หนอนแก้วหนอนนวล : รายงาน
ฝ่ายภาพ สารคดี : ถ่ายภาพ
นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่นิตยสาร สารคดี ปรากฏสู่บรรณพิภพ จวบจน ๒๕ ปีผ่านไป นิตยสารฉบับนี้ยังคงทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ และเรื่องราวอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนเล็ก ๆ และบุคคลสำคัญ วิถีประเพณีและวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพืชพรรณ ตลอดจนปรากฏการณ์ทางสังคมเสมอมา
ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี นักเขียนและช่างภาพ สารคดี เดินทางไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เพื่อบันทึกสิ่งที่พบเห็นผ่านตัวอักษรกว่า ๑๐๐ ล้านตัว ผ่านฟิล์มขาวดำ สไลด์สี มาจนถึงดิจิทัลจำนวนนับแสนภาพ นอกจากการนำเสนอความจริงและความรู้ผ่านงานเขียนสารคดีแล้ว จุดเด่นหนึ่งที่ทำให้นิตยสาร สารคดี ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดคือภาพถ่ายสารคดีที่เล่าเรื่องราวและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี
ในโอกาส ๒๕ ปี สารคดี จึงมีแนวความคิดที่จะจัดแสดงภาพถ่ายสารคดีสู่สายตาสาธารณชน กันยายน ๒๕๕๒ จากสต็อกภาพนับแสนเฟรม คณะทำงานอันประกอบด้วย จำนงค์ ศรีนวล สกล เกษมพันธุ์ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ และ ศรัณย์ ทองปาน ได้ร่วมกันคัดสรรภาพถ่าย ๑๑๗ ภาพ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของภาพบันทึกประเทศไทยในวันเวลา ๒๕ ปีผ่านมา เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ “ภาพถ่ายสารคดี บันทึก ๒๕ ปีประเทศไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ระหว่างวันที่ ๖-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยพิธีเปิดมีขึ้นในวันที่ ๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา
บนระเบียงชั้น ๓ และ ๔ ของหอศิลปฯ จัดแสดงภาพถ่ายที่ตีพิมพ์ใน สารคดี ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ จนถึงปี ๒๕๕๒ ควบคู่ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยในช่วง ๒๕ ปีนั้น
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี กล่าวว่าภาพทั้งหมดนี้คัดเลือกจากมุมมองของคนทำสารคดี โดยต้องการบันทึกเหตุการณ์สำคัญนอกเหนือไปจากเรื่องสังคมการเมืองที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ รวมถึงสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม เช่น การต่อสู้ของคนเล็ก ๆ อย่าง พรพิศ เหมือนศรี หญิงชาวนาที่ยืนหยัดสู้เพื่อที่ดินทำกินของตัวเอง (๒๕๓๑) การค้นพบค้างคาวกิตติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก (๒๕๒๘) ชีวิตและความตายของ สืบ นาคะเสถียร (๒๕๓๓) ที่ปลุกกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างกว้างขวาง บันทึกชะตากรรมของพะยูน (๒๕๓๕) ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมไทยหันมาอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้อย่างจริงจัง เป็นต้น
ภาพถ่ายสารคดีเหล่านี้สะท้อนความเป็นไปในสังคมอย่างไร
สกล เกษมพันธุ์ บรรณาธิการภาพมองว่า “ภาพที่นำมาจัดแสดงนี้กำลังบอกว่าเหตุการณ์หรือสังคมในปีนั้นเป็นอย่างไร ขณะที่ สารคดี นำเสนอเรื่องอะไร ทำให้เห็นว่า สารคดี มีบทบาทในการชี้นำสังคมค่อนข้างมาก คือหลายเรื่องที่เรานำเสนอไป แล้วกว่าสังคมจะเคลื่อนไปถึงตรงนั้นมันใช้เวลาอีกหลายปี อย่างเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ สังคมในขณะนั้นก็ยังไม่ตระหนักว่ามันสำคัญ จนล่วงไปสัก ๕-๑๐ ปีกระแสอนุรักษ์เพิ่งตามมา หรือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สารคดี ก็กล้านำเสนอคนที่ใช้ชีวิตทวนกระแส ซึ่งตอนนั้นคนมองว่าพวกนี้มันบ้า”
วันชัยยกตัวอย่างให้เห็นว่า “หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ ที่ สารคดี นำเสนอชีวิตและแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเองของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ฉบับที่ ๑๕๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑) ทำให้วลีที่ว่า ‘เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’ กลับมามีความหมายอีกครั้ง และเป็นทางออกหนึ่งให้แก่สังคมไทยในช่วงเวลานั้น”
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร
ภาพซ้าย : พิชญ์ เยาว์ภิรมย์, ภาพขวา : สกล เกษมพันธุ์
ข้างหลังภาพถ่ายสารคดี
นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้แตกต่างจากนิทรรศการภาพถ่ายทั่วไปตรงที่ว่า “แต่ละภาพมันมีเรื่องราวอยู่ข้างหลัง คือมันไม่ได้สวยโดยองค์ประกอบศิลป์ แต่ว่ามันมีเรื่องราวของมัน และเวลาที่มันไปอยู่รวมกันจะสังเกตเห็นอย่างหนึ่ง นั่นคือความหลากหลาย ทั้งในแง่ประเด็นการนำเสนอและเทคนิคที่ใช้เพื่อจะเล่าเรื่องให้ตรงประเด็นมากที่สุด มีตั้งแต่โคลสอัป ผสมไฟ จัดแสง เซตฉาก จนกระทั่งแนวภาพข่าว” สกลฉายภาพให้เห็น
ทั้งนี้ ภาพถ่ายที่จัดแสดงอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือภาพแคนดิด (การถ่ายภาพทีเผลอ) และภาพที่มีการวางแผนการทำงาน
ภาพประเภทแรกอาศัยฝีมือ จังหวะ และมุมมองของช่างภาพ ที่อาจกล่าวได้ว่า “แสดงกำลังภายในของผู้ถ่ายภาพ” ยกตัวอย่างภาพแหม่มเลียวนี่กับลูกลิงกัง (ถ่ายภาพโดย พิชญ์ เยาว์ภิรมย์) ซึ่งสกลเห็นว่า “ภาพนี้ทั้งโครงสี-แสงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ขณะเดียวกันด้านองค์ประกอบ มุมที่แหม่มมองลงมาสายตาประสานกับแววตาลูกลิง และจุดที่เด่นมากคือเรื่องขนาด แขนแหม่มกับลิงที่ตัวเล็กมาก รูปนี้ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา อารมณ์ และองค์ประกอบภาพ
“ส่วนตัวเราเชื่อว่าภาพถ่ายสะท้อนตัวตนคนถ่ายภาพว่าลึก ๆ เขาเป็นคนยังไง อย่างภาพหนูทดลอง ที่จริงเป็นกึ่ง ๆ ภาพถ่ายวิทยาศาสตร์ แต่ว่าวิธีถ่ายภาพของต้อง (ชัยชนะ จารุวรรณากร) เขาเอาเซนส์เรื่องความเป็นมนุษย์กับสัตว์เข้ามาจับ ภาพหนูที่ถูกขึงพืดด้วยเข็มหมุด เขาถ่ายโคลสอัปให้เห็นแววตาของมัน ในขณะที่บางคนอาจจะเลือกถ่ายมุมสูง มันก็สื่อสารออกมาต่างกัน แล้วก็แสดงแนวคิดของช่างภาพคนนั้นออกมา”
ขณะที่ภาพประเภทหลังต้องผ่านกระบวนการคิดและวางแผนเป็นทีม เป้าหมายก็เพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่สื่อสารเรื่องนั้น ๆ ได้สมบูรณ์ที่สุด ยกตัวอย่างภาพการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์