วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


การบรรยายรายวิชาสารคดี ที่ห้อง ๕๐๓ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถือเป็นห้องบรรยายปราบเซียน-ในความรู้สึกของผม

ด้วยเป็นห้องใหญ่ทั้งชั้นปีจำนวนหลายร้อยคน, ช่วงเวลายาวนานถึง ๓ ชั่วโมงเต็ม, และคนฟังก็อาจมาตามหน้าที่ ไม่ใช่แบบซื้อตั๋วเข้าโรงหนัง แม้ว่าที่นั่งและเวทีถูกออกแบบดูคล้ายโรงหนัง อย่างน่าเอื้ออำนวยให้กับการรับความบันเทิงและความรู้

แต่ว่าตามจริงการต้องมานั่งฟังใครพูดเป็น ๓ ชั่วโมง คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกแน่ คนพูดเองก็คงไม่สนุกหรอก เพราะสูตรการเขียนสารคดีอย่างลัดสั้น เรียนกันจบใน ๘ นาทีเท่านั้น

อีกทั้งการฟังบรรยายโดยทั่วไป แม้คนพูดจะเก่งกาจรอบรู้เพียงใดก็ตาม สิ่งที่เขาถ่ายทอดก็เป็นได้แค่ “ความรู้มือสอง”-เมื่อถึงมือผู้ฟัง ต่อเมื่อเขาได้ลองลงมือทำด้วยตัวเองนั่นแหละ จึงจะถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้มือหนึ่งของตนเอง

เวลา ๓ ชั่วโมง จึงกลายเป็นสั้นสำหรับการฝึกปฏิบัติการของผู้เข้าร่วมนับร้อย เวลาน้อยไปที่จะนำเสนองานได้ครบถ้วน ต้องนำกลับมาอ่านและสื่อสารกันต่อผ่านทางออนไลน์ จากโจทย์ง่ายๆ ที่ว่าด้วยการอ่านการเขียน

อ่าน-งานสารคดีขนาดสั้น ๒-๓ หน้า จับใจความออกมาเล่าให้ได้ นี้ถือเป็นฐานเบื้องต้นที่สุดของนักสารคดี ที่ว่าด้วยการฝึกเก็บข้อมูล-อ้างอิง และบอกให้ได้ว่าเห็นอะไรจากเรื่องที่อ่าน-ในแง่กลวิธีการเขียน

เขียน-ในห้องบรรยายไม่มีเวลาให้ออกไปสัมผัสพื้นที่ ก็ซ้อมมือกันผ่านภาพถ่าย ฝึกสังเกตการณ์และการบรรยาย

ทั้งซีกฝึกอ่านและฝึกเขียนมีจำนวนกลุ่มฝ่ายละเกือบ ๒๐ กลุ่ม เวลาในห้องบรรยายมีไม่พอให้นำเสนองานได้ทั่วถึง จึงขอนำบางชิ้นงานมานำเสนอต่อในที่นี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเนื่องในฐานะตัวอย่างแบบฝึกหัด สำหรับนักหัดเขียนใหม่ทั้งหลายได้ดูกันต่อ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานเขียน

แบบอย่างการบรรยายฉาก

หมู่บ้าน…ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า ท่ามกลางลมหนาว และใบไม้ที่ร่วงโรยลงไปแล้ว
ไม่มีเสียงหวีดหวิวของใบไม้
บรรยากาศแห่งความอ้างว้าง ลอยคว้างอยู่รอบตัว
หมู่เมฆสีเทา ตัดกับท้องนภาสีฟ้าคราม กำลังโอบล้อมเราเอาไว้
สิ่งปลูกสร้างมากมาย ยังคงยึดตัวเองไว้ราวกับไม้ใหญ่
เสมือนไม้ไร้ใบที่หยั่งรากลงกับผืนดิน ณ ที่นี้

สีขาว ของบ้านเรือน มิได้ถูกกลืนกินโดยหมู่เมฆไปเสียทั้งหมด
สีเขียว ของใบไม้บางส่วนที่ยังหลงเหลือ คอยสอดแทรกสลับกับสีฟ้า ของท้องนภา
สีน้ำตาล ของกิ่งก้านสาขาบนไม้ไร้ใบ ทำให้เราหวนคำนึงถึงการเจริญเติบโตของหมู่บ้านที่สูญผู้คนของมันไปแล้ว

เศษซากแห่งอดีตยังชวนให้เราหวนคิดคำนึงถึงความสุขสงบ
ช่องว่างที่หน้าต่างแสดงการรับรู้ต่อโลกภายนอก
แต่ผนังต่าง ๆ กลับซ่อนเร้นความรู้สึกเอาไว้

แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะร้างผู้คน
แต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้กลับเต็มไปด้วยชุมชน…ของมันเอง

การบรรยายลักษณะตัวละคร (แหล่งข้อมูล) ที่มีหลักเบื้องต้นง่ายๆ ว่า ให้คนอ่านที่ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักใครคนนั้น อ่านแล้วพอมองเห็นเค้ารูปร่างหน้าตา

นักบวชไม่ระบุศาสนาสวมสูททับชุดพื้นเมืองสีสด ห้อยลูกประคําเต็มคอ หนวดเคราและผมสีดอกเลาล้อมกรอบหน้า เผยให้เห็นเพียงดวงตาอันเหนื่อยล้าและร่องรอยแห่งกาลเวลาที่พาดผ่านหน้าผาก หางตาและร่องแก้ม อาจไม่คุ้นเคยนักสําหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักบวชในวัยสันยาสีที่ควรจะละทางโลกกลับมายืนหน้าคูหาเลือกตั้ง

แม้แววตาของเขาจะดูเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล แต่ยังคงสะท้อนความมุ่งมั่นในอุดมการณ์อยู่เต็มเปี่ยม


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา