วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
หากต้องเขียนเรื่องซ้ำกับที่คนอื่นเขียนไปแล้วจะทำอย่างไร
เป็นธรรมดามากที่นักสารคดีจะเจอปัญหานี้ เพราะเรื่องใหม่มีน้อยและหาได้ยาก การต้องทำเรื่องซ้ำกับที่มีคนทำแล้วไม่ต้องตกใจ ผู้เขียนใหม่มีทางเอาชนะได้ด้วย…
๑.กลเม็ดพื้นๆ คือเอาชนะด้วยความเป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะอย่างไรชิ้นที่ทำก่อนย่อมเป็นอดีตไปแล้ว ชิ้นที่เขียนใหม่ในวันนี้จึงได้เปรียบอยู่แล้วที่ความสด ทันการณ์ พยายามให้ภาพและใส่ความเป็นปัจจุบันเข้าไป ก็ย่อมเป็นที่สนใจของคนอ่านด้วยความสดใหม่
๒.สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ด้วยการต่อยอด งานที่คนอื่นเขียนไว้ก่อนนั้น–ดีเด่นอย่างไรก็ยิ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีแก่เราที่กำลังจะเขียน เพียงแต่เราต้องหาหยิบแง่มุมที่แตกต่างมาต่อเติม ให้คนอ่านได้สารประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าจากที่มีคนอื่นเขียนไว้แล้ว
๓.เอาชนะด้วยกลวิธีการนำเสนอ รูปธรรมของเรื่องนี้ดูได้จากเรื่อง “แม่นาคประโขนง” ตำนานรักข้ามภพภูมิที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากกว่า ๑๐ ครั้ง เป็นเรื่องที่คนไทยรู้เนื้อเรื่องกันดีอยู่แล้ว แต่เมื่อนนทรีย์ นิมิบุตร นำมาสร้างเป็นครั้งที่ ๑๐ กว่า หนังเรื่อง “นางนาก” ของเขาได้รับความนิยมท่วมท้น ทำรายได้ ๑๐๐ กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในยุคนั้นอย่างที่ไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนทำได้มาก่อน ไม่ใช่อื่นใด-ความสำเร็จครั้งนี้มาจากกลวิธีการเล่าเรื่องที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยฝีมือ ซึ่งลงตัวครบครันทั้งภาพ ฉาก ลำดับการเล่า และพลังของสารที่ใส่ไว้ในเนื้อหา และต่อมาเมื่อผู้กำกับหนังรุ่นใหม่นำมาสร้างอีกครั้งในชื่อ “พี่มากพระโขนง” เปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องไปอยู่ที่ฝ่ายผัว (พี่มาก) หนังเกิดแง่มุมใหม่ด้วยฝีมือผู้เล่า (ผู้กำกับ) เป็นที่ถูกใจผู้ชมทุกวัยตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ทำรายได้ถล่มทลายถึงหลักพันล้านบาท เป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุด ที่มาของความสำเร็จนี้ไม่ใช่อื่นใด-อยู่ที่ฝีมือในการสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่อง จากเรื่องราวที่คนดูรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่สามารถเล่าซ้ำได้อย่างจับใจผู้เสพ เป็นสิ่งสะท้อนและข้อยืนยันว่าการทำเรื่องเดิมซ้ำไม่ใช่ปัญหา สำคัญที่การสร้างสรรค์วิธีเล่าให้จับใจคนฟัง คนอ่าน หรือคนดูได้
มีตัวอย่างที่อยู่ในข่ายนี้ คราวทำสารคดีชีวิตเรื่อง “จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” เมื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลและลงพื้นที่แล้วพบว่าเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์ มีคนเขียนเล่าในรูปแบบสารคดีไว้เกิน ๑๐ ครั้งแล้ว คนเขียนทีหลังเลี่ยงยากที่จะไม่เล่าซ้ำ ก็คิดว่าหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะซ้ำในแง่เนื้อหา ก็ให้ต่างในแง่กลวิธีการเล่า
กล่าวกันว่าชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ มีการเกิดสองครั้ง ครั้งแรกในฐานะชายปัญญาชนผู้มีความรอบรู้หลากหลายด้าน มีแนวคิดจิตใจเพื่อผู้เสียเปรียบในสังคม มีอุดมการณ์แรงกล้า กระทั่งจบชีวิตลงในวัย ๓๖ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จนกระทั่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เกิดใหม่อีกครั้งในฐานะตำนาน ผลงานของเขาได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาจัดพิมพ์เผยแพร่ ชีวิตเขาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้รุ่นหลัง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายยกย่องเชิดชูเขา ผลงานที่เขาเขียนยังเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
จากข้อมูลนี้นำมาวางเป็นโครงเรื่องในแบบที่คาดหวังว่าจะเป็นการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำกับที่มีผู้เสนอเสนอแล้ว ด้วยการเอาแต่ละภาคของชีวิตมาแบ่งเป็นตอนย่อย เป็นโครงเรื่องได้ดังนี้
ภาคชีวิต (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๐๙)
1.เกิด (๒๔๗๓) / วันเด็กที่พระตะบอง / อพยพกลับไทย เรียนมัธยมวัดเบญฯ เข้า ม.จุฬาฯ (๒๔๙๒)
2.ทำหนังสือ มหาวิทยาลัย “แดง” / โดน “โยนบก” / รายละเอียดและการสอบสวน / ผลสืบเนื่อง ถูกป้ายสีคอมมิวนิสต์ / เรียนจบ
3.ช่วงปี ๒๕๐๐ บ้านเชิงสะพานเสาวณีย์ ใช้ชีวิตปรกติ เป็นอาจารย์ มศว. ม.ศิลปากร / เขียนบทความลง นสพ.
4.การรัฐประหาร ๒๕๐๑ ถูกจับติดคุก / แปลงาน แต่งเพลง ตั้งคอมมูน คอมมูนแตก
5.เดินทางเข้าป่า (๒๕๐๘) / ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๐๙
ภาคตำนาน (๒๕๑๖-ปัจจุบัน /๒๕๔๒)
๑.หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๐๐ ถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และงานเล่มอื่น ๆ ที่ถูกขุดค้นขึ้นมาพิมพ์ใหม่ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน (๒๕๑๖-๒๕๑๙)
๒.ปี ๒๕๑๗ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นวีรบุรุษในใจคนหนุ่มสาว / เช่นเดียวกับที่จิตรถือ หลู่ซิ่น เป็นวีรบุรุษ
๓.ปี ๒๕๑๘ พรรคคอมมิวนิสต์ในป่า ทางการ นักศึกษา ต่างยกย่องจิตร
๔.ป่าแตก กลางทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ปี ๒๕๔๒ งานจิตร ๓ เล่ม อยู่ใน ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน หนึ่งในนั้นมีที่มาน่าสนใจ (ความเป็นมาของคำสยามฯ)
๕.จบด้วยเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา
ตอนเขียนก็เล่าไปที่ละหัวข้อย่อย ร้อยเรียงเป็นเรื่องสลับกันไป (หัวข้อเลขไทยกับเลขอารบิก) ก็จะเป็นเรื่องเล่าแบบที่ไม่เรียบเรื่อยและไม่ซ้ำกับที่คนอื่นเขียนไว้ก่อนแล้ว
ทั้งนี้งานที่ดีจะได้มาก็ด้วยการศึกษาเรียนรู้จากแบบอย่าง สร้างสรรค์ ฝึกฝน ทำซ้ำๆ ค่อยๆ ต่อเติมการเติบโต
เพราะอย่างที่กล่าวแล้ว เส้นทางสายนี้ไม่มีทางลัด
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา