ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง / ภาพ : พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์

ฤดูร้อนปีนี้ อากาศเช้าที่ทองผาภูมิยังเย็นสบาย

อาจเพราะเป็นอำเภอที่ห้อมล้อมด้วยภูเขาน้อยใหญ่ อุณหภูมิยามเช้าจึงต่ำกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส ชวนให้แพทย์เวรประจำวันหยุดอยากอ้อยอิ่งอยู่บนเตียง ถ้าไม่ถูกปลุกด้วยเสียงกระตือรือร้นจากพยาบาล

“หมอคะ ยาย CA lung ที่ไม่ใส่ tube หอบมาก วัด Sat เหลือแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์”

เธอใช้ศัพท์เฉพาะทางรายงานสภาพผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

การที่ผู้ป่วยเลือกไม่ใส่ “tube” แปลว่า คนไข้ปฏิเสธการใส่ท่อพลาสติกจากปากไปถึงหลอดลมเพื่อช่วยหายใจทั้งๆ ที่ตอนนี้ระดับออกซิเจนปลายนิ้วลดต่ำลงเหลือเพียง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนทั่วไปควรมีค่าเกินกว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์

เราควรจะได้พบกันตั้งนานแล้ว แต่ผู้ป่วยเพิ่งยอมรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อวานก่อน

เนื่องจากนอนราบไม่ได้ ต้องคอยลุกตลอดเวลาเพราะหอบจนเหนื่อย ครั้นเอ็กซเรย์แล้วพบภาวะน้ำท่วมปอดถึงจำยอมเปลี่ยนที่นอนเป็นโรงพยาบาล

ลูกสาวเพียงคนเดียวขอร้องไม่ให้หมอบอกผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

แม้การนอนโรงพยาบาลครั้งนี้อาจเป็นวาระสุดท้ายของคุณยายแล้วก็ตาม

“ให้แกรับรู้ว่าเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตจะได้ตระเตรียมธุระให้เสร็จก็ดีนะคะ”

ฉันเสนอทางเลือก ขณะชวนลูกสาวเดินออกจากห้องฉุกเฉินเพื่อเลี่ยงรังสีเอ็กซเรย์

คู่สนทนายิ้มจาง แววตาเศร้า เธอว่าชีวิตของยายก็มีเพียงลูกสาวคนนี้ที่ยังเป็นห่วง

นึกถึงคำพูดของลูกสาวคุณยายเมื่อวานก่อนแล้วรู้สึกหดหู่ใจ

ฉันล้างหน้าล้างตาแล้วรีบไปตรวจอาการผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยใน ตัวอาคารตั้งอยู่บนเนินเขา มองผ่านตึกไปจะเห็นภูเขาลูกตระหง่านที่เคยเป็นสีเขียวเข้มตัดฟ้าใสกลายเป็นภาพลางเลือน ยิ่งสภาพอากาศวันนี้มีหมอกควันหนาตัวผิดปรกติก็ยิ่งรู้สึกใจคอไม่ดี

ฤดูกาลแบบนี้ ชาวภูเขาละแวกนี้รู้กันว่าเป็น “ฤดูของลิงเผาข้าวหลาม”

ยามค่ำคืนจะเห็นลำไฟพาดภูเขาตั้งแต่บนลงล่าง อากาศจึงเจือไปด้วยหมอกและควัน ทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดแสดงอาการกำเริบจนต้องมาหาหมอและนอนโรงพยาบาลไม่เว้นวัน

เช่นเดียวคุณยายท่านนี้ที่กำลังหอบโยนเต็มที ทั้งที่ในช่วงแรกคนไข้ตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะเพื่อไล่น้ำออกจากช่องปอด ทำให้อาการหอบทุเลาลงแล้วอย่างชัดเจน แต่กลับมาหอบอีกครั้ง สันนิษฐานว่าสภาพอากาศเลวร้ายจากภาวะฟ้าหลัวก็มีส่วน ขนาดคนปรกติอย่างฉันยังรู้สึกหายใจลำบาก ประสาอะไรกับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อร้ายร่วมกับน้ำท่วมปอด แทบไม่ต่างจากคนกำลังจมน้ำที่หาทางกลับฝั่งไม่เจอ

ค่าออกซิเจนของคุณยายที่จับจากปลายนิ้วต่ำกว่าค่าปรกติ อันที่จริงฉันต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อลดการใช้พละกำลังกระบังลมแล้ว

แต่ลูกสาวของเธอยืนยัน ไม่ขอต่อลมหายใจให้แม่ด้วยท่อช่วยหายใจอีก

ไม่อยากยื้อเวลาช่วงสุดท้ายของแม่ให้มีชีวิตอย่างทรมานมากไปกว่าเดิม

“ไม่ต้องให้อะไรแกอีกแล้วนะคะหมอ กำลังนิมนต์พระมาสวดให้แม่”

ฉันยังไม่ทันบอกอาการความดันโลหิตที่เริ่มตกลงด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนคงไม่ต้องบอกอะไรแล้ว

เธอเลือกวิธีบอกลาแม่ผู้แก่เฒ่าที่กำลังเหนื่อยหอบเต็มทีให้จากไปอย่างสบายที่สุดโดยโอบกอดแม่จากด้านหลัง บีบมือเหี่ยวย่นนั้นเบาๆ ขณะกระซิบบทสวดมนต์ข้างหูไม่ขาดระยะ

บ่อยครั้งที่ชาวบ้านเป็นผู้เสนอแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้หมอ

การบำบัดโรคร้ายอาจไม่สำคัญเท่าเยียวยาหัวใจ ทำช่วงสุดท้ายของชีวิตให้เป็นเวลาดีที่สุด

ก่อนออกเวรฉันแวะตรวจคนไข้อีกครั้ง ทันเห็นลูกสาวบรรจงหอมแก้มขณะพูดกับหญิงชรา

“แม่ไม่ต้องห่วงอะไรอีกแล้วนะ”


แพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑

…….

สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน