More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


“ลับแล, แก่งคอย” นวนิยายเรื่องดังของ อุทิศ เหมะมูล เมื่อปี 2552 คืองานที่เขียนโดยได้แรงบันดาลใจจากประวัติครอบครัวของตน เป็นภาพบันทึกความเปลี่ยนแปลงของถนนสายมิตรภาพ ในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีบ้านเกิดของเขา โดยเฉพาะราวช่วงปี พ.ศ.2520-2535 พร้อมๆ กับสะท้อนผลกระทบของการพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดกับครอบครัวและชุมชนของตน ผ่านภาษาที่เรียบง่าย สละสลวย ผ่านการเล่าเรื่องอันเก่งกาจ และเรื่องเล่าที่สั่นสะเทือนความรู้สึก จนกลายเป็นหนึ่งในนวนิยายยุคใหม่ๆ ที่หลายคนจดจำ

หากผลงานเรื่องดังกล่าวเป็นความทะเยอทะยานของอุทิศ(เขายังเขียนนิยายเรื่อง ลักษณ์อาลัย(พ.ศ.2555) และ จุติ(พ.ศ.2558) ซึ่งถูกเรียกรวมๆ ว่า ไตรภาคแห่งแก่งคอย เพื่อเล่าเรื่องของพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่ได้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกันโดยตรง) ที่ประสบความสำเร็จเข้าถึงผู้อ่านวงกว้างในผลงานเรื่อง “ร่างของปรารถนา” เมื่อปี พ.ศ.2560 ก็จัดเป็นงานที่เข้าถึงยากกว่า เฉพาะกลุ่มกว่าเพราะเจาะจงเน้นไปที่รายละเอียดความสนใจด้านศิลปะของตัวเอกในเรื่อง เต็มไปด้วยศัพท์ทางด้านศิลปะ ภาพยนตร์ ที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชิน

ความทะเยอทะยานที่เห็นได้ชัดคงไม่พ้นการขยายขอบเขตให้ผลงานชิ้นนี้เป็นมากกว่าแค่นิยายเล่มหนึ่ง โดยมีการัดทำเป็นโครงงานต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวอักษรไว้ใช้เอง การจัดแสดงานศิลปะของตัวละครในเรื่อง และการดัดแปลงนิยายให้กลายเป็นละครเวทีเพื่อจัดแสดงทั้งในและนอกประเทศ

ตัวหนังสือเองนั้นก็ผ่านการออกแบบมาอย่างดีให้เข้ากับเนื้อหา ทั้งการนำเสนอภาพปก และภาพด้านในเป็นภาพวาดนามธรรม ตัวเล่มถูกออกแบบให้ต้องทำการแกะตามรอยปรุก่อนถึงจะเปิดอ่านได้ และจะพบเจตนาการเปิดเปลือยสันปกให้เห็นส่วนไสกาว ราวกับเป็นการเปิดเปลือยชีวิตของคนหนึ่งเช่นเดียวกับเนื้อหาอีโรติกของเรื่อง

ขณะเดียวกันแม้จะมีความเข้าถึงยากกว่าเจตนาก็ไม่ต่างกันในการเป็นเสมือนเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ทางสังคม-การเมืองของประเทศไทย

ในที่นี้ด้านหนึ่งเป็นการบันทึกเหตุการณ์ในวงการศิลปะของไทย ตามที่ ‘เขา’ ตัวเอกของเรื่องกับความหลงใหลในด้านศิลปะ จากเริ่มต้นที่ต่างจังหวัด ได้เดินทางเข้ามายงกรุงเทพฯ ร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ รูปแบบการทำงานและการหางานทำหลังเรียนจบ เหตุการณ์ประท้วงของสถาบันเมื่อถูกสื่อบางฉบับวิจารณ์ และกรอบบางอย่างจากอาจารย์ผู้สอนที่ส่งผลให้งานของนักศึกษาถูกทลายอัตลักษณ์ จนมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน ผ่านสายตาแบบคนนอกที่ตั้งคำถาม ต่อต้านสิ่งที่เห็นอยู่ลึกๆ ของผู้เล่า และทำให้เขามองหาความจริง ความงามของศิลปะที่ต่างออกไป

ผลดังกล่าวทำให้อีกด้านหนึ่ง ‘ร่างของปรารถนา’ ยังเป็นการบันทึกประวัติของสื่ออีโรติกที่เป็นเสมือนของต้องห้าม แอบอ่านกันลับๆ ตั้งแต่อดีต ที่ตัวเอกของเรื่องสนใจใฝ่รู้พร้อมๆ กับความสนใจและมีประสบการณ์ทางเพศหลากรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบสื่อเหล่านี้ทางวิดีโอไปจนถึงอินเทอร์เน็ต ที่ราวกับเป็นการค้นพบเสรีภาพครั้งใหม่ของตัวละคร และผู้คนในยุคสมัยนั้น

ผู้เขียนเจตนาใช้กลวิธีการเขียนบรรยายฉากสังวาส ภาษาที่หยาบคายเกี่ยวกับเครื่องเพศ เช่นเดียวกับนิยายอีโรติกที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบหนังสือโป๊ ไปจนถึงสื่อออนไลน์ ซึ่งถูกดูแคลนว่าเป็นวรรณกรรมพิมพ์ดีดที่ไม่มีคุณค่า

เมื่อใดก็ตามที่ผู้เขียนต้องการเร่งเร้าให้เห็นบทอีโรติกดังกล่าว หรือช่วงที่ต้องการขับเน้นอารมณ์ความรู้สึก แบบอักษรที่ถูกออกแบบเพื่อนิยายเรื่องนี้ก็ถูกนำมาใช้ในบทเหล่านั้น แบบอักษรที่ราวกับลายมืออันไม่คงที่ และหาความแน่นอนไม่ได้เช่นอารมณ์หวามไหวในใจคน

ความสนุกอีกประการคือการเขียนนิยายที่แอบอิงกับชีวประวัติตนเองของผู้เขียน เช่นเดียวกับ ลังแล, แก่งคอย หากใครติดตามผลงานของ อุทิศ เหมะมูล ก็จะพบรายละเอียดบางอย่างที่น่าจะมาจากประสบการณ์ชีวิตของเขา ไมว่าจะเป็นอาชีพกำกับศิลป์, นักวิจารณ์ภาพยนตร์, ความสนใจในคราฟต์เบียร์

หากเสรีภาพการเรียนรู้ทางเพศของตัวเอกจากจุดเริ่มต้นที่ศึกษาใคร่รู้จากสื่อลามกที่นำไปสู่ความเลื่อนไหลทางเพศจากความสัมพันธ์ชาย-หญิงแบบปกติ ก่อนจะพบว่าตนเป็นพวกรักสองเพศ แต่เหนืออื่นใด คือความหลงใหลในร่างกายตนเองที่มีมาแต่วัยเยาว์ ทั้งหมดชักนำให้เขาทดลองนำเรื่องเซ็กส์ผสมผสานไปกับงานศิลปะ ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมที่เกินกว่าจะคาดคิด…

อีกด้านหนึ่งตัวนิยายก็เป็นบทบันทึกการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่การแอบชอบหญิงสาวพาให้เด็กหนุ่มรู้จักโลกของการประท้วงและการเมืองเป็นครั้งแรก และวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553, การรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ซึ่งตัวเอกไม่ได้ประสบเพียงแค่ไปมีส่วนร่วมในการประท้วงตามจุดต่างๆ อย่างเดียว หากยังเล่าถึงผลกระทบในความขัดแย้งกับเพื่อนที่เห็นต่าง การถูกล่าแม่มดในโลกออนไลน์-โซเชียลมีเดีย

ร่างของปรารถนา มีความไม่ลงตัวและติดขัดในการอ่านอยู่บ้างทั้งการใส่แบบอักษรเข้ามาในช่วงที่ยังไม่ลงตัวเสียทีเดียวนัก ภาษาอันสวยงามในการอธิบายเรือนร่างที่ปะปนละเลงรวมกับคำหยาบ ประกอบกับบทสรุปปลายเปิดของเรื่องที่ไม่ได้ทรงพลัง ซึ่งอาจเพราะวิกฤตทางการเมืองของไทยยังไม่นิ่ง และยังไม่มีบทสรุปที่มองเห็นทางออกที่ชัดเจน

หากเมื่ออ่านจบก็ต้องชื่นชม อุทิศ เหมะมูล ในการนำเอาทั้งแวดวงศิลปะ การเมือง และสื่ออีโรติก มาหลอมรวมจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้ พร้อมการตั้งคำถามง่ายๆ แต่สำคัญว่า “เราเป็นใคร ?”(ซึ่งอาจรวมไปถึงว่าพวกเราเป็นใครกัน) ผ่านเรื่องเล่าของชายคนหนึ่งที่ตัวตนของเขาค่อยๆ ถูกทำให้แปรเปลี่ยนรวมถึงชื่อเรียกตนเองในสถาบันการศึกษา การเลือกฝักฝ่ายทางการเมือง การเรียนรู้ในศิลปะและประสบการณ์ทางเพศที่ล้วนนำไปสู่ภาวะไม่รู้จะก้าวเดินต่อไปทางไหน

ในสังคมไทยที่ช่วงชีวิตสามสิบปีของเขาต้องผ่านการรัฐประหารมาถึง 3 ครั้ง

ทางเลือกความรักครั้งใหม่ในชีวิตของตัวเอกในช่วงท้ายเรื่องนั้น นอกจากเป็นภาพซ้อนในความรักกับชายอีกคนในอดีตของ ‘เขา’ มันยังเป็นสัญลักษณ์แทนจุดเปลี่ยนทางสังคมไทย พร้อมคำถามที่น่าสนใจยิ่ง ว่าเราจะเลือกสิ่งใดระหว่างอุดมคติอันจับต้องไม่ได้ หรือความรักที่อยู่ตรงหน้านั้น ?


yuttipung

ยัติภังค์

อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีงานหลักเลี้ยงลูก มีความบันเทิงจากการดูหนังฟังเพลงเป็นยาใจพอให้ได้ขีด