหมือนเป็นแผนสำรอง ส่วนตัวก็ชอบสถาปัตยกรรมด้วย คือชอบเรื่องพื้นที่ เรื่องอาคาร ก่อนหน้านั้นติดทันตแพทย์ตามระบบโควตา ซึ่งตอนนั้นก็ชอบหลายอย่าง ชอบทันตฯ สัตวแพทย์ แต่พอคณะสถาปัตยกรรมเปิด ก็เลือกเลยทันที

การเรียนสถาปัตย์มีผลหรืออิทธิพลอะไรกับคุณบ้าง
มีเยอะครับ คือมันมีกระแสต่อต้านในตัวเอง เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราเป็นคนต่อต้านกฎ ต่อต้านอะไรที่เราไม่เข้าใจแล้วผู้ใหญ่ตอบไม่ได้อย่างมีเหตุผล ทำไมต้องใส่ยูนิฟอร์ม หรือแม้แต่ทำไมต้องเคารพธงชาติ ทำไมต้องสวดมนต์ตอนเช้า ทำไมไว้ผมยาวไม่ได้ แล้วเราก็ได้เจอกลุ่มคนที่เห็นคล้ายๆ กัน ตอนนั้นเขาฮิตไว้ผมยาว มันเป็นช่วงของวัยขบถ จากตอนเด็กๆ เราแอนตี้แต่ไม่พูด พอมาเจอเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็ได้แชร์บ้าง อาจไม่มากแต่รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นอันเดียวกันของศิลปะแห่งสถาปัตยกรรม ผมว่าผมค่อนข้างจะเนิร์ดในตอนเรียน ทำงานเสร็จก่อนเพื่อน บางทีก็แอนตี้เวลาอาจารย์บางท่านเปิดตำราไทยหรือตำราฝรั่งสอน ก็บอกไปว่าอาจารย์ผมขอซีร็อกซ์ได้ไหม คือไม่ต้องมาเปิดตำราอ่านให้ฟังก็ได้นะ ขอซีร็อกซ์ไปอ่านเองดีกว่า